เขียนถึง "โค้ชแบดมินตัน" มาให้ได้คิดกัน 2 ตอน ดูจะยังไม่มีคำตอบว่า "ประเทศไทย" ควรจะมี โค้ชคนไทยหรือโค้ชต่างชาติ
นี่คงเป็นคำถามแบบ "กำปั้นทุบดิน" ไม่ต่างจากทีมฟุตบอลอาชีพ ที่มักจะมีคำถามว่าควรจะเลือกโค้ชสัญชาติไหน เพราะถึงปัจจุบัน ก็มีทีมชาติหลายประเทศก็เลือกใช้ "โค้ชต่างชาติ" หากมองว่า "เหมาะสม"
|
|
แต่การเลือกโค้ชทีมชาติของกีฬาแบดมินตัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยมากมาย เรื่องสำคัญที่สุดคือแบบกีฬาแบดมินตัน "โค้ชทีมชาติ" นี่ต่างจาก"โค้ชสโมสร" ที่สามารถซื้อตัวผู้เล่นต่างชาติได้ ตัวอย่างเช่น ลีกแบดมินตันอินเดีย ที่สมาคมแบดมินตันอินเดียต้องการจะให้เป็นลีกแบดมินตันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งฤดูกาลหน้าจะเริ่มในเดือนมกราคม 2017 มีการประมูลซื้อตัวนักแบดชื่อดังหลายคนมาร่วมทีม โดย Carolina Marin มีค่าตัวสูงสุด รองมาเป็น Sung Ji Hyun จากเกาหลี และ Jan O'Jorgensen หนุ่มเดนมาร์ค |
ขณะที่นักแบดทีมชาติ ไม่สามารถ "ซื้อตัว" ผู้เล่นฝีมือดีจากต่างชาติมาเป็นนักแบดมินตันทีมชาติได้ ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้น เช่นกรณีของ Liang Xiaoyu นักแบดหญิงเดี่ยวมือ 1 สิงคโปร์ ก็เป็นเด็กหญิงเกิดจากจีน หรือ ชยุต ตรียะชาติ ก็เป็นเด็กไทยที่โอนสัญชาติไปเล่นให้สิงคโปร์ แม้กระทั่ง ศตวรรษ พงษ์นัยรัตน์ ที่เล่นให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิก 2016 ก็เป็นเด็กไทยที่ไปเรียนต่อและทำงานที่สหรัฐฯ
แต่นั่นเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับนักแบดมากมายที่เล่นทีมชาติแต่ละชาติ
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ "โค้ชแบดมินตัน" มีมาก แต่มีให้เลือกน้อย ที่บอก "โค้ชแบดมินตัน" มีมากมาย ก็เพราะทุกวันนี้ กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬายอดนิยม มีหลายประเทศให้ความสนใจและพัฒนากีฬาแบดมินตันในประเทศตัวเอง ส่งผลให้นักแบดมินตันที่มีอายุมากขึ้น ผันตัวเองจากการเป็น "ผู้เล่น" มาเป็น"โค้ช" โดยเริ่มจากงานเล็กๆ เช่น เปิดสอนเด็กๆ ไปจนถึงการเป็นโค้ชสโมสรต่างๆ ก่อนจะพัฒนาไปเป็นโค้ชระดับชาติ
แน่นอนว่าสิ่งแรกก็คือ "โค้ชแบดมินตัน"ต้องรู้เรื่องแบดมินตัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นักแบดมินตันฝีมือดีจะเป็นโค้ชที่ดีได้ทุกคน |
|
|
แล้วประเทศไทยควรจะเลือกแบบไหน คำถามนี้ เป็นคำถามง่ายๆ ที่ตอบยากมาก แต่ถ้าจะสรุปให้ตรงประเด็นมากที่สุดก็คือ ต้องเลือกแบบ "รู้เขารู้เรา" นั่นคือ อย่างน้อย "โค้ช" ต้องรู้จัก "ผู้เล่น" ที่จะมาดูแล อย่างกรณี Peter Gade ไปคุมทีมชาติฝรั่งเศส ก็เพราะเขาคุ้นเคยกับนักแบดทีมชาติฝรั่งเศสหลายคน หรือแม้แต่ Tat Meng Wong ที่สก๊อตแลนด์เลือกมาคุมทีมชาติเพื่อเตรียมตัวในศึก World Championships ในบ้านปีหน้า ก็เพราะ Tat Meng Wong รู้จักและคุ้นเคยนักแบดสก็อตแลนด์หลายคนที่เคยลงเล่นรายการ Commonwealth Games เมื่อปี 2014
ดังนั้น การเลือกโค้ช สิ่งสำคัญแรกจึงควรเป็น "คนคุ้นเคย" ที่รู้จักกันมา ไม่ใช่ "คนแปลกหน้า" ที่ต้องมาทำความรู้จักและนับหนึ่งกันใหม่
มองถึงตรงนี้ พอจะนึกภาพออกแล้วหรือยังว่า "ทีมชาติไทย" ควรเลือกใครเป็นโค้ช
กล่าวถึง "คุณสมบัติ" ของโค้ชแบดมินตันที่ควรจะเลือกมาแล้ว จะบอกว่าง่ายก็ง่าย จะบอกว่ายากก็ยาก แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ การเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
อย่างน้อย 3 โค้ชที่เพิ่งลาออกหลังจบโอลิมปิก คือ สมพล คูเกษมกิจ, อุดม เหลืองเพชราภรณ์ และ ศักดิ์ระพี ทองสาริ ที่ตัดสินใจลาออก ควแสดงให้เห็นว่ามี "ปัญหาเล็กๆ" เกิดขึ้นแน่นอน เพราะทั้ง 3 โค้ชดูแลนักแบดทีมชาติไทยมาช้านาน ดูแลกันมาตั้งแต่บางคนยังเพิ่งเริ่มจับไม้แบด แถมยังพูดภาษาเดียวกัน การเปลี่ยนโค้ชจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่เขียน
ในกรณีที่ส่งทีมชาติไปแข่งขัน ทัวร์นาเมนต์ละอย่างน้อย 10 คนมาจาก 10 ครอบครัว ถูกเลี้ยงมาคนละแบบ นิสัยใจคอคนละอย่าง ...ดูแลไม่ง่าย
ดังนั้น ตัวเลือกแรกจึงต้องเป็น "โค้ช" ที่ "รู้จัก" นักกีฬา ...อาจจะถึงขั้นต้องรู้จักและรู้ใจทุกคน
รู้จักและรู้ใจในมุมที่ว่า นักกีฬาคนไหน "ขี้เกียจซ้อม" คนไหน "ขยันซ้อม" คนไหน "หัวแข็ง"
นอกเหนือจากคุณสมบัติประจำชาติ เช่นที่กล่าวกันว่า "นักแบดเอเชีย" เป็นพวก "ขี้เกียจซ้อม" และมีโลกส่วนตัวสูง คนที่จะมาเป็นโค้ชนักแบดเอเชีย จึงต้อง "นิ่ง" และ"อดทน" กับการ "ดื้อเงียบ" ของนักแบดในภูมิภาคนี้ ซึ่งต่างจากนักกีฬายุโรป ที่ใส่ใจเรื่องการฝึกซ้อมสูง ดูแลตัวเองแบบ "มืออาชีพ" |
|
|
การที่ฝรั่งเศสเลือก Peter Gade หรือ Tat Meng Wong ที่ถูกสก๊อตแลนด์เลือก ไปดูและ Tat Meng Wong จึงอยู่ในเงื่อนไขไปดูเรื่อง "เทคนิค" มากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งต่างจากกรณีของ Lee Chong Wei ที่เลือก Hendrawan จากอินโดนีเซียมาเป็นโค้ชส่วนตัว ก็เพราะเขาต้องการมาเติมสิ่งที่ขาดเรื่องจิตใจกับเกมระดับใหญ่ๆและเทคนิคต่างๆเพราะ Hendrawan เป็นนักแบดมินตันประเภทเดี่ยวที่ผ่านสนามมาอย่างโชกโชน หรือแม้แต่กรณีที่ญี่ปุ่นเลือก Park Joo-bong มาดูแลทีม ก็เพราะเชื่อในความมีวินัย ความแข็งกร้าวและฝีมือเทคนิคพละกำลังเพื่อควบคุมนักกีฬาญี่ปุ่นจนทำให้นักกีฬาญี่ปุ่นที่มีสรีระร่างกายเล็กสามารถต่อสู้ในเวทีโลกได้ หรือล่าสุดเกาหลีเลือกใช้โค้ชจากอินโดนีเซียก็เพราะต้องการมาเติมเทคนิคเพราะนักกีฬาเกาหลีมีวินัยและความแข็งแรงมากเทียบเท่าจีนเพียงแต่ขาดเทคนิคเท่านั้น
สำหรับไทย ในเมื่อจะก้าวไกลในโลกกีฬาแบดมินตัน นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องหา "โค้ชแบด" มาดูแลทีมชาติ โดยมีเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือไม่ควรเป็น "คนแปลกหน้า" ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำไมทางสมาคมไม่ลองมองนักกีฬาที่เคยเป็นกำลังหลักของชาติ เช่น ส้ม สรารีย์ ทุ่งทองคำ หรือ เต่า สุดเขต ประภากมล หรือแม้กระทั้ง แมน บุญศักดิ์ พลสนะ เพราะทั้งสามคนนี่ผ่านเกมระดับโลก เคยเป็นมืออันดับโลกต้นๆ และมีผลงานมาแล้วมากมายหรือแม้กระทั่งโค้ชอาทดอย โค้ชบอล ที่ดูแลอยู่ตอนนี้ ถ้าสมาคมต้อง เลือกใช้ก็ควรจะแต่งตั้งหรือประกาศออกมาให้ชัดว่าอยู่ตำแหน่งไหน ที่สำคัญทั้งหมดที่เอ่ยถึงต้องบอกว่ารู้นิสัยนักกีฬาดีแทบจะทุกคน ว่าขยันหรือขี้เกียจ อย่างไร สมาคมต้องดูถึงความเหมาะสมเป็นสำคัญ ต้องมองถึงปัจจุบันนักกีฬาที่จะสร้างอ่อนด้อยหรือเด่นตรงไหน เพราะการใช้โค้ชบางครั้งอาจจะไม่เหมาะกับนักกีฬาที่มีในตอนนี้ ยกตัวอย่างชัดๆ เช่นสโมสรแกรนนูลาร์ รับโค้ชจากสมาคมแบดอินโดมาทำทีม 2 ปี แต่ผลงานที่ออกมาไม่ได้โดดเด่นมากนัก พอโค้ชเหล่านั้นกลับไปอินโดนีเซียได้รับมอบหมายให้คุมคู่ผสมทำไมคู่ผสมของอินโดนีเซียถึงได้เหรียญทองโอลิมปิค จึงขอฝากเป็นข้อแนะนำให้สมาคมแบดหาคนที่มองทะลุและเข้าใจสภาพความเป็นจริงที่สุดว่าเรามีนักกีฬาแบบไหนและต้องใช้โค้ชแบบไหนมาควบคุม ส่วนจะเป็นโค้ชไทยหรือโค้ชต่างชาติ ก็เป็นการบ้านที่สมาคมแบดมินตันไทยฯ ต้องคิดกันเอง
(ดอกปีกไก่)