ลีกแบดมินตัน ..ทำวันนี้เพื่อวันหน้า
อย่างที่เขียนมาตอนแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าทุกวันนี้หลายประเทศต่างก็มี”ลีกแบดมินตัน” และมีการจัดการแข่งขันหลากหลายรูปแบบ แต่ที่”เหมือนกัน”ในทุกประเทศก็คือ”เป้าหมาย” นั่นคือต้องการพัฒนาและยกระดับฝีมือนักแบดมินตันในประเทศขึ้นมาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ ”รูปแบบ”และกติกาแต่ละลีกก็น่าสนใจ เพราะแต่ละประเทศก็เลือกรูปแบบและกติกาที่เหมาะสมกับ”เป้าหมาย”ของตัวเอง อย่างมาเลเซีย ใช้ระบบนับ 11 คะแนนในแต่ละเกม และกำหนดให้ชนะ 3 ใน 5 เกม ซึ่งหากการแข่งขันยืดเยื้อ ก็กำหนดเวลาไว้ที่ 30 นาที และหากเกมไม่จบ ก็นับคะแนนสุดท้ายที่ใครนำอยู่เป็นผู้ชนะ
|
|
ก่อนหน้านี้ “อินเดีย” ก็เคยใช้การนับ 11 คะแนน แต่กลับมาใช้เป็น 21 คะแนนตามกติกาสากล เพื่อให้นักแบดมินตันที่ลงสนามได้ลงแข่งตามรูปแบบที่ใช้กันจริง ขณะที่มาเลเซีย มองว่าการนับ 11 คะแนนและให้เวลาเพียง 30 นาที ก็เพราะเป้าหมายของการแข่งขันก็เพื่อให้นักกีฬา”หน้าใหม่”หลายคน ทำความคุ้นเคยกับการลงแข่งระดับใหญ่ครั้งแรกๆในชีวิต ดังนั้น หากต้องแข่งขัน 21 คะแนนและใช้เวลานาน ก็จะเกิดอาการ”ตื่นเต้น”จนเล่นไม่ออก จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี |
จึงเห็นได้ว่า ลีกแบดมินตันไม่มีแบบไหนสามารถบอกว่าถูกหรือผิด เพราะอยู่ที่”เป้าหมาย”ของการแข่งขันที่แต่ละประเทศต้องการ แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ คณะกรรมการจัดแข่งขันของแต่ละประเทศวางไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งความเป็น”มืออาชีพ”ของสมาคมแบดมินตันประเทศนั้นๆ
อย่างเช่น”มาเลเซีย” กล่าวได้ว่า การมาของ Morten Frost อดีตแชมป์ชายเดี่ยวโอลิมปิก 1996 มารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค สมาคมแบดมินตันมาเลเซีย เขาก็เริ่ม”จัดระเบียบ”การจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับต่างๆในประเทศขึ้นมาใหม่ โดยประกาศชัดเจนว่า แต่ละโรงเรียนจะต้องสามารถ”สร้าง”นักแบดมินตันเพื่อ”ป้อนทีมชาติ”ได้แห่งละ 10 คนในอนาคต เพื่อเพิ่ม”จำนวน”นักกีฬาที่จะนำมาพัฒนาเป็นผู้เล่นทีมชาติ
เขียนแล้วก็มีคนถามกลับมามากว่าแล้วเมืองไทยจะมีลีกแบดมินตันได้หรือยัง ?
คำตอบก็คือ ต้องโยนคำถามกลับไปที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ว่ามี”ข้อมูล”มากน้อยแค่ไหนที่จะจัดการแข่งขัน เพราะทราบมาว่า ในการเลือกตั้งนายกสมาคมแบดมินตันฯ สมาคมฯมีตัวเลขจำนวนสมาชิกมากถึง 300 แห่ง ซึ่งถ้าตีความหมายตามตัวเลขก็หมายถึงต้องการจำนวนสโมสรที่สามารถส่งทีมเข้าแข่งขันลีกในประเทศ หากมีการจัดการแข่งขันถึง 300 แห่ง ซึ่งก็ต้องถามกลับไปแบบจริงจังว่า ประเทศไทยมีจำนวนสโมสรที่มีนักแบดมินตันที่”พร้อม”ที่จะลงแข่งขันระดับลีกได้ถึง 300 ทีมจริงหรือ |
|
|
แต่เรื่อง”จำนวนสมาชิก” ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เพราะการแข่งขันจริงก็คงไม่มีทีมลงแข่งขันถึง 300 ทีมแน่นอน หากแต่ต้องการ”ทีมคุณภาพ” ประมาณ 8-10 ทีม หรือไม่เกิน 12 ทีม แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำหากจะจัดการแข่งขันลีกแบดมินตันขึ้นมาก็คือ”สปอนเซอร์” ที่ผู้จัดการแข่งขัน(ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสมาคมแบดมินตัน) จะต้องสามารถหาคนมาสนับสนุนให้ได้ ขณะที่สมาคมแบดมินตันฯ ทำหน้าที่เป็น”พี่เลี้ยง”และ”ที่ปรึกษา” รวมทั้ง”ผู้ให้การสนับสนุน” เพราะผลจากการแข่งขันก็คือ การสร้างนักแบดมินตันป้อนทีมชาติในอนาคต เป็น”ผลงาน”ของสมาคมแบดมินตันฯ
ยกตัวอย่าง 3 ลีกในเอเชียที่เพิ่งจบไป นั่นคือที่ประเทศจีน สปอนเซอร์หลักก็คือ Victor ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาแบดมินตันรายใหญ่จากไต้หวัน ที่”รุกตลาดจีน”แข่งขันกับสินค้าเจ้าถิ่นอย่าง Li-Ning แถมยังว่าจ้าง Wang Yihan อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 1 ทีมชาติเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เพื่อทำตลาด ขณะที่ในมาเลเซีย หนึ่งในสปอนเซอร์หลักของลีกในประเทศก็คือ Samsung ผู้ผลิตสินค้าอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากเกาหลี ขณะที่ลีกแบดมินตันอินเดีย มี Vodafone ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมสัญชาติอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนหลัก
|
|
แม้แต่ประเทศที่”แบดมินตัน”เป็นกีฬา”รองบ่อน”อย่างอังกฤษ ก็ยังมี AJ Bell National Badminton League ซึ่งเพิ่งแข่นขันจบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และ University of Nottingham Badminton ที่มี Chris Adcock นักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ทีมชาติเป็นกัปตันทีม ก็สามารถคว้าแชมป์ไปได้ โดยมี AJ Bell เป็นบริษัทผู้สนับสนุนการแข่งขันลีกในประเทศ |
ยังไม่ลืมใช่ไหมว่า “อังกฤษ” ได้เหรียญทองแดงแบดมินตันโอลิมปิก 2016 ในประเภทชายคู่จาก Chris Langridge กับ Marcus Ellis ก็คือผลผลิตจากลีกแบลดมินตันเล็กๆนี่แหละ ขณะที่นักแบดมินตันไทยยังไม่เคยได้เหรียญโอลิมปิกเลย
การได้สปอนเซอร์หลักมาเป็น”ผู้จ่าย”ในการจัดการแข่งขันลีกแบดมินตันในประเทศ แสดงให้เห็นถึงการเข้าไปเจรจาให้บริษัทเหล่านั้นมองเห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุนจ่ายเงินสนับสนุนลีกแบดมินตัน ซึ่งผู้จัดการแข่งขันต้องโน้มน้าวให้กลุ่มทุนที่จะมาสนับสนุนมองเห็นถึงสิ่งที่จะได้รับกลับมาจากการจ่ายเงินสนับสนุน
จีนกับอินเดีย มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน กลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุน อาจจะมองเห็น”ขนาดตลาด”ว่าจะทำได้ดีแค่ไหนกับการแข่งขันกีฬาที่จำนวนผู้ชมอาจจะไม่มากเหมือนฟุตบอล แต่เชื่อว่า ผู้จัดการแข่งขันสามารถชักจูงให้พวกเขาเชื่อว่า”คุ้มค่า”กับการจ่ายเงินเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาแบดมินตัน ขณะที่มาเลเซีย มีประชากร 30 ล้านคน ดังนั้น เมื่อผู้จัดการแข่งขันสามารถทำให้ Samaung เชื่อว่าการมาสนับสนุนลีกแบดมินตันจะทำให้การขายสินค้ามีมากขึ้น จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ประเทศไทยมีประชากรมากกว่ามาเลเซียเกินกว่า 2 เท่า นั่นหมายถึงตลาดใหญ่กว่ามาเลเซียแน่นอน ดังนั้น หากผู้จัดการแข่งขัน ที่จะเป็นสมาคมแบดมินตันฯ หรือจะใช้รูปแบบการแข่งขันลีกฟุตบอลในประเทศไทย ที่มีการจัดตั้ง”บริษัท”ขึ้นมาดำเนินการแทนสมาคมฟุตบอลฯ ก็จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าจะสามารถไปเจรจาพูดคุยกับกลุ่มทุนต่างให้มาเป็นสปอนเซอร์ได้หรือไม่ เพราะนี่คือการแสดงถึงความเป็น”มืออาชีพ”ของสมาคม
กรณีนี้ อย่าลืมว่าล่าสุด สมาคมแบดมินตันมาเลเซีย เพิ่งเซ็นสัญญารับการสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์จากกลุ่มธุรกิจในประเทศมากมาย เช่น Astro เจ้าของเคเบิลทีวีรายใหญ่ของมาเลเซีย ที่สนับสนุนทีมแบดมินตันมาเลเซียเป็นเงิน 50 ล้านริงกิตในสัญญา 5 ปี นอกเหนือจากสปอนเซอร์เดิมๆเช่น Maybank ที่ยังเป็นสปอนเซอร์หลัก
นี่จึงเป็น”งานท้าทาย”ของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ที่ไม่ว่าจะเป็น”ผู้จัด” หรือ”ผู้สนับสนุน”การแข่งขันลีกในประเทศ เพราะ”ลีกแบดมินตัน”เป็นเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องของอนาคต เนื่องจากผลจากการจัดการแข่งขันลีกแบดมินตันขึ้นมานั้น เป็นเรื่องของการมองหานักแบดมินตัน”รุ่นใหม่”เพื่อป้อนทีมชาติในวันหน้า ไม่ใช่ทีมแบดมินตันชุดปัจจุบัน ที่มี”เวที”ไปแข่งขันทั้งในฐานะทีมชาติ และส่วนตัวเดินสายไปแข่งขันลีกต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา นักแบดมินตันไทยมากมายหลายคนก็ล้วนแต่เคยถูก”ซื้อตัว”ไปเป็นนักแบดมินตันทีมต่างๆทั้งที่จีน อินเดีย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย
ดังนั้น ลีกในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องของ”อนาคต” ที่เป็นการจัดการแข่งขันในวันนี้เพื่อหวังผลในวันหน้า แต่ถ้าไม่ทำให้เกิดขึ้นในวันนี้ ในอนาคตก็คงมองไม่เห็นหนทางว่านักแบดมินตันไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน
ทั้งหมดคงเป็นคำตอบว่า”ลีกแบดมินตัน”สำคัญมาก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทุกชาติจึงต้องมี
(ดอกปีกไก่)