แบดมินตันซูเปอร์ซีรีส์รายการ OUE Singapore Open ที่จบไปเมื่อวาน(16เม.ย.) ถือว่าเป็น"ความสำเร็จ"ยิ่งใหญ่ของ"เดนมาร์ค" เพราะนักแบดมินตันจากยุโรปประเทศนี้ สามารถกวาด 2 แชมป์ ขณะที่อีก 3 ประเภท เป็นจีน อินเดีย และไต้หวัน ได้แชมป์ไปชาติละประเภท
|
|
โดย 2 แชมป์ของเดนมาร์ค คือประเภทหญิงคู่ จาก Kamilla Rytter JUHL กับ Christinna PEDERSEN ที่ชนะแชมป์โอลิมปิก 2016 และคู่มือ 1 โลกจากญี่ปุ่น Misaki MATSUTOMO กับ Ayaka TAKAHASHI มา 2-1 เกมด้วยสกอร์ 21-18 , 14-21 และ 21-15 |
อีกประเภทคือ"ชายคู่" ซึ่ง Mathias BOE กับ Carsten MOGENSEN ตบใส่นักแบดมินตันรุ่นใหม่ของจีน LI Junhui กับ LIU Yuchen กระเจิง 2 เกมรวด 21-13 และ 21-14
ถือเป็น"ความสำเร็จ"บนความหวาดวิตกของทีมแบดมินตันเดนมาร์ค ที่พวกเขามีภารกิจป้องกันแชมป์ยุโรปในวันที่ 25-30 เมษายนนี้
ที่ต้อง"วิตก" เพราะถึงเวลานี้ เดนมาร์คเห็นแล้วว่า ปัญหาของพวกเขาก็คือ แทบจะหานักแบดมินตัน"หน้าใหม่"มาทดแทนผู้เล่นมากประสบการณ์และมากอายุกลุ่มนี้ได้ เพราะถึงตอนนี้ Kamilla Rytter JUHL อายุ 33 ส่วน Christinna PEDERSEN เดือนหน้าพฤษภาคม) ก็จะอายุครบ 31 ขณะที่ชายคู่ Mathias BOE ในเดือนกรกฎาคมนี้จะอายุ 37 ส่วน Carsten MOGENSEN ก็จะครบ 34 ในเดือนเดียวกัน |
|
|
สำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้พละกำลัง เป็นที่รู้กันว่า เมื่ออายุย่างเลข 3 ก็เริ่มถึงเวลาเตรียมเลิกรา ซึ่งการที่ทั้ง 4 คนยังต้องลงสนาม นั่นแสดงว่า"เดนมาร์ค" มีปัญหาใหญ่ นั่นคือไม่สามารถหาผู้เล่นคนใหม่มาทดแทนได้
|
|
กรณีนี้ ได้เกิดขึ้นและกำลังจะผ่านพ้นไปกับทีมแบดมินตันจีน เพราะยังไม่สามารถหาผู้เล่นหน้าใหม่มาแทนนักแบดมินตันรุ่นเดิมที่เลิกเล่นทีมชาติได้ โดยเฉพาะหญิงเดี่ยว แต่เมื่อมองถึงตรงนี้ก็ถือว่า"จีน"ผ่านวิกฤติตรงจุดนั้น เพราะมีนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือใหม่หลายคนเริ่มฉายแสง แม้อาจจะยังไม่มีใครคว้าแชมป์ซูเปอร์ซีรีส์ แต่ก็ยังสามารถผ่านเข้าถึงรอบลึกๆได้ ขณะที่ประเภทอื่นๆ ทั้งหญิงคู่ ชายคู่ หรือคู่ผม ก็เริ่ม"ลงตัว"ว่าใครจะจับคู่กับใคร |
ซึ่งเรื่องนี้ Kenneth Jonassen เฮดโค้ชคนใหม่ของเดนมาร์ค"รู้" และก็เริ่มมีการส่งนักแบดมินตันรุ่นใหม่หาประสบการณ์ลงแข่งขันรายการต่างๆมากขึ้น แต่สุดท้าย คำว่า"แชมป์"รายการใหญ่ๆยังเป็นของนักตบลูกขนไก่รุ่นเก๋า และเขารู้ดีว่า"ภารกิจใหญ่"ของเขาอยู่ที่ไหน ดังที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันรับตำแหน่ง
"มันจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในยุคของเราที่จะต้องเตรียมตัวไปโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2020 ผมจะโฟกัสและเตรียมตัว ผมมีความสุขที่ผมได้ทำงานร่วมกับลาร์ส(Lars Uhre-โค้ชทีมชาติเดนมาร์คคนก่อน) และได้เรียนรู้อะไรจากเขามากมาย เขาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีและเป็นเพื่อนเป็นพิเศษในสิ่งที่เราทำ"
จากนี้จึงต้องจับตาว่า เดนมาร์คยุคใหม่ที่มี Kenneth Jonassen เป็นโค้ช จะเปลี่ยน"วิกฤติ"เป็น"โอกาส"ได้สำเร็จหรือไม่