ลีกแบดมินตันไทย ...ทำไมจึงควรมี”สโมสรต่างชาติ”
วันนี้ (10 มี.ค.) แบดมินตัน All England มาถึงรอบ Quarter Finals แล้ว นักแบดมินตันไทยที่ผ่านมาถึงรอบนี้มี 2 คน คือ เมย์ รัชนก อินทนนท์ ที่จะพบกับ Carolina MARIN มือวางอันดับ 2 ของรายการ เจ้าของเหรียญทองหญิงเดี่ยวโอลิมปิก 2016 และชายเดี่ยว สอง ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ที่เมื่อวานโชว์ฟอร์มหรู เอาชนะแชมป์ชายเดี่ยวโอลิมปิก Chen Long จากจีนมาแบบหักปากกาเซียนทั่วโลก และจะลงสนามพบ CHOU Tien Chen นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 1 ของไต้หวันค่ำวันนี้
ส่งใจเชียร์กัน พร้อมๆกับมาคุยเรื่อง”ลีกแบดมินตัน”ในบ้านเรากันต่อ
|
|
เขียนมาและสรุปแล้วว่า ถึงเวลาที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ที่เป็น”หัวเรือใหญ่”ของการขับเคลื่อนแบดมินตันของไทย จะต้อง”จริงจัง” ในการพัฒนาทีมลูกขนไก่ไทย และเมื่อวิเคราะห์ทุกมุมแล้ว สิ่งที่จะสร้างความสำเร็จมากที่สุดในยามนี้ก็คือ การให้มี”ลีกแบดมินตัน”ขึ้นในในประเทศ และเพื่อยกระดับและพัฒนาฝีมือนักแบดมินตันไทย จึงควรที่จะให้มี”ทีมสโมสรต่างชาติ”มาร่วมแข่งขันด้วย
|
วิธีการให้”สโมสรต่างชาติ”มาแข่งขันด้วยนี้ ในปัจจุบันก็มี”อินโดนีเซีย”ที่ทำมานานหลายปี เนื่องจากทุกวันนี้ ทีมแบดมินตันอินโดนีเซียมี”จุดอ่อน” เรื่องนักแบดมินตันประเภทเดี่ยวทั้งชายและหญิง จึงจำเป็นต้อง”อิมพอร์ต”นักแบดมินตัน 2 ประเภทที่ว่ามาร่วมแข่งขัน ทั้งในในฐานะตัวแทนของสโมสรในประเทศและทีมจากต่างประเทศ เพื่อให้นักตบลูกขนไก่ดาวรุ่งอินโดนีเซียซึ่งอาจจะไม่มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันต่างประเทศได้ลงแข่งขันทดสอบฝีมือ
ประเทศไทยเราก็ไม่ต่างกัน เพราะในความเป็นจริง ทีมแบดมินตันไทยในชุดปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเรามี”ทีมชาติ”ขนาดเล็ก(มาก) โดยมีเพียง 10 กว่าคนที่ถือเป็น”ทีมชาติชุดใหญ่” และมีน้อยจนแฟนแบดมินตันไทย”รู้”ว่าในแต่ละทัวร์นาเมนต์ จะมีนักแบดมินตันคนไหนบ้างที่จะร่วมเดินทางไปแข่งขัน และเป็น”ปัญหาเรื้อรัง”มานานหลายปีโดยแทบจะหา”มือใหม่”ก้าวขึ้นมาเสริมทัพทีมชาติได้เลย
|
|
|
|
|
การมี”ลีกแบดมินตัน” จึงเป็น”คำตอบสุดท้าย” ที่แม้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่เชื่อว่าเป็นคำตอบที่ไม่มีทาง”สอบตก” เพราะการมี”ลีกแบดมินตัน” ทำให้นักแบดมินตัน”หน้าใหม่” หรือคนที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาฝีมือมีโอกาสลงสนามทดสอบกับ”มือดี”หลายคน ซึ่งหากไม่มีโปรแกรมการแข่งขันในลีกแบดมินตันแล้ว เด็กๆเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสลงสนาม
|
เหมือนกับ”ฟุตบอลไทย” ที่เรามีการแข่งขัน”ไทยพรีเมียร์ลีก”มานานหลายปี จนคนทั้งประเทศต่างเริ่มเชื่อมั่นว่าถึงเวลาแล้วที่ทีมชาติไทยจะได้ไปเตะฟุตบอลโลก เพราะหลายปีที่ผ่านมา เมืองไทยมีนักฟุตบอลมากมายมีโอกาสลงสนามทุกสัปดาห์ ลงเตะกับนักฟุตบอลต่างชาติหลายคนหลายชาติ จนฝีเท้ามีการพัฒนามากขึ้นและสร้างความฝันให้คนไทยอยากเห็นทีมชาติไทยไปเตะฟุตบอลโลก (เสียที)
“แบดมินตัน”ก็เช่นกัน การมี”ลีกแบดมินตัน”เกิดขึ้นมา ทำให้นักแบดมินตัน โดยเฉพาะ”ดาวรุ่ง”ที่มีแนวโน้มจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในระดับแนวหน้า มีโอกาสลงสนามเจอ”ของจริง”มากกว่าเล่นกันเอง ซ้อมกันเอง โดยกล่าวได้ว่าในทุกวันนี้ มีเพียงนักแบดมินตันในสังกัดสโมสรใหญ่ๆอย่าง”แกรนนูลาร์” หรือ”บ้านทองหยอด” เท่านั้น ที่มีโอกาสบินไปแข่งขันทดสอบฝีมือในต่างประเทศว่าอยู่ระดับไหน ส่วนนักตบดาวรุ่ง ก็เหมือนนักเรียนเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ แต่ไม่เคยไปสอบ...ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองรู้ เป็นความรู้ระดับไหน
ขณะเดียวกัน เหตุผลของการเชิญชวนสโมสรต่างชาติมาร่วมแข่งขัน ก็เพราะกล่าวได้ว่าไทยเรายังมี”สโมสรแบดมินตัน”ที่มีคุณภาพสำหรับการแข่งขันไม่มากพอ นับนิ้วแล้วไม่เกินมือ 1 ข้าง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปหากจะจัดลีกแบดมินตัน ที่ควรจะมีสโมสรเข้าร่วมแข่งขัน 8 ทีมเป็นอย่างน้อย |
|
|
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้”ดาวรุ่ง”ของไทย มีโอกาสลงสนาม จึงอาจจะมีการกำหนด”กฎการแข่งขัน”สำหรับสโมสรต่างชาติ ว่าจะต้องมี”นักแบดมินตันไทย”อยู่ในทีมกี่คน ซึ่งเชื่อว่าสโมสรที่จะมาร่วมแข่งขันก็คงจะเข้าใจและไม่ขัดข้อง ขณะที่เด็กๆที่ได้รับโอกาสนี้ ก็ได้เรียนรู้ทั้งรูปแบบการเล่นและวิธีการฝึกซ้อมที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งไม่สว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ก็เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่
“ทีมต่างชาติ” จึงเป็นหนึ่งในคำตอบของการพัฒนาและให้ลีกแบดมินตันไทยแจ้งเกิดเพื่อพัฒนาทีมชาติไทย และเป็น”การบ้าน”ที่ขอส่งต่อไปยังสมาคมแบดมินตันฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร่งหารูปแบบที่จะเปลี่ยน”นามธรรม” ให้เป็น”รูปธรรม”เพื่อแจ้งเกิด”ลีกแบดมินตัน”ขึ้นมาโดยเร็ว
ยิ่งช้ายิ่งแย่ เพราะเมื่อเรา”หยุดเดิน” คนอื่นก็ก้าวล้ำหน้าเราไปอีกหลายก้าว
(ดอกปีกไก่) |
|
|