รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
โปรแกรมโหด...การเสี่ยงบาดเจ็บของนักกีฬาในปีนี้
  29 พ.ค. 2563
แบ่งปัน



การระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้สหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) ต้องระงับและเลื่อการแข่งขันแบดมินตันทุกรายการหลังจบการแข่งขัน All England เมื่อกลางเดือนมีนาคม และเพิ่งประกาศโปรแกรมใหม่ออกมา ดูแล ”น่าวิตก” สำหรับนักกีฬา
 
  เพราะโปรแกรมการแข่งขันที่จะกลับมา ”เริ่มใหม่” ตั้งแต้เดือนสิงหาคม ทำให้ช่วงระยะเวลา 5 เดือนไปจนถึงสิ้นปี 2020 ถือเป็นช่วงโปรแกรมโหดสำหรับนักกีฬา ที่แทบจะต้องลงสนามแข่งขันและเดินทางทุกสัปดาห์ ที่อาจจะส่งผลกระทบมากมาย นั่นคือบาดเจ็บก่อนจะถึงรายการใหญ่สุด คือการแข่งขันโอลิมปิกในปีหน้า
 
 
 
ความจริงแล้ว จะโทษ BWF ในการจัดโปรแกรมก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด นั่นเป็นเพราะหลายทัวร์นาเมนต์การแข่งขัน จะต้องจัดขึ้นตามสัญญา และเมื่อการแข่งขันต้องเลื่อนจากโปรแกรมเดิมเพราะเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้แม้จะพยายาม ”ตัด” โปรแกรมการแข่งขันที่ไม่จำเป็นต้องแข่งขันออกไป แต่ก็ยังมีรายการ BWF Tour Super อีกมากมายหลายรายการในหลายประเทศที่ยังต้องแข่งขัน จึงส่งผลให้ 5 เดือนสุดท้ายของปี คือสิงหาคมจนถึงธันวาคม เป็นช่วงที่นักกีฬาจะต้องบริหารเวลา ทั้งการฝึกซ้อม เดินทาง แข่งขัน พักผ่อน เพื่อรักษาสภาพร่างกาย เพราะจะต้องไปแข่งขันตามกฎของ BWF ที่ ”อันดับโลก” กำหนดให้ต้องไปลงสนาม  
 
  เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่จะต้องถือเป็นเดือน Warm-Up ของนักกีฬา เพราะมีการแข่งขันเพียงระดับ BWF Tour Super 100 ให้ลงสนาม ตั้งแต่ Hyderabad Open 2020 ที่อินเดียในวันที่ 11-16 ต่อด้วย Lingshui China Masters 2020 ที่ประเทศจีนในวันที่ 25-30
 
จากนั้น เดือนกันยายนก็เริ่มถือว่าเข้มข้นขึ้น เพราะตั้งแต่วันแรก คือ 1-6 กันยายน ก็จะมีการแข่งขัน YONEX Taipei Open 2020 ซึ่งเป็นรายการระดับ HSBC BWF World Tour Super 300 ก่อนที่สัปดาห์ต่อมา คือวันที่ 8-13 จะเป็นการแข่งขัน Korea Open 2020 ที่เป็นรายการระดับ HSBC BWF World Tour Super 500 และได้พักเพียงวันสองวัน ก็จะเป็นรายการใหญ่ระดับ Super 1000 นั่นคือ VICTOR China Open 2020 ในวันที่ 15-20 กันยายน และปิดท้ายของเดือนด้วย DAIHATSU YONEX Japan Open 2020 วันที่ 22-27 กันยายน   
 
  จบจากญี่ปุ่น พอขึ้นเดือนตุลาคม นักกีฬาทั้งหมดก็ต้องเดินทางไปยุโรปเพื่อปรับสภาพร่างกาย โดยในช่วงวันที 3-11 ตุลาคม นักกีฬาหลายคนก็จะต้องลงสนามให้ทีมชาติในศึก TOTAL BWF Thomas & Uber Cup Finals 2020 ที่เดนมาร์ค ขณะที่นักกีฬาบางคนที่ไม่มีภารกิจทีมชาติ ก็อาจจะได้โอกาสไปแข่งขันรายการระดับ Super 100 คือ YONEX Dutch Open 2020 ในช่วงเดียวกันคือวันที่ 6-11 ตุลาคม
 
แต่นักกีฬาก็จะไม่ได้พักยาว เพราะในสัปดาห์ต่อมา คือวันที่ 13-18 ตุลาคม ก็มีศึก DANISA Denmark Open 2020 ที่เป็นการแข่งขันระดับ HSBC BWF World Tour Super 750 ต่อด้วยรายการระดับเดียวกันคือ YONEX French Open 2020 ที่ฝรั่งเศสในวันที่ 20-25 ตุลาคม ถือเป็น 3 สัปดาห์โหดของปีนี้  


 
  จึงเป็นไปได้ว่ารายการ Macau Open 2020 ที่เป็นศึก HSBC BWF World Tour Super 300 ที่มาเก๊าในวันที่ 27 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน อาจจะมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันไม่มากนัก และมือระดับโลกอาจจะไม่มาแข่งขัน เพื่อถนอมร่างกายหลังเล่นรายการใหญ่ติดต่อกัน
 
จากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน  ก็มี ”รายการใหญ่” มากมาย ที่เริ่มจาก Fuzhou China Open 2020 ซึ่งเป็นรายการ  World Tour Super 750 ในวันที่ 3-8 แล้วเป็น YONEX-SUNRISE Hong Kong Open 2020 ในวันที่ 10-15 ตามมาด้วยรายการ Super 1000 คือ BLIBLI Indonesia Open 2020 ในวันที่ 17-22 และ CELCOM AXIATA Malaysia Open 2020 รายการ Super 750 ในวันที่ 24-29  
 
  โปรแกรมใหญ่ที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย น่าจะทำให้รายการระดับ Super 300 ที่แข่งพร้อมกันคือ Syed Modi India International 2020 ที่อินเดีย กับ GWANGJU Korea Masters 2020 ที่เกาหลี อาจจะ ”กร่อย” เพราะคงไม่มีนักกีฬาระดับโลกไปแข่งขันเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เพราะมือดีของเจ้าภาพก็ต้องไปแข่งขันรายการใหญ่ตาม World Ranking
 
ในเดือนธันวาคม การแข่งขันจะเริ่มด้วย TOYOTA Thailand Open 2020 ที่เป็นรายการ Super 500 ในวันที่ 1-6 ธันวาคม ต่อด้วย YONEX-SUNRISE India Open 2020 ที่เป็นรายการระดับเดียวกันในวันที่ 8-13 และปิดท้ายรายการ HSBC BWF World Tour Finals ที่ประเทศจีนในวันที่ 16-20 ธันวาคม  
 
  จะเห็นว่า แม้ BWF พยายาม ”ตัด” รายการที่สามารถตัดออกจากโปรแกรมได้ เช่น YONEX Akita Masters 2020 และ Vietnam Open 2020  ในเดือนสิงหาคม หรือ Indonesia Masters 2020 Super 100 ในเดือนกันยายน แต่ก็ยังมีมากหมายหลากโปรแกรมที่นักกีฬาถูกบังคับให้ไปแข่งขันตามกฎที่บังคับนักกีฬาอันดับดีเข้าร่วมแข่งขัน
 
เมื่อบวกกับประกาศใหม่ของ BWF ที่ขยายโปรแกรมและการแข่งขันเพื่อสะสมคะแนนไปโอลิมปิก ก็ยิ่งทำให้นักกีฬา จะต้องตัดสินใจว่าจะ”เสี่ยง”ลงแข่งขันให้มากที่สุดเพื่อเก็บคะแนน หรือ”พัก”เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุดในรายการที่เลือก ก็ถือเป็นโจทย์ยากสำหรับการหาคำตอบ  
 
  เพราะ ”บทเรียน” ที่นักกีฬาหลายคน ”บาดเจ็บ” จากการกรำศึก เช่นที่ ”เมย์” รัชนก อินทนนท์ เจอกับตัวเองหลังคว้าแชมป์ 3 รายการใน 3 สัปดาห์ ที่อินเดีย มาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อต้นปี 2016 จนทำให้ร่างกาย ”ล้า” ก่อนไปแข่งขันโอลิมปิกปีเดียวกัน ถือเป็นบทเรียนสำคัญของนักกีฬาหลายคน



ปลายปี 2020 จึงถือเป็นช่วง ”ปีหฤโหด” ของนักแบดมินตันอย่างแท้จริง
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ