รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
แบดมินตันโอลิมปิก
สปอนเซอร์มือ 2 ..ทางแก้ปัญหาแบดไทย
แบ่งปัน
ความจริงเรื่อง"สปอนเซอร์"สำหรับวงการกีฬา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก
"ปัญหา"ของไทยอย่างที่เขียนถึงในตอนแรก นั่นคือ ทั้งๆที่การแข่งขันแบดมินตันของสหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับบลิวเอฟ) มีหลากหลายระดับแต่ระดับ จูเนียร์ ฟิวเจอร์ ซีรีส์ , ฟิวเจอร์ ซีรีส์ , อินเตอร์เนชั่นแนล ซีรีส์ , กรังด์ปรีซ์ , กรังด์ปรีซ์โกลด์ , ซูเปอร์ซีรีส์ จนถึงซูเปอร์ซีรีส์พรีเมียร์ แต่น่าเสียดายที่ทีมแบดมินตันไทยแทบจะไม่มีโอกาสไปร่วมแข่งขัน ถ้าไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์ระดับ กรังด์ปรีซ์ , กรังด์ปรีซ์โกลด์ .ซูเปอร์ซีรีส์ จนถึงซูเปอร์ซีรีส์พรีเมียร์ จะไม่ได้ไปโดยเหตุผลอะไร "คนวงใน"ย่อมรู้ดีกว่า"คนวงนอก"แน่นอน
 


"สมพล คูเกษมกิจ"
หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอนทีมแบดมินตันไทยในริโอเกมส์ 2016 ยอมรับว่าไทยทำผลงานได้ตกต่ำ และระบุว่าอนาคตน่าเป็นห่วง เพราะไทยไม่มีนักกีฬาไปแข่งระดับล่างๆที่เดินทางไปแข่งขันเก็บคะแนนและสร้างประสบการณ์ โดยยกตัวอย่าง"อินโดนีเซีย"กับ"ญี่ปุ่น" ที่ส่งไปแข่งรายการระดับล่างรายการละ 30-40 คน

ถามว่าทำไมสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ไม่สนใจส่งไปแข่งขัน
คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่า"ไม่มีเงิน" เพราะ"สปอนเซอร์หลัก" ของนักแบดไทยคือ"เอสซีจี" ได้กำหนดไว้ว่า นักกีฬาที่จะสนับสนุนส่งไปแข่งขัน หากเป็นนักแบดมินตันประเภทเดี่ยว ก็ต้องติดอันดับ 1-30 ส่วนประเภทคู่ ก็ต้องติดอันดับ 1-20 หรืองานทีมชาติเช่น โทมัสคัพ อูเบอร์คัพ ชิงแชมป์เอเชีย ชิงแชมป์โลก เป็นต้น

ถ้ายังยึดกฎเกณฑ์ตามนั้น ชายเดี่ยวไทย จากการจัดอันดับล่าสุด ประจำสัปดาห์นี้ (18ส.ค.2016) จะมีเพียง ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข อันดับ 24 และบุญศักดิ์ พลสนะ อันดับ 30 ถัดมาก็เป็นโฆษิต เพชรประดับ อยู่อันดับ 78 นึกออกไหม ถ้าไม่ได้ไปแข่ง...จะเอาคะแนนที่ไหนมาขยับแร้งกิ้ง หรือแม้กระทั่งพัฒนาฝีมือ ขนาด"อดุลรัตน์ นามกูล" ที่เป็นอนาคต ยังแทบไม่ได้ไปแข่งที่ไหน อันดับโลกไปอยู่ 239 โน่น และมองไม่เห็นเลยว่าจะได้ไปแข่งรายการอะไรเพื่อพัฒนาฝีมือและชยับอันดับโลก ถ้ายังยึดติดกับสปอนเซอร์หลัก การไม่ออกไปแข่งขันก็เหมือนนักเรียนอ่านหนังสือ ไม่มีการสอบวัดผล เลยไม่รู้ว่าเก่งหรือไม่เก่ง สอบได้หรือสอบตก

ประเภทหญิงเดี่ยวยังดีที่ทั้ง 4 สาวติดอยู่ใน 30 อันดับแรก ตั้งแต่เมย์ รัชนก อินทนนท์ อันดับ 4 พีซ พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข อันดับ 16 ครีม บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธ์ อันดับ 18 และแน๊ต ณิชชาอร จินดาพล อันดับ 21 ขณะที่หมิว พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ อยู่อันดับ 47
 


ลองนึกว่าถ้าไม่ทำอะไร ไม่คิดจะส่งมือใหม่ไปแข่ง นักแบดไทยจะอยู่แค่นี้กันอีกนานใช่ไหม
ในเมื่อ"เอสซีจี" เขาสนับสนุนตามกฎนั้น ก็เป็นเรื่องที่"สมาคมแบดฯ"ของไทย จะต้องหาทางออก นั่นคือหา"สปอนเซอร์มือ2"มาช่วยในการ"ส่งออก"นักแบดไทยไปสู่คอร์ดทั่วโลก โดยเฉพาะนักแบดประเภทเดี่ยวที่อันดับเกิน 30 และนักแบดคู่ที่อันดับเกิน 20

อย่าลืมว่าแม้จะยังเป็น (กึ่ง) สมัครเล่น แต่นักแบดมินตันทุกคน (ทั่วโลก) ก็ต้องการรายได้
ซึ่งเรื่อง"รายได้" อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะเมื่อปี 2552-2553 ยุค"เจริญ วรรธนะสิน" เป็นนายกสมาคมแบดฯ ทีมชาติไทยถึงขั้น"แพแตก"มาแล้ว กับการหา"สปอนเซอร์"ระหว่างนักแบดกับสมาคม จนถึงขั้นนักแบดทีมชาติเก็บข้าวของออกจากสมาคมฯไปซ้อมกันเอง

นี่จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและท้าทายนายกฯสมาคมยุคนี้ว่าจะหาสปอนเซอร์มาได้แค่ไหน
เพราะในความจริง ยังมี"ช่องทาง"สำหรับการ"หาเงิน"ที่จะส่งนักแบดไปแข่งต่างประเทศได้ ด้วยการหา"สปอนเซอร์มือ2"มาช่วยหนุน เพราะในระเบียบของสหพันธ์แบดมินตันโลก เรายังสามารถหา"สปอนเซอร์"มาติดที่เสื้อได้ เพราะใน ข้อที่ 23 ว่าด้วยการโฆษณาบนเสื้อผ้าของผู้เล่น ยังมี"ช่องทาง"ให้เราหา"สปอนเซอร์มือ2"มาสนับสนุนทีมแบดไทย

ใน 23.2.1 ระบุว่า "ตำแหน่งที่อนุญาตให้ติดโฆษณา ประกอบด้วย แขนเสื้อด้านขวา - ซ้าย, ไหล่ซ้าย - ไหล่ขวา, ปกซ้าย - ขวา, หน้าอกขวา - ซ้าย และตรงกลาง โดยโฆษณาแต่ละจุด จะต้องมีขนาดไม่เกิน 20 ตารางเซนติเมตร ที่สำคัญคือบนเสื้อของนักแบดมินตัน จะมีได้ไม่เกิน 5 โฆษณา หรือ 5 ตำแหน่ง และในจำนวนนี้ ธงชาติหรือเครื่องหมายการค้า นับเป็นโฆษณาด้วย"
 


ที่มาเลเซีย ก็มีข่าวว่าจะมีภาคเอกชนมาสนับสนุนแทน"เมย์แบงก์"ที่กำลังจะหมดสัญญา หรือแม้กระทั่งจีน ที่มีอุปกรณ์แบดมินตันสัญชาติอื่นมาเสนอเงินสนับสนุนให้ทีมชาติจีนมากขึ้น และพร้อมที่จะเป็น"สปอนเซอร์รอง" หากทีมชาติจีนยังต้องใช้สินค้าจีนต่อไป

นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าอีก 4 ปี ในโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น ไทยจะมีนักแบดไปแข่งกี่คน หาก"สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ" ยังไม่คิดหาทางแก้
หรือไม่มองว่านี่คือปัญหา !!!

(ดอกปีกไก่)
Credit Photo BADMINTON PHOTO