รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
2016 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงวงการแบดมินตันโลก
  27 ธ.ค. 2559
แบ่งปัน

สำหรับแฟนแบดมินตัน ปี 2016 ที่กำลังจะผ่านไป ถือเป็น "ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง" อย่างแท้จริง โดย "ไฮไลท์" ที่สำคัญที่สุดของปี น่าจะเป็นการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล และผลการแข่งขันก็แตกต่างจากลอนดอนเกมส์เมื่อ 4 ปีก่อน ที่นักแบดจากประเทศจีนประกาศศักดา คว้าแชมป์ทั้ง 5 เหรียญทอง แถมมีนักแบด 2 คนที่ได้ 2 เหรียญทองจาก 2 ประเภท

ขณะที่ริโอเกมส์ จีนได้เพียง 2 เหรียญทอง ส่วนอีก 3 เหรียญทองถูกสเปน อินโดนีเซียและญี่ปุ่นแย่งไป
 
  ส่วนการแข่งขันระดับ BWF Superseries ก็เกิดการเปลี่ยนโฉมมากมาย โดยเฉพาะประเภทชายเดี่ยว ที่แชมป์แทบจะไม่ซ้ำหน้ากัน และน่าแปลกที่ Chen Long และ Carolina Marín แชมป์ชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวโอลิมปิก 2016 กลับไม่ได้แชมป์แม้แต่รายการเดียว ทั้งๆที่ทั้ง 2 คนเป็นมือ 1 โลกอยู่เกือบทั้งปี

แถมหญิงเดี่ยว 12 รายการ ไม่นับ Superseries Finals ก็มีเพียง "เมย์" รัชนอก อินทนนท์ ที่ได้แชมป์ถึง 3 รายการ และดูจะเป็นการสิ้นสุดยุค "2 หวัง 1 ลี" จากจีนอย่างสมบูรณ์แบบ..เมื่อทั้ง 3 คนไม่ได้แชมป์อะไรเลย

รวมทั้งการประกาศเลิกเล่นของ "บิ๊กเนม" ประเภทคู่หลายคน

BWF Superseries 2016 เปิดฉากที่อังกฤษในรายการ All England Super Series Premier

ซึ่งรายการแรกของปีในเดือนมีนาคม Lin Dan สามารถคว้าแชมป์ชายเดี่ยว ขณะที่ Nozomi Okuhara ก็ยังคงโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องหลังคว้าแชมป์ Superseries Finals เมื่อปลายปี 2015 

ส่วนชายคู่ Vladimir Ivanov กับ Ivan Sozonov จากรัสเซีย และคู่ผสม Praveen Jordan กับ Debby Susanto จากอินโดฯ ก็ "แนะนำตัว" ให้โลกลูกขนไก่รู้จักชื่อพวกเขาจากการคว้าแชมป์

รายการต่อมาที่อินเดีย คือ India Open เป็น Kento Momota ที่คว้าแชมป์ชายเดี่ยว และเมย์ รัชนก อินทนนท์ เปิดฉากสวยก่อนจะคว้าแชมป์อีก 2 รายการต่อมาที่มาเลเซียและสิงคโปร์ พร้อมขึ้นเป็นนักแบดมือ 1 โลกในประเภทหญิงเดี่ยว

ต่อจากอินเดียมาที่มาเลเซีย ซึ่ง Lee Chong Wei แสดงให้ทุกคนรู้ว่า "บ้านของเขา" คือถิ่นสำหรับการคว้าแชมป์ของเขา เช่นเดียวกับมือ 1 จากไทย ที่คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวรายการที่ 2 ติดต่อกัน
 
รายการที่ 4 ของ BWF Superseries ที่สิงคโปร์ ไฮไลท์ของทุกสายตาจากแฟนแบดมินตันทั่วโลกจับตามองมาที่"เมย์"รัชนก อินทนนท์ ที่คว้าแชมป์รายการที่ 3 ใน 3 สัปดาห์ พร้อมขึ้นเป็นมือ 1 โลก

ขณะที่ชายคู่ Fu Haifeng กับ Zhang Nan ที่เริ่มจับคู่กันเพื่อเตรียมไปโอลิมปิก ก็คว้าแชมป์รายการแรก ส่วนชายเดี่ยวเป็นของเสือเฒ่าจากอินโดนีเซีย  Sony Dwi Kuncoro ที่กลับมาคว้าแชมป์แบบไม่มีใครคาดคิด
 

ต่อจากนั้นเป็นรายการที่ 5 ที่อินโดนีเซีย Lee Chong Wei กับ Tai Tzu-ying ก็คว้าแชมป์ประเภทเดี่ยว เช่นเดียวกับ Lee Yong-dae และ Yoo Yeon-seong ชายคู่มือ 1 โลกขณะนั้น เรียกความมั่นใจโดยคว้าแชมป์ Superseries รายการแรกของปีสำเร็จ เช่นเดียวกับ Xu Chen และ Ma Jin ก็ได้แชมป์คู่ผสมและการันตีโควตาไปโอลิมปิก
 
  จากนั้นก็เป็นรายการสุดท้ายก่อนโอลิมปิก คือ Australian Open ซึ่ง Hans-Kristian Vittinghus กับ Saina Nehwal สามารถคว้าแชมป์ซูเปอร์ซีรีส์รายการแรกของปีสำเร็จ ส่วนหญิงคู่ เป็น Bao Yixin กับ Chen Qingchen ที่คว้าแชมป์ และเป็นการปรากฎตัวบนคอร์ตเขียวครั้งแรกของ Chen Qingchen ให้โลกรู้จัก

เดือนสิงหาคม ...นักแบดมินตันมือดีทั้งหมดไปชุมนุมกันที่บราซิล

แน่นอนว่า แบดมินตันโอลิมปิก 2016 มีผลการแข่งขันที่ถือว่า"พลิกล็อค"พอสมควร เพราะ "จีน" ไม่ได้เป็นมหาอำนาจลูกขนไก่เช่นเดิม โดยได้แชมป์เพียงชายเดี่ยวจาก Chen Long  และชายคู่จาก Fu Haifeng กับ Zhang Nan
 
  ขณะที่หญิงเดี่ยวเป็น Carolina Marín จากสเปน ที่ดูเหมือนปีนี้ เธอตั้งเป้าหมายเฉพาะรายการนี้ เพราะใน 12 รายการซูเปอร์ซีรีส์ รวมทั้ง Superseries Finals เธอไม่สามารถเข้าไปเล่นในวันสุดท้ายได้เลยแม้แต่รายการเดียว

ส่วนจีน ถือว่าผิดหวังสำหรับหญิงเดี่ยว เพราะไม่ได้เหรียญอะไรเลย แถม  Li Xuerui แชมป์เก่าที่ลอนดอนก็บาดเจ็บและยังไม่กลับมาลงสนามจนกระทั่งถึงตอนนี้

ส่วนหญิงคู่ Misaki Matsutomo กับ Ayaka Takahashi โชว์ฟอร์มสมราคามือ 1 โลก ขณะที่คู่ผสม Tontowi Ahmad กับ Liliyana Natsir ได้แชมป์แบบสมศักดิ์ศรี

โอลิมปิดจบลงพร้อมการประกาศเลิกเล่นทีมชาติหลายคน และที่"ช็อค"แฟนๆมากที่สุด น่าจะเป็น Lee Yong-dae และ Yoo Yeon-seong ชายคู่มือ 1 โลกขณะนั้น รวมทั้ง  Tang Yuanting กับ Yu Yang และ Wang Shixian กับ Wang Yihan ในประเภทหญิงเดี่ยว

หลังโอลิมปิก เป็นรายการ Japan Open ที่ญี่ปุ่น

ที่นี่ Lee Chong Wei กลับมาคว้าแชมป์อีกครั้ง พร้อมๆกับการปรากฎตัวของ "ตุ๊กตาจีน" He Bingjiao ที่คว้าแชมป์หญิงเดี่ยว พร้อมกับถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวแทนของ 2 หวัง 1 ลี คู่กับ Sun Yu ผู้เข้าชิง Super Series ถึง 4 รายการ..แต่พลาดแชมป์หมด
เช่นเดียวกับหญิงเดี่ยว จีนส่ง"หอคอยคู่"เข้ามาสู่วงการ และ Li Junhui กับ Liu Yuchen ก็คว้าแชมป์ชายคู่ที่โตเกียว ก่อนจะชิงแชมป์อีกครั้งที่เกาหลี แต่ได้แค่รองแชมป์ เพราะรายการที่เกาหลี ดูจะเป็นเกมของนักแบดมินตันเกาหลี ที่พวกเขาเข้าชิงทั้ง 5 ประเภท แต่ได้แชมป์ 3 ประเภทชายประเภทคู่ ขณะที่ประเภทเดี่ยวพลาดแชมป์ทั้งชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว
 
ที่สำคัญ...Lee Yong-dae และ Yoo Yeon-seong ปิดฉากการเล่นทีมชาติโดยคว้าแชมป์ชายคู่ในบ้านในการลงแข่งขันรายการสุดท้าย

จากเกาหลีไปยุโรปในเดือนตุลาคม

เริ่มที่เดนมาร์ค ที่ "สอง ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข" ประกาศศักดาคว้าแชมป์ระดับ Superseries Premier คนแรกของไทย เมื่อชนะ Son Wan-ho ผู้สร้างประวัติศาสตร์เข้าชิง Superseries ปีนี้ 3 รายการและพลาดทั้ง 3 รายการที่สิงคโปร์ เกาหลีและเดนมาร์ค
 


ส่วนหญิงเดี่ยว Akane Yamaguchi ได้แชมป์ 2 รายการติดกันต่อจากที่เกาหลี 

ถัดมาเป็นรายการที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเวทีประกาศศักดาของนักแบดจีน โดยเข้าชิง 4 ประเภท ยกเว้นชายคู่ และคว้าแชมป์ทั้ง 4 รายการ แถมยังเป็นนักแบด"คลื่นลูกใหม่"ทั้งสิ้น นั่นคือ Shi Yuqi ในประเภทชายเดี่ยว He Bingjiao ในประเภทหญิงเดี่ยว Chen Qingchen / Jia Yifan ในประเภทหญิงคู่ และ Zheng Siwei / Chen Qingchen ในประเภทคู่ผสม

ส่งผลให้กองเชียร์จีนเริ่ม"คุ้น"หากปี 2017 จะไม่มีนักแบด"บิ๊กเนม"หน้าเดิมชื่อเดิมลงสนาม
ปิดท้าย 2 รายการที่จีนและฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน
 
ที่ประเทศจีน รายการ  China Open เป็น Jan Ø. Jørgensen ที่คว้าแชมป์ชายเดี่ยว โดยชนะ Chen Long ที่กลับมาเคาะสนิมหลังจบโอลิมปิกในสภาพที่ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ขณะที่หญิงเดี่ยว Pusarla Venkata Sindhu ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดหญิงเดี่ยวคนแรกที่ไม่ใช่สาวจีนที่คว้าแชมป์

แถมเป็นครั้งแรกที่จีนไม่ได้แชมป์แม้แต่ประเภทเดียวในการแข่งขันในบ้านตัวเอง

จากนั้นเป็นรายการสุดท้ายที่ฮ่องกง
 

หนุ่มฮ่องกง Ng Ka Long คว้าแชมป์ชายเดี่ยวให้แฟนๆทั้งสนามเฮกันทั่ว ขณะที่ Tai Tzu-ying คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวพร้อมขึ้นเป็นมือ 1 โลก เช่นเดียวกับ Takeshi Kamura กับ Keigo Sonoda จากญี่ปุ่นที่ได้แชมป์ชายคู่และขึ้นเป็นคู่มือ 1 โลก

หลังจบ 12 รายการ สายตาแฟนแบดมินตันทั่วโลกก็จับตาไปดูเกมปิดฤดูกาล 2016 ที่ดูไบ

โดยรายการนี้ Viktor Axelsen ที่ไม่ได้แชมป์อะไรเลยทั้งปี กลับคว้าแชมป์ แถมชนะ Lee Chong Wei ในรอบแรก ขณะที่ Tai Tzu-ying คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าเธอเป็นมือ 1 โลกไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เช่นเดียวกับ 3 นักแบดวัยรุ่นจีนจาก 2 ประเภท คือ Chen Qingchen และ Jia Yifan ในประเภทหญิงคู่ และ  Zheng Siwei กับ Chen Qingchen ในประเภทคู่ผสม

ซึ่งเหมาะสมแล้ว ที่ BWF ยกให้ Chen Qingchen เป็นนักแบดมินตันที่น่าจับตามองมากที่สุดในปีนี้

ปี 2016 ปิดฉากไปแล้ว..ความสำเร็จ ความผิดหวัง เป็นเรื่องธรรมดาของวงการกีฬา ที่มีผู้ชนะและผู้แพ้ในสนามแข่ง

ผู้แพ้ ต้องฝึกหนักต่อไปเพื่อกลับมาเป็นผู้ชนะในวันหน้า ขณะที่ผู้ชนะ ก็ต้องฝึกซ้อมหนักขึ้นเพื่อรักษาชัยชนะต่อไป

สำหรับผู้ติดตาม ขออวยพรให้ปีหน้า ปี 2017 เป็นปีที่ดี เป็นปีที่สุขภาพแข็งแรง มีความสุขทั้งการชมและเล่นแบดมินตัน
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๐
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ