รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
แบดมินตันลีก ... คำตอบการยกเครื่องแบดมินตันไทย
  2 มี.ค. 2560
แบ่งปัน
แบดมินตันลีก ... คำตอบการยกเครื่องแบดมินตันไทย
แบดมินตันลีก ... คำตอบการยกเครื่องแบดมินตันไทย

ในปัจจุบัน กีฬาแบดมินตันถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมติดอันดับต้นๆ ของโลก และมีหลายชาติพัฒนากีฬานี้ ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันโอลิมปิก 2016 เมื่อปีก่อน ที่ปรากฏว่า”เหรียญทอง” มีถึง 4 ชาติที่ได้รับรางวัล ต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่ลอนดอน ซึ่งนักแบดมินตันจากจีนผูกขาดเป็นเจ้าเหรียญทองทั้ง 5 ประเภท
 
  ในจำนวนเหรียญรางวัลครั้งนี้ มี 2 ชาติว่าประสบผลสำเร็จอันเนื่องมาจากการจัดการแข่งขัน”ลีกแบดมินตัน”ขึ้นในประเทศ นั่นคือ มาเลเซีย ที่มีนักแบดมินตันเข้าชิงเหรียญทองถึง 3 ประเภท ซึ่งแม้อาจจะพลาดหวังทั้งหมด แต่ก็เป็นประเทศที่เข้าชิงมากที่สุด เพราะแม้แต่มหาอำนาจแบดมินตันอย่างจีน ก็เข้าชิงแค่ 2 ประเภท

อีกชาติที่อาจจะไม่น่าเชื่อสำหรับแฟนแบดมินตันทั่วโลกก็คือ”อังกฤษ”  ที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงจากนักแบดมินตันประเภทชายคู่ ชนิดที่คนอังกฤษเองยังถามกันว่าทั้ง 2 คนคือใคร เพราะชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่าแบดมินตันคือกีฬาอะไร

หรือถ้าจะพูดถึงอีกประเทศก็คือ”อินเดีย” ที่ พี.วี. สินธุ สามารถคว้าเหรียญเงินหญิงเดี่ยวมาครองแบบหักปากกาเซียนทั้งโลก
 
ความสำเร็จเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด แต่หนึ่งในเหตุผลของความสำเร็จ ก็เกิดขึ้นมาจากการจัดการแข่งขัน”ลีกแบดมินตัน”ขึ้นในประเทศ 

ในปัจจุบัน ลีกแบดมินตันชั้นนำของโลก จะกระจุกอยู่ในเอเชีย นั่นคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่ลีกแบดมินตันในยุโรป (และอเมริกา) จะเป็นเหมือน”ลีกเกิดใหม่” โดยนักแบดมินตันของแต่ละทีมก็เป็นนักแบดมินตันท้องถิ่นที่เริ่มเล่น เริ่มมีพัฒนาการ ซึ่งการได้เหรียญทองแดงชายคู่ของนักแบดมินตันอังกฤษ เป็นหนึ่งในคำตอบนั้น เพราะได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกโดยที่แม้แต่ชาวอังกฤษเองก็แทบจะไม่รู้จัก
 

ดังนั้น หากประเทศไทยยังต้องการให้”แบดมินตัน” มีพัฒนาการเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับโลกของทีมชาติ (ไม่ใช่ตัวบุคคล) ก็ถึงเวลาที่สมาคมกีฬาแบดมินตันฯและผู้เกี่ยวข้องต้องเริ่มต้นจริงจังสำหรับการจัดการแข่งขันลีกแบดมินตันในประเทศไทยขึ้นมาโดยเร็ว

สำหรับในปัจจุบัน รูปแบบการแข่งขันลีกแบดมินตันในเอเชีย จะเป็นลีกการแข่งขันที่ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 1-2 สัปดาห์ ตามจำนวนทีมที่เข้าแข่งขัน โดยความแตกต่างอยู่ที่รูปแบบการจัดการแข่งขันของแต่ละประเทศ

ตัวอย่างเช่นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ก็จัดแข่งขันแบบนี้ ซึ่ง”ข้อดี” ก็คือ การใช้เวลาแข่งขันไม่มาก ทำให้สามารถ”ซื้อตัว”นักแบดมินตันชื่อดังจากประเทศต่างๆมาร่วมทีมได้ อย่างเช่น อินเดีย หรือจีน ที่มีนักแบดมินตันชั้นนำของโลกมากมายไปร่วมแข่งขันในทีมต่างๆแม้กระทั่ง คาโรลินา มารีน แชมป์หญิงเดี่ยวโอลิมปิก ก็มาร่วมแข่งขัน รวมทั้งบิ๊กเนมจากเดนมาร์คแทบทั้งทีม ตั้งแต่วิคเตอร์จนถึงแจนโอ 
 
  ขณะที่”มาเลเซีย” จัดทำขึ้นมาเพื่อแสวงหานักแบดมินตันหน้าใหม่ป้อนทีมชาติ รูปแบบจึงจัดเป็น 2 เซ็กชั่น โดยเซ็กชั่นแรก นักแบดมินตันแต่ละทีมก็มักจะเป็นนักแบดมินตันท้องถิ่นของแต่ละสโมสร หรือหากจะมีนักแบดมินตันต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศไทย ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย หรือกระทั่งจากจีน ก็จะเป็นนักแบดมินตันระดับทีมชาติชุดบี เพื่อให้โอกาสนักแบดมินตันหน้าใหม่ของประเทศได้ลงสนามแข่งขันหาประสบการณ์ที่แตกต่างจากการฝึกซ้อมประจำวันที่เล่นกับนักแบดมินตันชาติเดียวกัน


เมื่อถึงเซ็คชั่นสอง ลีกแบดมินตันมาเลเซีย จึงเปิดโอกาสให้แต่ละทีมซื้อตัวนักแบดมินตัน”บิ๊กเนม”มาร่วมทีม ดังเช่น หวังยี่ฮาน ไท้ซื่อยิ่ง จ้าวยุ่นเหล่ย กระทั่งลียองแด ก็มาร่วมแข่งขัน เพื่อยกระดับการแข่งขันและเกรดของลีกในประเทศว่าไม่ใช่ลีกท้องถิ่น แต่เป็นลีกแบดมินตันระดับนานาชาติไม่ต่างจากจีน อินเดีย 

ขณะที่ในยุโรป ถือเป็น”ลีกเกิดใหม่” หลังเงียบหายไปนาน อย่างอังกฤษ ก็เพิ่งรื้อฟื้นมาอีกครั้งหลังจบโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากตื่นเต้นกับเกมที่เร็วและสนุกสนาน ต่างจากกีฬาที่แร็กเก๊ตที่พวกเขาคุ้นเคยอย่างเทนนิสและสคว้อช
 
  แต่รูปแบบลีกแบดมินตันในยุโรป จะเป็นลีกแข่งขันระยะยาว โดยจะแข่งขันในสุดสัปดาห์เหมือนกับลีกฟุตบอล และเก็บคะแนนในแต่ละสัปดาห์ โดยแต่ละทีมจะผลัดกันเป็นเจ้าบ้านและเป็นทีมเยือนเหมือนฟุตบอล ก่อนที่จะมีการคัดเลือก 4 ทีมที่คะแนนดีที่สุดมาเข้ารอบเซมิไฟนอลเพื่อไปชิงหาทีมชนะเลิศต่อไป

ในประเทศเยอรมัน ถือเป็นลีกแบดมินตันใหญ่มาก เพราะมีสโมสรจากแทบทุกเมือง และแข่งขันสุดสัปดาห์เช่นเดียวกับฟุตบอล รวมทั้งมีประเภท”เยาวชน” เพื่อให้เด็กๆมีโอกาสแข่งขัน และล่าสุด ลีกแบดมินตันมาเลเซียก็มีการแข่งขันประเภทเยาวชนขึ้นมาแล้ว

การแข่งขันที่ยาวนานของยุโรป อย่างเช่น เยอรมันที่ระยะเวลานาวนาน 7- 8 เดือนแบบฟุตบอล จึงทำให้ไม่มีนักแบดมินตันต่างชาติมาร่วมแข่งขัน ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นนักแบดมินตันมือสมัครเล่น ที่จะพัฒนาไปสู่เป็นนักแบดมินตันระดับโลกในอนาคต

ดังที่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า การแข่งขันลีกของ 2 ทวีปจะแตกต่างกัน เพราะฝั่งเอเชีย จะใช้เวลาแข่งขันสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้นักแบดมินตันของตัวเองและที่ซื้อตัวมาได้ลงสนาม เนื่องเพราะปัจจุบัน แบดมินตันระดับโลก มีการแข่งขันซูเปอร์ซีรีส์หรือกรังด์ปรีซ์โกลด์ทุกเดือน ขณะที่ยุโรป สมาคมแบมินตันของแต่ละประเทศ ไม่ได้ต้องการนักแบดมินตันชื่อดังมาแข่งขัน แต่มีการแข่งขันขึ้นมาเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้พัฒนาตัวเองขึ้นมา
 
 

ในส่วนของประเทศไทย ก็ต้องพิจารณากันเองว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันของทุกลีกก็คือ การมี”รางวัลชนะเลิศ” ซึ่งก็คือ”เงินรางวัล” ถือเป็นสิ่งสำคัญ (และเป็นเหตุผลที่ทำให้แต่ละทีมสามารถดึงนักแบดมินตันระดับโลกมาร่วมทีม) โดยแต่ละลีกก็อยู่ที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันสามารถหา”สปอนเซอร์”มาจ่ายเงินได้ อย่างมาเลเซีย SS Purple league ตัว S ทั้งสองก็คือ”สปอนเซอร์” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ SAMSUNG ขณะที่อินเดีย ก็เป็นสปอนเซอร์ที่คุ้นชื่อสำหรับวงการแบดมินตัน
 
ในส่วนของประเทศไทย นี่จึงเป็นภารกิจที่ท้าทาย ว่าสมาคมแบดมินตันฯ จะสามารถหาสปอนเซอร์ มาร่วมเป็น”เจ้าภาพ”ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทโทรคมนาคม หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นเงินรางวัลให้กับผู้ชนะ บริษัทหรือองค์กรละ 2-3 ล้าน ซึ่งถือว่าไม่มากเลย เพราะลีกฟุตบอล ยังจ่ายเป็นสิบล้านได้  

ถ้ารางวัลชนะเลิศได้ทีมละ 10 ล้าน รองชนะเลิศ 5 ล้าน อันดับ 3 ได้ 3 ล้าน อันดับ 4 ได้ 2 ล้าน ก็เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจมากพอที่สโมสรต่างๆจะซื้อตัวนักแบดมินตันระดับโลกมาให้นักแบดมินตันไทยได้ลงแข่งขันด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด พอจะฉายภาพที่ทำให้สรปุได้ว่า หากยังต้องการเห็นทีมชาติไทยพัฒนาและประสบความสำเร็จมากกว่านี้ ก็ต้องมี”ลีกแบดมินตัน”ขึ้นมาในประเทศ

มีตัวเลขว่าในปัจจุบัน มีนักแบดมินตันขึ้นทะเบียนกับสมาคมฯประมาณ 4 พันคนจาก 300 สโมสร แต่ถ้าจะถามกันตรงๆ นักแบดมินตันไทย 4 พันคน อยู่ตรงไหน แข่งขันอะไรบ้างก็อาจจะนึกไม่ออก ขณะที่ในความเป็นจริง โอกาสที่นักแบดมินตันไทยจะได้ลงแข่งขันก็มีเพียงการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์ประเทศไทย รองมาเป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ที่แต่ละคนก็หาโอกาสไปเล่นให้กับจังหวัดต่างๆตามความคุ้นเคยกันเอง ส่วนกีฬามหาวิทยาลัย ก็เป็นเวทีสำหรับนักกีฬาที่ยังอยู่ในวัยเรียน
 
  การมีลีกแบดมินตัน จึงเป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นว่า หากไม่มีลีกแบดมินตัน โอกาสที่นักกีฬาไทยจะพัฒนาก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีการแข่งขันน้อยมาก โดยจะมีเพียงนักแบดมินตัน 10-20 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันกับนักกีฬาขาติอื่น ขณะที่อีกเกือบ 4 พันคนที่เหลือ ก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าฝีมือของตนอยู่ระดับไหน

นี่จึงเป็นงานใหญ่งานสำคัญและท้าทายของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

(ดอกปีกไก่)
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ