รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
Taiwan Model ..เรื่องน่าเรียนรู้จากไต้หวัน
  21 เม.ย. 2560
แบ่งปัน
Taiwan Model ..เรื่องน่าเรียนรู้จากไต้หวัน

ถึงตอนนี้  Tai Tzu Ying เป็นนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 1 โลก แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบข้ามคืน และพัฒนาการแบดมินตันของไต้หวัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมีการทำอย่างมีระเบียบแบบแผน ที่น่าจะนำมาศึกษาถึงความสำเร็จของวงการแบดมินตันที่นั่น 
 
  ก่อนหน้านั้น เมื่อพูดถึง”กีฬายอดนิยม” ชาวไต้หวัน(ส่วนใหญ่)จะนึกถึง”เบสบอล” ที่มีประวัติการเล่นในแผ่นดินที่เป็นเกาะแห่งนั้นมายาวนาน และลีกเบสบอล ก็”ครองจอ”การถ่ายทอดทีวีที่มีคนสนใจรอชมมากมายทั่วทั้งเกาะไต้หวัน ขณะที่สื่อมวลชน ก็นำเสนอข่าวเบสบอลทุกแง่ทุกมุม ...ทุกรายละเอียด

แต่มีคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เขาคือ Tsai Hung-peng ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมแบดมินตันไต้หวัน หรือ Chinese Taipei Badminton Association (CTBA) มาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1973 ที่มองว่า “เบสบอล” มีชาวไต้หวันเล่นไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากร ขณะที่”แบดมินตัน” มีคนไต้หวันเล่นมากกว่า 2 ล้านคน หรือประมาณ 9% จึงควรสนับสนุนแบดมินตันมากกว่าเบสบอล  และที่สำคัญก็คือ มีนักแบดมินตันไต้หวันอยู่ในระดับโลก โดยในช่วงปลายปี 2010 นักแบดมินตันหญิงคู่ไต้หวัน คือ Cheng Wen-hsing กับ Chien Yu-chin ก็เป็นนักแบดมินตันหญิงคู่มือ 1 โลกในการจัดอันดับของ Badminton World Federation (BWF) 
 
ยังไม่รวมถึงนักแบดมินตันไต้หวันอีกหลายคนที่ติดทอปเทนโลกในช่วงนั้น ทั้งประเภทชายคู่ คู่ผสม กระทั่งหญิงเดี่ยว ที่ Cheng Shao-chieh ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันหญิงไต้หวันคนแรกที่ติดทอปเทน โดยขึ้นถึงอันดับ 7 ในเดือนกันยายน 2011  

ขณะเดียวกัน นักแบดมินตันชื่อดังและติดอันดับโลกเหล่านั้น เมื่อเลิกเล่นเพราะวัยที่สูงขึ้น ก็ขยับสถานะไปเป็นผู้ฝึกสอนตามสถานศึกษาต่างๆ เช่น Cheng Wen-hsing ไปสอนอยู่ที่ National Chung Cheng University รวมทั้งยังปลีกเวลาว่างๆไปอบรมเด็กๆที่  Kaohsiung Senior High School 
 
  ส่วน Chien Yu-chin อดีตมือ1โลกประเภทหญิงคู่ ก็คือ”ครู”ที่ค้นพบนักเรียนหญิงคนหนึ่งในโรงเรียนที่เธอไปสอน นั่นคือ Tai Tsu-ying ที่โรงเรียน Kaohsiung Senior High School รวมทั้ง Cheng Shao-chieh แชมป์ World Junior Championships 2004 

Liao Kuo-mao เฮดโค้ชทีมชาติไต้หวัน(ในช่วงนั้น)กล่าวว่า ความสำเร็จของ Cheng Shao-chieh เป็นการเปิดโอกาสให้นักแบดมินตันไต้หวันอยากไปถึงจุดๆนั้น 

Wu Jun-yan ประธาน Taiwan Senior Badminton Association (TSBA) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1988 และได้รับเลือกให้เป็นบอร์ดของ BWF ในเวลาต่อมา ระบุว่า การที่ไต้หวันสามารถสร้างผลงานของนักแบดมินตันได้ในการแข่งขันทั่วโลก ก็เพราะมีการทำงานหนักเพื่อสร้างฐานให้เด็กๆในโรงเรียนต่างๆสนใจกีฬานี้ 
 
ในปี 2010 Victor Rackets Industrial Corp บริษัทผู้ผลิตลูกขนไก่และไม้เก็ตแบดมินตันชื่อดังของไต้หวัน ตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ โดยสร้างสนามแบดมินตันกว่า 200 คอร์ตในไทเป ซึ่ง Wu Jun-yan กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ คือพัฒนาการสำคัญของวงการแบดมินตันไต้หวัน และ Victor คือ สปอนเซอร์ที่ส่ง Cheng Wen-hsing ออกไปแข่งขันในต่างประเทศ   

ขณะเดียวกัน หนึ่งในการสนับสนุนที่สำคัญ คือองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานที่มีภาครัฐหนุนหลัง เช่น Land Bank of Taiwan ที่รัฐบาลถือหุ้น หรือ Taiwan Power Co และ  Taiwan Cooperative Bank ก็ตั้งทีมแบดมินตันขึ้นมา ขณะที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สร้างสโมสรแบดมินตันขึ้นมาแข่งขันด้วยก็คือ Wan Hai Lines Ltd. ทำให้นักแบดมินตันจำนวนไม่น้อยมีเวทีแข่งขันเพื่อยกระดับ และหลายทีมก็”อิมพอร์ต”โค้ชต่างประเทศมาให้นักกีฬาได้เรียนรู้เทคนิคหรือรูปแบบใหม่ๆ
 
  นอกเหนือจากสร้างทีมแบดมินตันแล้ว บริษัทห้างร้านเหล่านี้ก็ยังเป็น”แหล่งงาน”รองรับนักกีฬาเมื่อเลิกเล่น เช่น Liao Kuo-mao เมื่อเลิกเป็นโค้ช ก็ไปเป็นสมาชิกของ Taiwan Cooperative Bank’s club หรือ Hsieh Yu-hsin ซึ่งเข้ารอบ quarterfinals ชายเดี่ยวใน  2008 Beijing Olympics games ก็เข้าร่วมงานกับ Land Bank of Taiwan club ขณะที่หลายคนเลือกกลับไปสอนเด็กๆ โดยการสนับสนุนของกลุ่มทุนใหญ่ เช่น  Wan Hai’s club ที่เป็นผู้สนับสนุน Kaohsiung Senior High School ที่มี Hsieh Yu-hsin เป็นกำลังหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนและพัฒนาแบดมินตันไต้หวันตัวจริง ยังคงเป็นภาครัฐ โดยเฉพาะ Ministry of Education’s Department of Physical Education ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะพัฒนาทีมแบดมินตันไต้หวันตั้งแต่ระดับเยาวชน รวมทั้งกีฬาอื่นๆ เช่น ยิมนาสติก ว่ายน้ำ เทนนิส  โดยวิธีการง่ายๆ คือให้มีการแข่งขันระดับโรงเรียนเพื่อหา”ช้างเผือก”มาพัฒนา เช่นที่เคยเจอ Tai Tzu Ying มาแล้ว ขณะที่เด็กๆก็สามารถนำ”ผลงาน”มาเป็น”ใบเบิกทาง”เข้าสู่สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งก็สร้างโอกาสได้ไปแข่งขันอีกระดับ

Taiwan Model เป็นเรื่องง่ายๆที่ไม่ลึกลับซับซ้อน หากแต่ต้อง”ร่วมมือ”กันอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ เอกชน จนถึงสื่อมวลชน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ไต้หวันมาถึงจุดนี้ได้
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ