สมาคมแบดมินตันมาเลเซียสร้าง Academy หวังยกระดับนักตบลูกขนไก่รุ่นใหม่
สำหรับมาเลเซียแล้ว "แบดมินตัน" ถือเป็น "กีฬามหาชน" อย่างแท้จริง และจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังมองว่า นี่เป็นกีฬาประเภทเดียวของมาเลเซีย ที่มีโอกาสคว้า "เหรียญทอง" ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งนับถึงวันนี้ มาเลเซียเข้าร่วมมหกรรมกีฬามวลมนุษยชาติมาแล้ว 15 ครั้ง นับตั้งแต่เมื่อปี 1956 ที่ Melbourne ออสเตรเลีย โดยไม่ได้เข้าร่วมในปี 1980 ที่ Moscow ประเทศรัสเซีย และนักกีฬาจากมาเลเซียได้เหรียญรางวัลเพียง 7 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง
ซึ่งใน 11 เหรียญนั้น มาจากแบดมินตัน 8 เหรียญ เป็น 6 เหรียญเงินและ 2 เหรียญทองแดง
เพื่อสู่เป้าหมาย"แชมป์โอลิมปิก" สมาคมแบดมินตันมาเลเซีย (BAM) จึงได้สร้างสถานฝึกหัดสำหรับเยาวชนขึ้นมา คือ Academy Badminton Malaysia (ABM) ในย่าน Bukit Kiara ในกัวลาลัมเปอร์ โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิน 31 ล้านริงกิต หรือคิดเป็นเงินบาทในปัจจุบันประมาณ 242 ล้านบาท โดยมีคอรต์แบดมินตันมาตรฐาน 18 คอร์ต โดยสมาคมแบดมินตันมาเลเซีย (BAM) เรียก Academy แห่งนี้ว่า"บ้านของเรา" โดยมีเป้าหมายจะสามารถสร้างนักแบดมินตันขึ้นมาใหม่มาได้ เพราะ Academy นี้ สามารถรองรับนักตบลูกขนไก่มาฝึกซ้อมได้ถึงวันละ 120 คน
"เทพลี" Lee Chong Wei นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 1 โลกคนปัจจุบันของมาเลเซีย แสดงความดีใจที่วงการแบดมินตันมาเลเซียมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง และมั่นใจว่าที่นี่ จะสามารถสร้างนักตบลูกขนไก่ได้ดี เพราะที่นี่มีความครบครันทุกอย่าง ที่จะสร้างแรงจูงใจให้พวกเด็กๆ
"ผมผ่านการฝึกซ้อมมาหลายที่ ต้องบอกว่าที่นี่ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากที่เรามี "บ้าน" เป็นของตัวเอง" ลีชองเหว่ยกล่าว
นักแบดมินตันหมายเลข 1 ของโลก ยังตั้งความหวังว่า Academy แห่งนี้ ยังทำให้เขาเลิกอิจฉานักแบดมินตันหลายชาติที่มีสถานฝึกซ้อมดีๆ เพราะ"บ้าน"ของทีมแบดมินตันมาเลเซียที่เปิดใหม่นี้ มีครบถ้วนทุกอย่าง
"ถ้าจะมีสิ่งที่ไม่ดีสำหรับที่นี่ก็คือ มันเกิดขึ้นช้า เพราะมันเปิดใช้ตอนที่ผมกำลังจะรีไทร์" ลีชองเหว่ยกล่าวติดตลก และว่า นี่จะเป็นสิ่งดีๆที่ทำให้เด็กๆสนุกที่จะพัฒนาฝีมือ และนักกีฬาทุกคนคงจะคุ้นเคย เพราะที่นี่จะเป็นสนามแข่งขันแบดมินตันในกีฬาซีเกมส์ที่กัวลาลัมเปอร์ในเดือนสิงหาคมนี้
ขณะที่ Tan Sri Mohd Al-Amin Abdul Majid นายกสมาคมแบดมินตันมาเลเซีย กล่าวในการนำสื่อมวลชนมาเลเซียเข้าชมสถานที่ว่าตอนนี้นักกีฬาทุกคนมาซ้อม แต่ที่พักของพวกนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถรองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าพักได้ถึง 200 คนจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนเมษายน โดยค่าดูแล Academy แห่งนี้จะตกเดือนละ 3 แสนริงกิต หรือเกือบ 24 ล้านบาท และสมาคมแบดมินตันมาเลเซียคาดหวังว่า"บ้าน"ของพวกเขา จะเป็นที่ซึ่งนักกีฬาชุดใหญ่และเยาวชนพักใต้หลังคาเดียวกันพร้อมสร้างโฉมใหม่ของวงการแบดมินตันมาเลเซียเมื่อทั้งหมดได้พบปะแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา
ทั้งนี้ สมาคมแบดมินตันมาเลเซีย ได้ทาบทามให้ Dr Suresh Kumar มาเป็นผู้ดูและ Academy แห่งนี้