การ ”ผลัดใบ” ของนักกีฬาแต่ละชาตินั้นถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นช่วงเวลาที่จะต้อง ”ทำใจ” ยอมรับผลงานตกต่ำ ที่อาจจะไม่มีแชมป์สำหรับ ”เลือดใหม่” มาให้กองเชียร์ชื่นชม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อ ”เลือดใหม่” สามารถยกระดับพัฒนาฝีมือ แฟนแบดมินตันก็จะเริ่มชื่นชมและอิ่มเอมกับชัยชนะ |
อย่างเช่น ทีมชาติจีน หลังการเลิกราพร้อมกันของนักกีฬาหญิงเดี่ยวที่เรียกกันติดปากว่ายุค ”สองหวังหนึ่งหลี่” ทำให้นักกีฬารุ่นใหม่ที่ถูกส่งขึ้นมาทดแทน ลงสนามแบบไม่สามารถต่อสู่คู่แข่งได้เลยนับแต่สิงหาคม 2016 ที่ Li Xuerui ได้รับบาดเจ็บในรอบรองฯโอลิมปิก 2016 แต่ถึงวันนี้ Chen Yufei ก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งโลกหญิงเดี่ยวด้วยผลงาน 7 แชมป์เมื่อปีก่อน |
หรืออย่าง ”เกาหลี” ที่เลือกสลับคู่นักกีฬา ”หญิงคู่” เพื่อให้นักกีฬาพ้นความจำเจจากการลงสนามร่วมกัน ถึงวันนี้ก่อนจะแข่งขันโอลิมปิก หลายคู่ของเกาหลีในประเภทนี้ ทั้ง Kim So-yeong / Kong Hee-yong คู่ Baek Ha-na / Jung Kyung-eun และ Lee So-hee / Shin Seung-chan ต่างก็คว้า”แชมป์ใหญ่”ในการแข่งขันระดับ Super 750 เมื่อปี 2019 พร้อมสูตร ”ปราบญี่ปุ่น” ก่อนจะถึงโอลิมปิกในเดือนสิงหาคม |
Badmintonthaitoday จึงนำเสนอเรื่องราวเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ”ทบทวน” ว่าถึงเวลาหรือยังที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องหารือและจริงจังกับการพัฒนานักกีฬาไทย ซึ่งแม้จะไม่ทันสำหรับโอลิมปิก 2020 แต่ก็ ”เพื่ออนาคต” ในเอเชียนเกมส์ 2022 ซีเกมส์ 2022 หรือกระทั่ง Thomas&Uber Cup 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง |
การ ”วิจารณ์” นักกีฬานั้นมีทั้งบวกและลบ และสร้างความปั่นป่วนมาแล้ว เช่นนักกีฬาเกาหลีที่โดนแฟนแบดมินตันถล่มหลังจบโอลิมปิก 2016 ที่จบโดยไม่มีเหรียญทองจนนักกีฬาหลายคนถอดใจอำลาทีมชาติ แต่นั่นเป็น ”โลกโซเชียล” ที่ ”ใครไม่รู้” มานั่งวิจารณ์ แต่สำหรับ Badmintonthaitoday เป็นสื่อที่มีตัวตน เป็นการวิจารณ์แบบ ”ติเพื่อก่อ” เพราะอยากเห็นนักกีฬาไทยพัฒนา แม้การ ”ติ” อาจจะทำให้นักกีฬาบางคนน้อยใจ |
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าแฟนแบดมินตันไทย เป็นแฟนกีฬาที่ใจดีที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับนักกีฬาอื่นๆ เช่น ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย หากแพ้ก็จะโดนถล่มแบบนักกีฬาไม่กล้าเปิดโซเชียลกันดู แต่สำหรับแฟนแบดมินตันไทย แม้นักกีฬาไทยแพ้มือที่ต่ำกว่า ก็จะยังได้รับคำชมว่า ”ทำดีแล้ว” จนอาจจะทำให้นักกีฬาไทยลงสนามแบบ”สบายใจ”เพราะแม้จะแพ้ก็จะมีแฟนๆบอก ”ทำดีแล้ว” และให้ ”สู้ต่อไป” |
เริ่มที่ประเภทชายเดี่ยว ที่กล่าวได้ว่า หลังจากหมดยุค ”ซูเปอร์แมน” พลศักดิ์ บุญสนะ และ ”สอง” ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ก็ยังหานักกีฬาชายเดี่ยวไทย ”ระดับโลก” ได้ยาก โดยความหวังในปัจจุบันอยู่ที่”กัน”กันตภณ หวังเจริญ ที่ขณะนี้อยู่อันดับ 13 ของโลก แต่ก็มี ”ความจริง” ที่น่าเจ็บปวดก็คือ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา “กัน” ไม่เคยคว้าแชมป์รายการ BWF World Tour ได้เลย |
นอกจากนั้นก็มี ”โอ๊ต” สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์ มือ 25 โลก ที่อย่างน้อยปี 2019 ที่ผ่านมา ก็มี ”แชมป์” ระดับ Super 300 คือรายการ Macau Open มาประดับเกียรติประวัติ และเป็นนักกีฬาไทยคนเดียวที่ได้แชมป์ BWF World Tour ในรอบ 2 ปีหลังจากที่ปี 2018 “โอ๊ต” เป็นแชมป์ระดับ Super 100 คือแชมป์ชายเดี่ยว Akita Masters ที่ญี่ปุ่น |
โดยนักกีฬาที่สมาคมจะต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ ”ไบรท์” สัพพัญญู อวิหิงสานนท์ ที่อันดับโลกร่วงไปอยู่ที่ 46 และในวัย 30 ที่จะต้องห่วงหน้าที่การงานด้วย ดูเหมือน ”สมาธิ” ของ”ไบรท์” จะไม่นิ่งในการแข่งขัน โดยในปี 2019 “ไบรท์” มีผลงานที่น่าตกใจคือตกรอบแรกถึง 16 รายการในการแข่งขัน 19 รายการ ดังนั้นเราควรจะให้ไบรท์ใช้ประสบการณ์ในสนามที่รับใช้ชาติมายาวนานนำมาสอนรุ่นน้องๆ ต่อไป |
ในประเภทหญิงเดี่ยวนั้น แน่นอนว่า 4 สาวไทยทั้ง”เมย์” รัชนก อินทนนท์ , “ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธ์ , “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ และ ”แน๊ต” ณิชชาอร จินดาพล ยังคงเกาะกลุ่มเป็นมือท็อปของโลก แต่สมาคมก็ต้องเตรียมที่จะหา ”คลื่นลูกใหม่” มาเสริมทีม โดยเฉพาะ ”จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ ที่น่าจะ ”โตพอ” สำหรับการลงสนาม |
อย่าลืมว่าการประกาศของ ”แน๊ต” ในวัย 28 ในการแข่งขันซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี ว่านี่เป็นการแข่งขันซีเกมส์ครั้งสุดท้ายของเธอ ก็เป็นการบอกใบ้ถึงสมาคมฯว่าจะต้องหา ”คนใหม่” มาแทนที่ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าสำหรับนักแบดมินตันหญิงเดี่ยว วัย 28 คือวัยที่เตรียมเลิกเล่น เช่นที่ Wang Yihan อดีตมือหนึ่งโลกจากจีนก็เลิกเล่นทีมชาติในวัย 28 โดยบอกว่า ”แก่” เกินที่จะต่อสู้กับเด็กๆ |
ในประเภทชายคู่ ถือเป็นประเภทที่ไทยไม่มีนักกีฬาทอปของโลกในวันนี้ โดยคู่ที่มีอันดับโลกดีที่สุดคือ ”อาร์ท-เอ” บดินทร์ อิสระ / มณีพงษ์ จงจิตร เป็นนักกีฬาทีมชาติอยู่อันดับ 43 ของโลก ตามด้วยคู่ ”ติน-ดีโก้” ติณณ์ อิสริยะเนตร / กิตติศักดิ์ นามเดช อันดับ 73 แต่ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ”ติน-ดีโก้” ไม่ได้เล่นคู่กันแล้ว ทั้งๆที่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา นักกีฬาชายคู่ไทยที่ได้แชมป์การแข่งขัน BWF Worod Tour มีเพียง”ติน-ดีโก้” ที่ได้แชมป์ Thailand Masters เมื่อปี 2018 |
มาถึงประเภทหญิงคู่ที่ดูจะมี ”กิ๊ฟ-วิว” จงกลพรรณ กิตติธรากุล / รวินดา ประจงใจ หญิงคู่มือ 9 ของโลก ที่สามารถไปร่วมแข่งขัน BWF World Tour Final ได้ 2 ปีติดต่อกันเป็นคู่เอก ขณะที่คู่ ”เอิร์ธ-ปอป้อ” พุธิตา สุภจิรกุล / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มือ 18 ของโลก ก็ดูจะยังคงเป็นปริศนา เพราะแม้ปี 2019 จะทำผลงานคว้าแชมป์ Thailand Master แต่ก็เป็นคำถามว่าจะจับคู่กันอีกนานแค่ไหน |
เพราะเป็นที่รู้กันว่า ”ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ยังมีภาระในประเภทคู่ผสมกับ ”บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ ที่อยู่อันดับ 4 ของโลกและทำผลงานดีต่อเนื่อง ทำให้การเล่น 2 ประเภท “ปอป้อ” มักจะ ”ล้า” เช่นการแข่งขัน Malaysia Master รอบ 2 เมื่อวาน(9ม.ค.)จนสุดท้ายตกรอบทั้ง 2 ประเภท |
ทางออกเรื่องนี้จึงน่าจะเริ่มการจับคู่ ”เอิร์ธ-เฟรม” พุธิตา สุภจิรกุล / ศุภิสรา แพรวสามพราน อย่างจริงจัง เพราะปี 2019 ทั้งคู่ยังเคยคว้าแชมป์รายการเล็กๆได้ที่แสดงว่ายังสามารถพัฒนาต่อไป หรือคู่นักกีฬาอื่นๆจากระดับเยาวชนที่เคยฝากผลงานมาให้ชมกันแล้ว |
ปิดท้ายในประเภทคู่ผสม ที่ยังมี”บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มือ 4 ของโลกเป็นตัวชูโรง และทำผลงานดีต่อเนื่อง ขณะที่ ”ต้นน้ำ-เอ็มเอ็ม” นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร / สาวิตรี อมิตรพ่าย คู่มือ 19 ของโลกก็ยังไม่สามารถหาฟอร์มเก่งได้ โดยแชมป์ล่าสุดของคู่นี้ต้องย้อนไปปี 2018 คือ Vietnam Open |
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน นักกีฬาไทยมีจำนวน ”น้อยมาก” เมื่อเทียบกับโปรแกรมการแข่งขันที่มีมากมายในทุกระดับ และดูจะเป็นการบ้านใหญ่ของสมาคมแบดมินตันฯว่าจะบริหารนักกีฬาแบบไหน เพราะจำนวนนักกีฬาไทยที่สมาคมฯจะส่งไปแข่งขันต่างประเทศ กล่าวได้ว่ามีจำนวนที่แฟนแบดมินตันไทยรู้ดีว่ามีแค่ไหน และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ไทยแทบจะไม่มีนักกีฬาหน้าใหม่มาเสริมทีมชาติเลย ทั้งๆที่นักกีฬาไทยมากมายหลายคนมีฝีมือดี แต่ขาดการนำตัวมาพัฒนาในแคมป์ทีมชาติ |