รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
มาเลเซียรุ่นใหม่ ..โมเดลน่าจับตามอง
  21 ก.พ. 2563
แบ่งปัน



ศึกชิงแชมป์เอเชียประเภททีมที่เพิ่งจบไป ถือว่า ”ตัวเก็ง” คว้าแชมป์ไปได้ตามคาด นั่นคือ ”อินโดนีเซีย” เป็นแชมป์ประเภททีมชาย และ ”ญี่ปุ่น” คว้าแชมป์ทีมหญิง ส่วนทีมไทย ต้องถือว่าทำผลงาน ”ไม่ดีเท่าที่ควรเป็น” นั่นคือในประเภททีมหญิง ที่ผ่านมาถึงรอบรองชนะเลิศก่อนจะแพ้เกาหลี 1-3 ขณะที่ทีมชาย ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายหลังแพ้อินเดีย 2-3
 
  วันนี้อยากเขียนถึง ”มาเลเซีย” ที่กำลังเข้าสู่ยุค ”สร้างทีมใหม่” อย่างเต็มตัว และทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะทีมชาย ที่ผ่านมาถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะได้ ”รองแชมป์” เมื่อแพ้อินโดนีเซีย 1-3 แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทีม ”เด็กใหม่” ชุดนี้ การเอาชนะเกาหลีในรอบ 8 ทีมสุดท้ายแบบขาดลอย 3-0 นอกจากจะเข้าถึงรอบรองที่ไปชนะญี่ปุ่น 3-0 แล้ว ผลงานที่สามารถผ่านมาถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ยังทำให้พวกเขาได้โควตาเป็นทีมสุดท้ายของเอเชียในการเข้าแข่งขัน Thomas Cup ที่เดนมาร์ค
 
นี่คือ ”มาเลเซีย”ในยุคที่ถือว่าส่วนใหญ่เป็น ”มือใหม่” ที่ผ่านการเจียรนัยมาอย่างดีจากทีมงานผู้ฝึกสอน โดยยอม”อดทน”ทั้งนักกีฬาและโค้ชในการเดินทางไปแข่งขันและจบลงโดยไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่สิ่งที่ได้ก็คือ การรู้ว่าตัวเองยังไม่ดีพอ ยังอยู่ในระดับไหน ที่นำมาเพื่อพัฒนายกระดับตัวเอง  

ความจริงแล้ว ”มาเลเซีย” ชุดนี้ถือว่าขาด ”บิ๊กเนม” โดยเฉพาะการเลิกเล่นของ Lee Chong Wei ยอดนักแบดชายเดี่ยวตำนานโลก และการออกจากแคมป์ทีมชาติของ Goh V Shem / Tan Wee Kiong และ Chan Peng Soon / Goh Liu Ying นักกีฬาชายคู่และคู่ผสมที่มีดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิก 2016 มาทั้งคู่
 
  การไปฟิลิปปินส์ของมาเลเซียที่ทีมชายประกอบด้วย Cheam June Wei , Chia Aaron , Goh Sze Fei , Izzuddin Nur , Lee Zii Jia , Leong Jun Hao , Ng Tze Yong , Ong Yew Sin , Soh Wooi Yik และ Teo Ee Yi พร้อมได้ตำแหน่ง”รองแชมป์เอเชีย”กลับบ้าน จึงถือเป็นความสำเร็จที่สมาคมแบดมินตันมาเลเซียได้เครดิตจากแฟนๆไปเต็มๆ เมื่อเลือกใช้”เด็กใหม่”หลายคนไปมะนิลา
 
โดยเฉพาะเกมรอบ 8 ทีมที่ชนะเกาหลีใต้และรอบรอง ที่ชนะญี่ปุ่น 3-0 ที่ใช้ผู้เล่นหน้าเดิม นั่นคือ Lee Zii Jia เป็นชายเดี่ยวมือหนึ่ง ต่อด้วย Aaron Chia / Soh Wooi Yik เป็นชายคู่มือหนึ่ง และ Cheam June Wei ลงสนามในฐานะชายเดี่ยวมือ 2 โดยชายคู่มือ 2 และชายเดี่ยวมือ 3 ไม่ได้ลงสนาม  

ที่สำคัญ ในรอบชิงชนะเลิศ CHEAM June Wei ที่ลงคู่ที่ 3 ในฐานะชายเดี่ยวมือ 2 ยังสามารถเซฟ 3 แมทช์พอยต์จาก Jonatan CHRISTIE ก่อนพลิกกลับมาชนะ 21-16,17-21,24-22 ให้มาเลย์ตีตื้นมาเป็น 1-2 ที่ถือว่า”สอบผ่าน”ในการเจอกับ ”บิ๊กเนม”
 
  นี่คือสิ่งที่มาเลเซียใช้โมเดลเดียวกับที่ ”จีน” นำมาใช้หลังโอลิมปิกในประเภทหญิงเดี่ยว ที่เมื่อนักตบลูกขนไก่ชั้นนำพาเหรดเลิกเล่นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ที่ส่งผลให้ 2-3 ปีแรกที่ลงสนาม นักกีฬาหญิงเดี่ยวจีนแทบจะไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แถมยังได้แค่ ”รองแชมป์” ในศึก Uber Cup 2018 ที่ประเทศไทย
 
แต่เมื่อนักกีฬาทั้งหมดได้ลงสนาม ปรับตัว ปรับฟอร์มต่อเนื่องจนสามารถยกระดับฝีมือขึ้น ถึงเวลานี้ นักกีฬาหญิงเดี่ยวของจีนก็ไม่ใช่ ”มือใหม่” ในการลงดวลกับนักกีฬาชาติอื่น และทั้งหมดก็เป็นกำลังสำคัญในการลงสนามและเป็นส่วนหนึ่งใน ”จีน” คว้าแชมป์ Sudirman Cup 2019 โดยชนะ ”เต็งหนึ่ง” ญี่ปุ่นแบบง่ายเกินคาด 3-0  

มาเลเซียก็เช่นกัน สมาคมแบดมินตันมาเลเซียได้ตัดสินใจส่งนักกีฬารุ่นใหม่ไปแข่งขันรายการต่างๆเพื่อประเมินผลและนำผลกลับมาเป็นการบ้านสำหรับทีมงานผู้ฝึกสอนและนักกีฬาว่าจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน จนนักกีฬาหลายคนถือว่า”สอบผ่าน”ในระดับหนึ่ง รอเพียงการเพาะบ่มและใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการพัฒนาสู่ระดับโลก
 
  นี่คือสิ่งที่เป็นความจริงว่า ”สนามแข่ง” คือที่วัดผลดีที่สุดของนักกีฬา และ ”มาเลเซีย” ก็ใช้โมเดลนี้ตามแบบ ”จีน” ในการยกระดับพัฒนาตัวเองจนก้าวมาถึงจุดนี้ได้ โดยทั้งหมดเริ่มฉายรัศมีในการแข่งขันซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปลายปีก่อน ที่สามารถคว้า 3 แชมป์ในประเภทบุคคล คือ Lee Zii Jia ในประเภทชายเดี่ยว Kisona Selvadurayn ในประเภทหญิงเดี่ยว และ Aaron Chia / Soh Wooi Yik ในประเภทชายคู่
 
ซึ่งในศึกชิงแชมป์เอเชียครั้งนี้ “ทีมชาย” ของไทยก็น่าจะได้รับบทเรียนที่ควรจะนำกลับมาศึกษา เพราะในรอบ Quarter Final กับอินเดีย ทีมชาติไทยขึ้นนำก่อน 2-0 จากนักกีฬารุ่นใหม่ คือ “กัน” กันตภณ หวังเจริญ ที่ชนะ Sai Praneeth B. 21-14, 14-21, 21-12 และ ”วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่โชว์ฟอร์มระดับโลกเอาชนะ Kidambi Srikanth 22-20, 21-14 แต่ใน 3 คู่หลัง เมื่อไทยใช้นักกีฬา”หน้าเดิม”ที่อินเดีย ”รู้ทาง”  ทีมไทยก็แพ้ทั้ง 3 คู่ตกรอบแบบน่าเสียดาย  

นั่นหมายถึงนักกีฬารุ่นใหม่ของเรามีฝีมือ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสในการลงสนาม 

การพัฒนาของมาเลเซียในครั้งนี้ เป็นทั้ง ”บทเรียน” และ ”โมเดล” ที่สมาคมแบดมินตันไทยต้องนำมาเรียนรู้ ในห้วงเวลาที่นักกีฬาหลายคนเริ่มเตรียมรีไทร์จากอายุที่มากขึ้น

เพราะสัจธรรมกีฬาอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ดีเสมอก็คือ ”คลื่นลูกใหม่” ย่อมไล่ ”คลื่นลูกเก่า” เสมอ
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ