กล่าวได้ว่า ในช่วงปีสองปีนับจากนี้ไป เป็นช่วง”ยุคทอง”ของวงการแบดมินตันไทย และเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ว่าจะสามารถขยายผล"ยุคทอง"ให้เป็นผลดีต่อเนื่องสำหรับแบดมินตันไทย ที่หมายถึงทีมชาติและผู้เล่นของไทย สามารถพัฒนาฝีมือและคุณภาพได้หรือไม่ |
ที่เขียนว่าเป็น"ยุคทอง" ก็เพราะแน่นอนแล้วว่าในปี 2018 ประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกจากสหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) ให้เป็นเจ้าภาพแบดมินตันโทมัส คัพ ครั้งที่ 30 และอูเบอร์คัพ ครั้งที่ 27 และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเทศจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์แบดมินตันระดับ Superseries |
ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนมีนาคม ก็เป็นช่วงเวลาที่นักแบดมินตันไทย โชว์ผลงานได้ดี จนทำให้อันดับของนักแบดมินตันไทย ขึ้นมาเกาะกลุ่มอยู่ในแถวหน้าของนักแบดมินตันโลก โดยมีถึง 3 ประเภทที่นักแบดมินตันไทยติดทอปเทน(และติดมากกว่า1คนหรือ1คู่) ในการจัดอันดับล่าสุดประจำสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2017 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2017 |
โดยในประเภทชายเดี่ยว สอง ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ขยับจากอันดับ 11 มาอยู่อันดับ 10 ขณะที่หญิงเดี่ยว เมย์ รัชนก อินทนนท์ อยู่อันดับ 7 และ ครีม บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธ์ อยู่อันดับ 10 เช่นเดียวกับหญิงคู่ ที่มี 4 นักแบดสาวไทย 2 คู่ติดทอปเทน นั่นคือ "เอิร์ธ-ปอป้อ" พุธิตา สุภจิรกุล และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ขยับมาอยู่อันดับ 8 ส่วน "กิ๊ฟ-วิว" จงกลพรรณ กิติธรากุล กับ รวินดา ประจงใจ ก็ขยับมาอยู่อันดับ 9 |
ขณะที่ชายคู่และคู่ผสม แม้จะยังไม่ติดทอปเทน แต่นักแบดมินตันไทยประเภทนี้ของไทยก็อยู่ในอันดับที่น่าพอใจ โดยในประเภทชายคู่ "อาร์ท – ต้นน้ำ" บดินทร์ อิสสระ กับ นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร อยู่อันดับ 13 ส่วนคู่ผสม "บาส-ปอป้อ" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่เพิ่งคว้าแชมป์ Swiss Open อยู่อันดับ 11 |
นี่จึงเป็น"การบ้าน"ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ว่าจะสามารถ"ยกระดับ"นักแบดมินตันเหล่านี้ได้มากแค่ไหน เพราะช่วงเวลาปีสองปีก่อนที่จะมีการแข่งขันแบดมินตันรายการใหญ่ในประเทศไทย นักแบดมินตันไทยควรจะมีพัฒนาการ เพื่อให้คนไทยมีความสุขในการ"ไปเชียร์นักแบดไทย" มากกว่า"ไปชมนักแบดต่างชาติ" |
นี่จึงกลับมาถึง"คำถามเดิม"ว่าถึงเวลาหรือยัง ที่"ประเทศไทย"ควรจะมีการแข่งขันลีกแบดมินตันขึ้นมาเพื่อยกระดับนักแบดมินตัน(ทุกระดับ)ในประเทศไทยขึ้นมา เพราะเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แค่ 2 ปีที่พัฒนาลีกแบดมินตันในประเทศขึ้นมา ทำให้โอลิมปิก 2016 นักแบดมินตันมาเลเซียสามารถเข้าชิงเหรียญทองถึง 3 รายการ ที่อาจจะยกเว้นเพียง Lee Chong Wei ที่ถูกคาดหวังไว้แล้วว่ามีโอกาสถึงคว้าเหรียญทอง ขณะที่อินเดีย ก็ไปไกลถึงขั้น PUSARLA V. Sindhu ได้เหรียญเงินหญิงเดี่ยว และอังกฤษก็พัฒนาจน Chris Langridge กับ Marcus Ellis นักแบดมินตัน"โนเนม"คว้าเหรียญทองแดงริโอ 2016 ทั้งๆที่”ลีกแบดมินตัน”ของอังกฤษ เป็นเสมือน"ลีกสมัครเล่น"ที่นักตบลูกขนไก่ของเขาเล่นกันเองเท่านั้น |
ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยกำลังมีการแข่งขันวอลเล่นบอลลีก ที่ชื่อ"วอลเล่ย์บอล ไทย- เดนมาร์ค ซูเปอร์ลีก2017" และประสบความสำเร็จมากพอสมควร มีผู้ชมเข้าไปชมการแข่งขันมากมายจนที่นั่งในสนามเต็ม ทั้งๆที่นักวอลเล่ย์บอลที่คนไทยรู้จักดี มีน้อยกว่านักแบดมินตันด้วยซ้ำ แต่สมาคมวอลเล่ย์บอลแห่งประเทศไทย สามารถหาสปอนเซอร์และจัดการแข่งขันได้ จึงเป็นคำถามต่อถึงสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ว่าทำไมยังไม่รีบจัดการแข่งขัน โดยในปีแรกๆ เงินรางวัลอาจจะยังไม่ต้องมากถึงระดับลีกมาเลเซียหรืออินเดีย หากยังไม่สามารถหาผู้สนับสนุนมาช่วยจัดการแข่งขันได้มากมาย |
"ตีเหล็ก..ต้องตีตอนร้อนๆ" จึงน่าจะเป็นสถานการณ์ในตอนนี้สำหรับวงการแบดมินตันไทย เพราะไม่มีช่วงไหนแล้วที่นักแบดมินตันไทยติดอันดับโลกมากมายขนาดนี้ และประเทศไทย ยังได้รับเกียรติจาก BWF ให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับโลกแล้ว |
คนไทยพร้อมที่จะไปชมและเชียร์แน่ๆ โดยเฉพาะหาก"นักแบดมินตันไทย" มีโอกาสเป็นแชมป์รายการต่างๆ ไม่ใช่ไปเพื่อชมนักกีฬาชาติอื่นมาคว้าแชมป์ในประเทศไทย |