รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
แบดมินตันโอลิมปิก
โอลิมปิก 2016...ปิดฉากงานโชว์ของ"ซุปตาร์"แบดมินตัน
แบ่งปัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 9 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันแบดมินตันโอลิมปิก 3 ครั้งคือ 2008 ที่ปักกิ่ง 2012 ที่ลอนดอน และ 2016 ที่ริโอ ...ซึ่งเพิ่งจบเมื่อคืน นักแบดระดับ"ซุปตาร์"ที่เข้าร่วมแทบจะเป็น"คนหน้าเดิม" และทันที่จบการแข่งขันเมื่อคืน ก็ปิดฉากงานแสดงบนคอร์ตเขียวของพวกเขาหลายคน โตเกียว 2020 จะเป็นเรื่องของ"ซุปตาร์"หน้าใหม่วงการแบดมินตัน หลังจากการแข่งขันผ่านมาแต่ละรอบ..ซุปตาร์หลายคนก็ประกาศว่าจะเลิกเล่นทีมชาติ โดยเฉพาะ 2 คิง ที่จบแบบสร้างความทรงจำสวยงามไว้ในโลกแบดมินตันมากมาย
 
 
 
 
Lin Dan ซุปตาร์หมายเลข 1 จากจีน แชมป์ 2 สมัยในปี 2008 และ 2012 จบคราวนี้แค่อันดับ 4
Lee Chong Wei ราชาคอร์ตเขียวจากมาเลย์ ปิดฉากความยิ่งใหญ่ในวงการแบดมินตันของเขาด้วยการถูกบันทึกว่าเป็น"รองแชมป์"ได้เหรียญเงินทั้ง 3 สมัย เป็น"ราชา"ที่"ไร้มงกุฎ"จนได้

Wang Yihan ก็ประกาศอำลาทีมชาติทันทีที่ตกรอบ Quarterfinals หลังแพ้ P. V. Sindhu อย่างน่าเสียดาย 20-22 และ 19-21

Zhao Yunlei เจ้าของ 2 เหรียญทองประเภทหญิงคู่และคู่ผสมที่ลอนดอน ก็ประกาศอำลาทีมชาติ พร้อมข่าวเศร้าเลิกรากับ Zhang Nan แชมป์คู่ผสมมากรายการ

Lee Yong-dae แชมป์คู่ผสมจากเกาหลีเมื่อปี 2008 และเหรียญทองแดงที่ลอนดอน ก็ประกาศอำลาทีมชาติทันทีที่ตกรอบ Quarterfinals ครั้งนี้ เพราะถูกคาดหวังมาก ...ประมาณว่า เขาโดน"นักเลงคีย์บอร์ด"ในเกาหลีถล่มจนถอดใจรับใช้ชาติอีกต่อไป
 
 
 
 
นอกจากนั้น บรรดา"คุณลุง-คุณป้า"จากเดนมาร์ค อย่าง Mathias Boe และ Carsten Mogensen เจ้าของเหรียญเงินชายคู่ที่ลอนดอน หรือ Christinna Pedersen กับ Kamilla Rytter Juhl เหรียญเงินหญิงคู่ครั้งนี้..ก็คงต้องให้เด็กๆขึ้นมารับใช้ชาติแทน

รวมทั้ง"ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์ พลสนะ ที่เข้าร่วมโอลิมปิกถึง 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2000 /2004 / 2008 /2012 และ 2016 ก็ต้องหลีกทางให้รุ่นน้องขึ้นมาทำหน้าที่

อีก 4 ปี แบดมินตันจะเปลี่ยนโฉมหน้าแน่นอน !!
แน่นอนว่า ไม่มี"สงคราม"ระหว่าง"หลินกับลี"ใหดูอีกแล้ว ไม่มีนักตบสาวจากจีนให้คู่แข่งเกรงขามต่อไป แต่ในโตเกียว 2020 โลกแบดมินตันก็จะยังมี Carolina Marín  / P. V. Sindhu และ Nozomi Okuhara เจ้าของเหรียญรางวัลหญิงเดี่ยวครั้งนี้ ยังมี Viktor Axelsen เจ้าของเหรียญทองแดงชายเดี่ยวครั้งนี้
 
 

พร้อมกับการขึ้นมาของนักแบดเยาวชนจากทุกมุมโลก เพราะนี่คือกีฬาที่ขยายตัวมากที่สุดของโลก หลายประเทศ รวมทั้งบราซิล ที่เริ่มนับหนึ่งกีฬานี้จากโอลิมปิกครั้งนี้

สำหรับ"ประเทศไทย" นี่ก็เป็นการบ้านใหญ่ 4 ปี อาจจะเร็วเกินไปที่จะปั้นนักแบดมือใหม่ แต่ไม่ช้าเกินไป หากจะลงมือสร้างนักแบดขึ้นมา อยู่ที่จะทำ (ได้จริง) หรือไม่เท่านั้น (Chai seehoo)

แหล่งที่มาของภาพ : FB : Prathom Rojwanachai
https://www.facebook.com/prathom.rojwanachai?fref=ts