ปัญหาของไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย คือนักกีฬาไทยที่ไม่ใช่ทีมชาติชุดใหญ่ แทบจะไม่มีโอกาสได้เดินทางไปแข่งขันรายการต่างๆ ที่รวมถึงระดับเยาวชน จะด้วยปัญหาติดการเรียนของเด็กๆหรืออะไรก็ยากที่จะมาอธิบาย |
ยิ่งปี 2021 น่าเสียดายที่ศึกชิงแชมป์เยาวชนโลกที่กำหนดที่นิวซีแลนด์ต้องยกเลิกจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้นักกีฬาหลายคนพลาดโอกาสลงสนามทดสอบฝีมือกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน |
แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี นั่นคือ “อะตอม” ศิรดา รุ่งพิบูลโสภิษฐ์ มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันระดับเยาวชนที่ยุโรปในช่วงปลายปีกับเพื่อนร่วมทีม ได้สร้างผลงานน่าพอใจ โดยเฉพาะ”อะตอม”ที่คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวที่เดนมาร์กและโปรตุเกส แถมชนะมือหนึ่งของรายการจากอินโดนีเซีย ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีเวทีและโอกาส นักกีฬาเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติไหน |
เพราะที่น่าสนใจคือ”อะตอม”ในวัย 16 ที่คว้าแชมป์รุ่น U19 ที่ยุโรป อันดับโลกหญิงเดียวอยู่ที่ 109 ที่มี Stephanie WIDJAJA จากอินโดนีเซียเป็นมือหนึ่ง และมี “แครอท” พรพิชชา เชยกีวงศ์ อยู่อันดับ 3 ที่แสดงให้เห็นว่าเรายังมีนักกีฬามากมายรอเสริมทีมชาติ แต่ต้องได้ลงสนามแข่งขัน |
แถมยังมี”น้องพิ้งค์” พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ และ “น้องส้ม” สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ น้องสาวของ “วิว” กุลวุฒิ สองสาวอายุน้อยที่ยังไม่ได้ไปร่วมแข่งขันในต่างประเทศมากนัก แต่แฟนแบดมินตันไทยรู้จักกันดีในฐานะ ”คลื่นลูกใหม่” ของวงการ |
สถานการณ์ Covid-19 ทำให้ปีนี้ไม่มีศึกระดับเยาวชนมากนัก แต่เชื่อว่าในปี 2022 เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลงตัว ทำให้นักกีฬาระดับเยาวชนไทยได้ลงสนามมากขึ้น แล้วแฟนแบดมินตันไทยก็จะเห็นว่าเรามีนักกีฬาแถวสองมากฝีมือมากมายรอมาเสริมทีมเพื่อเป็นคลื่นลูกใหม่มาทดแทนคลื่นลูกเก่า |