|
|
อยากให้แนะนำตัวและประวัติส่วนตัวกันก่อนนะครับ
สวัสดีครับ
> ผมชื่อ รชต จันดาวรรณ ชื่อเล่นดราฟท์ ครับ
ประวัติส่วนตัวเกี่ยวกับแบดมินตัน
> อดีตนักแบดมินตันชายเดี่ยวมือวาง 5 ของประเทศไทยครับ
จบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านโค้ช และจิตวิทยาการกีฬา
> คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันเป็นประธานสโมสร และ หัวหน้าผู้ฝึกสอนของ
> สโมสรแบดมินตัน New Athlete ครับ |
จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ จริงๆแล้วก็สามารถไปทำงานอย่างอื่นข้างนอกได้ แล้วเพราะเหตุอะไรทำไมถึงเลือกที่จะทำทีมแบดมินตันเป็นของตัวเองครับ
ผมชอบกีฬาแบดมินตัน และอยากเห็นน้องๆมีอนาคตที่ดีกว่าที่ผมเคยทำได้ก็เลยมาทำอาชีพเป็นผู้ฝึกสอน และที่มาทำสโมสรของตัวเองเพราะว่าการที่เราเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของ เราสามารถสร้างและกำหนดวางแผนการฝึกซ้อม วางแผนการแข่งขันไปในทิศทางที่เรากำหนดได้เอง
ผมคิดว่าจากการที่ผมเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และ การที่เป็นนักกีฬาแบดมินตันทำให้ผมได้เข้าใจในการฝึกซ้อมแต่ละอย่างได้ดีและจะสามารถฝึกและพัฒนาน้องๆ ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ทีม New Athlete มีความหมายและความเป็นตัวตนของทีมอย่างไรบ้างครับ
New Athlete หมายถึง นักกีฬารุ่นใหม่การฝึกซ้อม - การวางแผนสู่การแข่งขัน และ ทัศนคติต่อแบดมินตันรูปแบบใหม่
วิธีกระตุ้นจูงใจนักกีฬาโดยผมอาศัยประสบการณ์ในวงการแบดมินตันทั้งดีและไม่ดีตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของตัวผมเอง โดยเอาข้อดีต่างๆมาพัฒนา รวมถึงการนำข้อเสียต่างๆมาแก้ไขจนกลายมาเป็นรูปแบบการฝึกซ้อม และ เส้นทางสำหรับแบดมินตันรูปแบบใหม่ที่ผมคิดว่าจะสามารถพัฒนาน้องๆได้เร็วกว่ายั้งยืนกว่าและดีกว่าตอนที่ตัวผมยังเป็นนักกีฬา ทั้งหมดนี้คือที่มาของการก่อตั้งสโมสรแบดมินตันที่ชื่อว่า New Athlete ครับ
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำทีมละครับ
จุดเริ่มต้นที่ผมก่อตั้งสโมสรแบดมินตัน New Athlete คือเมื่อก่อนตอนผมยังเด็กตอนที่ยังเป็นนักกีฬาอยู่ผมมักได้ยินคำพูดที่ว่าซ้อมแบดไปโตขึ้นมาจะทำอะไรกิน เอาเวลาที่ซ้อมแบดไปเรียนหนังสือเพื่อทำงานดีกว่ามั้ย เด็กๆบางคนมีฝีมือแต่อนาคตเริ่มตันเพราะ
- ต้องแบ่งเวลาส่วนนึงไปเรียนบ้าง
- ไม่สามารถพัฒนาฝีมือตัวเองไปมากกว่านี้ได้ เพราะเนื่องจาก สไตล์การเล่น
- บางคนเมื่อเรียนจบแล้วไม่สามารถซ้อมแบดต่อได้เพราะต้องทำงานและไม่มีลู่ทางที่เรียกว่านักกีฬาอาชีพสำหรับกีฬาแบดมินตันให้แก่พวกเค้าต่อ ซึ่งตัวผมได้เผชิญอุปสรรคต่างๆเหล่านี้มาหมดแล้วหลังจากที่ผมตัดสินใจเลิกการเป็นนักกีฬา ผมมีความคิดว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่าน่าจะสามารถแก้ไขให้กับน้องๆรุ่นหลังๆได้ทั้งปัญหาในเรื่อง สไตล์ หรือกลยุทธิ์ในการเล่น, ปัญหาเรื่องรายได้ของนักกีฬาอาชีพ, ช่องทางในสายนักกีฬาอาชีพซึ่งปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้นจึงเป็นเหตุของที่มาในการเริ่มตั้งทีมขึ้นครับ
|
|
|
ตอนนี้เราผู้ฝึกสอนที่มีทีมของเราเองมันมีความรู้สึกแตกต่างกับตอนที่ตัวเราเป็นนักกีฬาอย่างไรบ้างครับ
ตอนนี้ผมเป็นผู้ฝึกสอนแล้วผู้รู้สึกว่ามันเป็นการต่อสู้ที่เหมือนกันกับการเป็นนักกีฬา แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายเราสิ่งใหม่ๆ ที่เราจะต้องรับมือกับมัน สิ่งที่เพิ่มขึ้นและไม่เหมือนกับตอนที่เป็นนักกีฬาก็คือความรับผิดชอบหลายอย่างเราต้องวางแผนทุกเรื่อง เราไม่สามารถใช่คำว่าสอนดีอย่างเดียวก็พอเราต้องคำนึงถึงสอนยังไงให้เด็กอยากเรียนอยากซ้อมด้วยต้องเข้าใจเด็กด้วย แค่เด็กยังไม่พอต้องอธิบายให้ผู้ปกครองฟังได้ด้วยว่าทำไมถึงสอนแบบนี้ เพราะอะไร เพื่ออะไร และยังต้องอธิบายแผนงาน โปรแกรมการฝึกซ้อม โปรแกรมการแข่งขัน ทีมงานโค้ชเข้าใจและปฎิบัติงานไปในทิศทางทางเดียวกับอีกด้วย การที่เรามีทีมของเราเองนั้นเราต้องดูแลทุกเรื่องเลย ไม่เหมือนกับตอนทีเรายังเป็นนักกีฬา นักกีฬามีหน้าที่แค่ตั้งใจฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่โค้ชบอก ใช้ความพยาม ความอดทนเพื่อตัวเอง และ ดูแลตัวเอง แต่โค้ชต้องดูแล เอาใจใส่ทุกคน นักกีฬาผลงานไม่ดีทุกอย่างตกอยู่ที่โค้ช โค้ชมีหน้าที่ ๆ จะต้องพัฒนานักกีฬาให้ได้
เราเป็นสโมสรน้องใหม่รู้สึกกดดันอย่างไรบ้างไหมที่จะต้องสู้กับสโมสรอื่นๆที่มีประสบการณ์การทำทีมและส่งแข่งที่ยาวนานกว่า
ผมในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน รู้สึกกดดันเป็นอย่างมากเพราะเวลามีน้องๆนักกีฬาย้ายมากจากที่อื่น ซึ่งเป็นสโมสรใหญ่ในช่วงแรกๆเลยเค้าอาจจะยังเชื่อถือที่ผม ยังไม่มั่นใจในตัวผมว่าจะพัฒนาลูกเค้าได้มั้ย อาจจะเพราะผมยังอายุน้อย และ ทีมยังก่อตั้งมาได้ไม่นาน และผมต้องตอบคำถามของผู้ปกครองซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญมาก ซึ่งมันเหมือนเป็นคำถามที่กดดันเรา และ ในทางกลับกันมันก็เป็นคำถามที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกัน อย่างคำถามที่ถามผมว่า "คุณจะทำให้ลูกผมได้แชมป์ได้มั้ย" และทุกครั้งที่ผมถูกถามแบบนี้ ผมจะมองดูลูกเค้าว่ามีความตั้งใจมั้ย ถ้าลูกเค้าตั้งใจในอาทิตย์แรกที่ฝึกซ้อม โดยส่วนตัวแล้วผมมีความเชื่อมั่นในตัวเองอยู่แล้ว ผมตอบกลับไปว่า "น้องทำได้ครับ น้องมีความตั้งใจ ไม่มีอะไรที่คนที่ตั้งใจชอบในสิ่งที่ทำจะทำไม่ได้ครับ" แต่ในการนี้ความรู้สึกกดดันนั้นได้ลดน้อยลงไปอย่างมาก จนแทบไม่เหลือเลย และมีความรู้สึกมั่นใจขึ้นมาแทน แต่ความรู้สึกกดดันนั้นยังจำเป็นต้องมีอยู่บ้าง เพื่อช่วยกระตุ้นทีมเราให้มีความกระฉับกระเฉงในการพัฒนาน้องๆอยู่ตลอดเวลา เพราะตอนนี้ผมได้ทำให้ผู้ปกครองที่ย้ายมา หรือ ผู้ปกครองที่ผมบอกกับเค้าไปว่าน้องเป็นนักกีฬาได้ ผมทำให้น้องๆเหล่านี้มีผลงาน และที่สำคัญคือพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ใน 1 ใน 4 ของรุ่นในเวลา เพียง 1 ปี
|
|
ทีม New Athlete เริ่มมีผลงานตามลำดับแล้ว สำหรับผลงานชิ้นแรกของทีมที่ได้มานั้นความรู้สึกในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนและเป็นทีมที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน ให้อะไรกับตัวเราบ้าง
ตอนที่นักกีฬาในทีม New Athlete ได้รางวัลครั้งแรก ผมจำได้เลยว่า ตอนที่น้องได้ Match point และน้องตบลงเส้น ผมรู้สึกภูมิใจจนน้ำตาแทบไหลออกมาเดี๋ยวนั้นเลยมันเหมือนกับว่า ผมทำได้แล้ว มันคือเครื่องบ่งบอกว่าสิ่งที่เราวางแผนในการฝึกซ้อมนั้น มันมาถูกทาง เราเริ่มเดินก้าวแรก เพื่อที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราตั้งไว้ได้สำเร็จแล้ว และมันจะมีก้าวต่อไปที่ก้าวไกลกว่าอย่างแน่นอนวินาทีนั้นผมมั่นใจมาก |
อะไรที่คิดว่าเป็นจุดเด่นของทีม New Athlete
จุดเด่นที่สำคัญของ New Athlete มี 2 ข้อใหญ่ๆ คือ
- วิทยาศาสตร์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสร New Athlete ได้นำหลักวิทยาศาตร์การกีฬา และ นำความรู้ทางด้าน หลักสูตร strength and conditioning ที่ไปเรียนเพิ่มมา ประกอบกับการที่ตัวเองเป็นนักแบดมินตัน จึงนำเข้ามาผสมกันระหว่างโปรแกรมการฝึกซ้อม กับหลักวิทยาศาตร์การกีฬา พูดง่ายๆคือ โปรแกรมกาารฝึกซ้อมของ New Athlete มีเหตุผลทุกโปรแกรม ว่าทำไมต้องฝึกโปรแกรมนี้ ในวันนี้ ในช่วงนี้ฝึกอะไร การนำหลักวิทยาศาตร์ จุดเด่นของ New Athlete กับการนำหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาผสมกับการวางแผนการฝึกซ้อม
- ที่ทีม New Athlete เรามีความคิดว่าน้องนักกีฬาแต่ละคนมีพรสวรรค์ ในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกันดังนั้น ที่ New Athlete จะจัดโปรแกรมการซ้อมในแต่ละวันให้นักกีฬาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหัวหน้าผู้ฝึกสอนต้องทำการบ้านวางแผน และ จัดโปรแกรมของนักกีฬาแต่ละคนทุกวัน ทุกสัปดาห์ที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันนี้ทีม New Athlete ฝึกซ้อมกันอยู่ที่สนามไหนครับแล้วช่วงเวลาใดบ้าง แล้วก็มีการแบ่งชุดฝึกซ้อมเป็นกี่กลุ่มครับ
ทีม New Athlete ฝึกซ้อมที่สนามแบดของกรมชลประทาน ปากเกร็ดครับ
ฝึกซ้อมเวลา
จ. 17.30 - 20.30
อ. 17.30 - 20.30
พุธ 17.30 - 20.30
ศุกร์ 17.30 - 20.30
เสาร์ 09.00 - 11.00 และ 13.00 - 16.00
อาทิตย์ 09.00 - 11.00 และ 13.00 - 16.00
มีการแบ่งชุดการฝึกซ้อมเป็น 4 ชุดครับ
1. นักกีฬาชุด A
2. นักกีฬาชุด B
3. นักกีฬาชุดกลางเป็นชุดสำหรับเตรียมที่จะเป็นนักกีฬา
4. นักกีฬาชุดพื้นฐาน และ เรียนเพื่อออกกำลังกาย
ทั้ง 4 ชุดนี้ซ้อมในเวลาเดียวกันหมดครับ พวกน้องๆเด็กๆก็จะได้เห็นรุ่นพี่ได้ซ้อมกันด้วย
ทราบมาว่าทางทีมีการฝึกสอนให้กับนักกีฬาพิเศษด้วยเขาเป็นนักกีฬาประเภทไหนครับ
ใช่แล้วครับชื่อน้องเทืองครับผมเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกประเภทคนแคระครับ |
|
|
|
|
เป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนรู้สึกท้าทายไหมครับ
รู้สึกท้าทายมากครับเพราะการที่จะฝึกนักกีฬาคนแคระนี้ เหมือนกับว่าเราต้องฝึกคนที่ความสูงเทียบเท่ากับเด็กอายุ 6 - 7 ขวบให้ตีแบบนักกีฬาแข่งขันทั่วไปเป็นรูปแบบการฝึกซ้อมนักกีฬาที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยครับ
แต่สำหรับนักกีฬาคนนี้เค้ามีความตั้งใจมากไม่แพ้คนปกติเลย ให้ฝึกหนักเท่ากับคนปกติ ก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยบอกว่าผมไม่ไหวครับ |
แบบนี้ทางสโมสรก็ต้องหารายการแข่งเฉพาะทางแบบนี้ด้วยใช่ไหมครับ
เรื่องการหารายการแข่งขันเราโชคดีที่น้องเทืองติดทีมชาติได้ไวจึงทำให้ทางสมาคมแบดมินตันคนพิการ คอยหารายการให้น้องเทืองได้แข่งต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอเพื่อเก็บคะแนนสะสมไปโอลิมปิค ทางสโมสร New Athlete มีหน้าที่คอยพัฒนาฝีมือน้องเค้าอย่างเดียวครับ
ผลงานนักกีฬาคนนี้เป็นยังไงบ้างครับ
ส่วนผลงานของน้องเทืองให้ตอนนี้ดีมากครับดีขึ้นเรื่องๆ แบบก้าวกระโดดผ่านในระยะเวลาที่น้องเทืองเข้ามาฝึกซ้อม
ภายใน 2 เดือน เค้าสามารถชนะมือ 1 ของประเทศไทยในกลุ่มคนแคระลงได้
ใน 3 เดือน เค้าสามารถพิสูจน์ตัวเองจนได้แชมป์กีฬาแห่งชาติ
ต่อมา 5 เดือน น้องเทืองเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งที่มาเลเซีย แล้วเค้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ
พอเดือน ที่ 7 น้องเทือง สามารถขึ้นมืออันดับ 12 ของโลก
เดือนที่ 8 น้องเค้าติดทีมชาติชุดซีเกมส์ประเภทนักกีฬาคนแคระ ได้สำเร็จครับ
ทางสโมสรรู้สึกดีใจที่สามารถช่วยผลักดันให้น้องเขาก้าวสู่ความสำเร็จได้ครับ
ถามเรื่องส่วนตัวกันบ้าง ยามว่างจากการสอนชอบทำอะไรบ้างครับ
เวลาว่างๆ ผมชอบปาร์ตี้กับเพื่อนๆ หรือ ทำอะไรที่ตื่นเต้นๆ เช่น ไปเที่ยวสวนสนุก ดูหนัง เดินห้าง ผ่อนคลายแบบง่ายๆสบายๆครับ
สถานะตอนนี้หัวใจตอนนี้เป็นอย่างไร (เชื่อว่าสาวๆหลายคนอยากรู้)
โสดครับโสดจริงๆ ^^ ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ผมตั้งใจที่จะทุ่มเทเวลาและความคิดให้กับทีมแบดมินตันของผมก่อนครับ เพราะการที่จะปั้นนักกีฬาซักชุดนึงมันไม่ได้แค่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในเวลาสอนเท่านั้น แต่เวลาที่ผมไม่ได้สอน ผมก็ต้องนั่งคิดถึงน้องในทีมแต่ละคนว่าเราจะแก้ไขจุกบกพร่องเค้ายังไง วางแผนโปรแกรมยังไง ซึ่งตอนนี้ผมอยากจะทำน้องชุดนึงให้เป็นแบบอย่างแก่น้องๆทุกคนในทีมก่อนครับ ถึงจะค่อยมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น ดังนั้นเวลาสำหรับเรื่องอื่นเลยจะมีน้อยลง ยิ่งผู้หญิงเค้าก็ต้องการเวลาที่จะอยู่กับเรามากซึ่งผมตอนนี้ยังไม่สามารถให้เวลากับใครมากๆได้ครับ
ระเบียบวินัยในทีม New Athlete มีระเบียนวินัยอะไรมั้ยที่ทุกคนในทีมต้องมี
ทีม New Athlete จะไม่มีกฏอะไรเคร่งครัดมากเนื่องจากทางทีมมีนโยบายไม่ให้โค้ชตีกรอบความคิด ของนักกีฬา ทางทีมอยากให้นักกีฬามีความคิดสร้างสรรค์เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองจากความผิดพลาด และโค้ช หรือพี่ๆ แค่เค้าไปแนะนำ แชร์มุมมองให้กับนักกีฬา ส่วนระเบียบที่เน้นก็เป็นเรื่องทั่วไปเช่น การตรงต่อเวลาในการฝึกซ้อมและความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาเท่านั้นครับ
เป้าหมายสูงสุดของสโมสร New Athlete คืออะไร
New Athlete ตั้งเป้าว่าจะเป็นสโมสรแบดมินตันอาชีพ เหมือนกับ นักฟุตบอล ในอีก 6 ปีต่อจากนี้ เพื่อให้นักกีฬาแบดมินตันมีรายได้ และเล่นแบดมินตันอย่างภาคภูมิใจครับ
อยากฝากอะไรไปถึงผู้ที่ติดตามผลงานของทีมอยู่บ้างครับ
ขอขอบคุณพี่ๆน้องๆชาวแบดมินตันที่คอยให้กำลัง และ ติดตามผลงานของสโมสร New Athlete ตลอดมา ผมจะพัฒนาน้องๆนักกีฬา ให้ไปสู่ระดับโลก และสร้างชื่อสร้างให้กับประเทศไทยให้ได้ และหากพี่ๆน้องๆ มีลูกหลานสนใจกีฬาแบดมินตัน ทางสโมสรแบดมินตัน New Athlete ยินดีต้อนรับครับ