ปี 2019 ถือเป็นปีที่การแข่งขันแบดมินตันมีทั้งความตื่นเต้น สนุกสนาน มีทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตาทั้งในคอร์ตและนอกคอร์ต มีทั้งความทรงจำที่ดีและความทรงจำที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น และนี่คือ 10 ที่สุดแห่งปีที่ Badmintonthaitoday ประมวลภาพออกมา
1. ขยันและมุ่งมั่นที่สุด คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
ปี 2019 ถือเป็นปีที่คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ทำหน้าที่ในฐานะนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯได้แบบไม่เหน็ดเหนื่อย หลังจากผลักดันให้รายการแข่งขันในประเทศไทยยกระดับขึ้นมาเป็นรายการระดับ Super 500 ที่หมายถึงรายการที่นักกีฬาชั้นนำของโลกจะมาร่วมแข่งขัน
|
|
การเป็น ”รายการใหญ่” นอกจากเป็นข่าวดีสำหรับแฟนแบดมินตันไทยที่จะได้ชมนักกีฬาขั้นนำระดับโลกมากมายแล้ว ยังเป็นการยกระดับนักกีฬาไทย เพราะหมายถึงจะได้เรียนรู้และต่อสู้กับนักกีฬาชั้นนำของโลก ที่สำคัญคือ สมาคมแบดมินตันฯยังสามารถผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพ Thomas&Uber Cup 2018 และจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 2022 |
“ผลงาน” ในความมุ่งมั่นที่ทุ่มเทเพื่อแบดมินตัน ทำให้ในการประชุมสหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ประเทศจีน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ยังได้รับการคัดเลือกในที่ประชุมที่มีชาติสมาชิก 145 ประเทศ ด้วยคะแนนเสียงชนะคู่แข่ง 176-88 ขึ้นเป็นรองประธาน BWF โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปีคือ 2019-2021
นี่จึงเป็นข่าวดีสำหรับวงการแบดมินตันไทยไปอย่างน้อยอีก 2 ปี |
|
|
2. นักกีฬาชายเก่งที่สุด Kento Momota
ปี 2019 ถือเป็น
”ปีทอง” ของ Kento Momota เมื่อสามารถคว้า 10 แชมป์ แถมส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันระดับใหญ่ตามแรงกิ้งในฐานะมือหนึ่งโลก ทำให้ในวัยเพียง 25 เขามีดีกรี”แชมป์”ติดมือถึง 32 รายการ โดยรายการใหญ่ที่
”รอคอย” ก็คือการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่บ้านเกิดในปีหน้า ปี 2019 Kento Momota สามารถสร้างตำนานโดยคว้าแชมป์ทุกระดับ นั่นคือ BWF Worlf Tour Super 1000 ได้ 2 รายการคือ All England กับ China Open รายการระดับ Super 750 อีก 3 รายการคือ Japan Open , Denmark Open และ Fuzhou China Open รายการ Super 500 คือ Singapore Open กับ Korea Open และรายการ Super 300 คือ German Open
นอกจากนั้น เขายังเป็นแชมป์โลก BWF World Championships และแชมป์เอเชีย Asian Championships ก่อนปิดฤดูกาล 2019 ด้วยการคว้าแชมป์ BWF World Tour Finals เป็นแชมป์ที่ 11 ของตัวเองในปีนี้ จนต้องยอมรับว่า 2019 เป็นปีทองของ Kento Momota
3. นักกีฬาหญิงเก่งที่สุด Chen Yufei
สำหรับนักกีฬาหญิง ปีนี้ต้องถือว่า Chen Yufei สามารถ
”แจ้งเกิด” และเป็น
”ความหวังใหม่” ของแฟนแบดมินตันจีนที่เงียบเหงามายาวนานในการเชียร์นักกีฬาหญิงเดี่ยวหลังหมดยุค”สองหวังหนึ่งลี” เมื่อเธอสามารถคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวรายการต่างๆมากถึง 7 รายการ
|
|
แม้ BWF ประกาศว่านักกีฬาหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2019 คือ Huang Yaqiong นักกีฬาคู่ผสมจากจีน แต่สำหรับแฟนแบดมินตันทั้งจีนและทั่วโลกต่างก็มองว่า Chen Yufei น่าจะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นแชมป์มากกว่า แถมเป็นแชมป์เดี่ยว แต่การที่นักกีฬาคู่ผสมได้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยมของ BWF อาจจะเป็นเพราะมีดีกรีแชมป์โลกที่ Chen Yufei ไม่สามารถทำได้ |
โดย 7 แชมป์ของ Chen Yufei ในปีนี้ คือรายการระดับ Super 1000 ที่อังกฤษคือ All England ระดับ Super 750 คือรายการ Fuzhou China Open ในบ้านเกิด ต่อด้วย Super 500 อีก 2 รายการคือ Thailand Open กับ Hong Kong Open และปิดท้าย Super 300 อีก 2 รายการคือ Swiss Open กับ Australian Open ก่อนจะจบปีด้วยการเป็นแชมป์ BWF World Tour Finals |
|
|
4. การอำลาคอร์ตของราชาและราชินี
13 มิถุนายน 2019 คือวันที่แฟนแบดมินตันไม่อยากเห็นก็เกิดขึ้น เมื่อ Lee Chong Wei ประกาศอำลาสนามโดยถ่ายทอดสดผ่าน Youtube ออกไปทั่วโลก
|
|
น้ำตาที่หลั่งออกมาในการแถลงการณ์ข่าว แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการตัดสินใจ แต่เพื่อสุขภาพ นักแบดมินตันชายเดี่ยวที่ครองบัลลังก็มือหนึ่งโลกยาวนานที่สุดก็ต้องตัดสินใจทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยต้องทิ้งความฝันที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกสมัยที่ 5 ที่มี ”เหรียญทอง” เป็นเป้าหมายสูงสุด |
ปี 2019 จึงเป็นปี ”ปิดฉาก” การแข่งขันของ ”ราชา” ที่ถูกขนาดนามว่า ”ราชาไร้บัลลังก์” เพราะ Lee Chong Wei เป็นนักแบดมินตันที่คว้าแชมป์มากที่สุดในโลกคือ 69 ทัวร์นาเมนต์ แต่ไม่เคยได้ ”แชมป์ใหญ่” นั่นคือแชมป์โอลิมปิกที่เขาชิงชนะเลิศ 3 ครั้งในปี 2008 2012 และ 2016 และพ่ายทั้ง 3 ครั้ง รวมทั้งเป็น”รองแชมป์โลก”อีก 3 ครั้ง |
|
|
นอกจาก
”ราชา” แล้ว ปีนี้ยังเป็นปีประกาศรีไทร์ของ
”ราชินี” เมื่อ Li Xuerui ประกาศเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2019 ว่าจะไม่กลับมาลงสนามอีกครั้ง หลังกลับมาลงสนามเมื่อการผ่าตัดเรียบร้อยแต่ไม่สามารถลงเล่นในสภาพความฟิตเต็มร้อยเหมือนเดิม พร้อมปิดฉากนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวหมายเลขหนึ่งของโลกที่มี 30 แชมป์ในการลงเล่น
Li Xuerui สามารถรางวัลใหญ่คือเหรียญทองโอลิมปิก 2012 แต่ก็พลาดการเป็นแชมป์โลก เมื่อเข้าชิง 2 ปีคือ 2013 และ 2014 แต่ก็พ่ายทั้ง 2 ครั้ง และครองบัลลังก์มือหนึ่งโลกหญิงเดี่ยว 124 สัปดาห์ โดยเมื่อกลับมาลงสนามในปี 2018 ยังสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 4 รายการ ก่อนจะไม่มีรางวัลติดมือในปี 2019 จึงประกาศอำลาสนามเพราะรู้ว่าสภาพร่างกายไม่สามารถลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับใหญ่ได้
5. ความหวังสูงสุดของไทย “เมย์”รัชนก อินทนนท์
แม้ปี 2019 อาจจะมีคนมองว่าฟอร์มของ ”เมย์” รัชนก อินทนนท์ ค่อนข้างเงียบ คือได้แชมป์ 2 รายการในระดับ Super 500 คือรายการ Malaysia Masters ที่ชนะ Carolina Marín กับรายการ India Open ที่ชนะ He Bingjiao บวกกับ 3 รองแชมป์ระดับ 500 คือ Hong Kong Open , Korea Open และ Thailand Open และรองแชมป์ระดับ 300 คือ German Open แต่อย่าลืมว่านี่เป็นปีที่นักกีฬาหลายคนเลือกที่จะเล่นไม่ครบทุกรายการ
|
|
คงจะจำได้ว่าเมื่อปี 2016 ก่อนไปแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอ “เมย์” สร้างปรากฏการณ์คว้า 3 แชมป์รายการ Super Series ใน 3 สัปดาห์ พร้อมขึ้นเป็นมือหนึ่งโลกในเดือนเมษายน แต่สุดท้าย จากการลงสนามหนักต่อเนื่องก่อนโอลิมปิก ทำให้เมื่อถึงการแข่งขันในเดือนสิงหาคม “เมย์” ก็เกิดอาการ ”ล้า” จนตกรอบเร็วเกินคาด |
ปี 2019 อาจจะเป็นปีที่ไม่หวือหวาหรือสร้างผลงานได้ดีของ”เมย์” แต่เชื่อว่านี่คือการวางแผนและเตรียมพร้อมเพื่อรายการใหญ่คือโอลิมปิก 2020 ในปีหน้า
6. แชมป์โลกที่รอคอยของ P. V. Sindhu
ปี 2019 ไม่ได้เป็นปีที่ดีมากนักของ P. V. Sindhu ที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นนักแบดมินตันหมายเลขหนึ่งของอินเดียแล้ว เพราะแทบจะไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยรายการแข่งขันของ BWF World Tour เธอสามารถผ่านเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศเพียงรายการเดียว คือ Indonesia Open แต่ได้แค่รองแชมป์ แต่ในที่สุด โลกแบดมินตัน ก็ต้องบันทึกชื่อ P. V. Sindhu ในฐานะสุดยอดนักแบดมินตันหญิงเดี่ยว เมื่อเธอสามารถเอาชนะ Nozomi Okuhara 21-7,21-7 พร้อมคว้าแชมป์โลก BWF World championships มาครองสำเร็จ หลังจาก
”อกหัก” มาแล้ว 2 ครั้งที่แพ้ Nozomi Okuhara ในปี 2017 และแพ้ Carolina Marin ในปี 2018
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเพียงแชมป์เดียวคือแชมป์โลก แต่ P. V. Sindhu ก็เป็นความหวังของแฟนแบดมินตันอินเดียในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 หลังจากปี 2016 ที่เธอได้เหรียญเงิน โดยการบ้านใหญ่สุดในปีหน้าของเธอก็คือ ใครจะมาเป็นโค้ชหลังจากแยกทางกับ Kim Ji Hyun ยอดโค้ชชาวเกาหลีที่เป็น
”ผู้สร้าง” ให้เธอเป็นแชมป์โลก
7. สโมสรแกร่งสุดของไทย..บ้านทองหยอด
สำหรับแบดมินตันทั่วโลก ชื่อของ
”บ้านทอดหยอด” เป็นสโมสรที่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งมีโปรแกรมในปฏิทินการแข่งขันของ BWF นั่นคือ YONEX-SINGHA-ROZA BTY Junior International Series 2020 ในวันที่ 21-16 เมษายน
|
|
ในวันนี้ ”บ้านทองหยอด” ถือเป็นอีกหนึ่งสโมสรที่ ”ปั้น” นักกีฬามาให้ทีมชาติไทย โดยชุดปัจจุบันก็มี ”เมย์” รัชนก อินทนนท์ เป็นตัวหลัก และปีหน้าก็จะมี 2 เยาวชนที่จะเข้ามาชุดใหญ่ นั่นคือ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน กับ ”จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ ที่มาในลุคใหม่เป็นสาวผมสั้น |
นอกจากนั้น “บ้านทองหยอด” ยังเคยเป็นที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาระดับโลกคือ Carolina Marín มาแล้ว
ส่วนอีก 2 สโมสรใหญ่ที่ต้องเอ่ยถึง คือ Scg Badminton Academy ที่ยังคงเน้นเป็นผู้ทำหน้าที่ ”เบื้องหลัง” ในการผลิตนักกีฬา ที่ปัจจุบันมี “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสม และ ”เอิร์ธ-ปอป้อ”พุธิตา สุภจิรกุล / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย หญิงคู่ที่อาจจะต้องตัดสินใจว่าจะแยกคู่เพื่อให้ ”ปอป้อ” มีสมาธิในประเภทคู่ผสมสำหรับโอลิมปิก 2020 เพียงประเภทเดียวหรือไม่ |
|
|
ขณะที่
”แกรนนูลาร์” ก็ถือเป็นสโมสรที่ผลิตนักกีฬาเยาวชนได้ดี โดยปี 2019 มีนักกีฬาจากสโมสรนี้ไปแข่งขันและคว้าแชมป์ในระดับเยาวชนที่ยุโรป แต่เมื่อพ้นจากรับเยาวชน ดูเหมือนสโมสรนี้จะไม่สามารถ
”ต่อยอด” นักกีฬาให้ก้าวข้ามขั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับ
”แกรนนูลาร์” ก็ยังถือเป็นหนึ่งในสถาบันแบดมินตันที่น่าสนใจ โดย An Se-young ดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งปีจากเกาหลี ก็เป็นนักกีฬาเยาวชนที่มาเพาะบ่มเรียนรู้ที่นี่ และในขณะนี้ก็คือ Anastasiia SHAPOVALOVA นักกีฬาเยาวขนมือดีจากรัสเซียที่กำลังฝึกซ้อมอยู่
8. ทีมผิดหวังแห่งปี..ทีมชาติญี่ปุ่นในศึก Sudirman Cup
ในการแข่งขัน Sudirman Cup เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ทีมชาติญี่ปุ่น” ถือเป็น
”เต็งหนึ่ง” และเดินทางมาในฐานะทีมวางอันดับหนึ่งที่แฟนแบดมินตันทั่วโลกเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นแชมป์ ที่นำทีมโดย Kento MOMOTA ชายเดี่ยวมือหนึ่งโลก Akane YAMAGUCHI กับ Nozomi OKUHARA 2 สาวดีกรีมือหนึ่งโลก Hiroyuki ENDO / Yuta WATANABE ชายคู่ดีกรีแชมป์เอเชีย Yuki FUKUSHIMA / Sayaka HIROTA, Mayu MATSUMOTO / Wakana NAGAHARA และ Misaki MATSUTOMO / Ayaka TAKAHASHI 3 หญิงคู่ดีกรีแชมป์มากมาย ปิดท้ายด้วย Yuta WATANABE / Arisa HIGASHINO คู่ผสมที่ดีที่สุดในรอบหลายปีของประเทศ
|
|
แต่สุดท้าย อาจจะเพราะความกดดัน ทำให้ ”ญี่ปุ่น” ไปไม่ถึงแชมป์ โดยในรอบแบ่งกลุ่มชนะไทย 4-1 และชนะรัสเซีย 3-2 และมาชนะมาเลเซีย 3-0 ในรอบน็อคเอาท์ ก่อนจะชนะอินโดนีเซีย 3-1 ในรอบรองชนะเลิศ |
ในรอบชิงชนะเลิศที่เชื่อว่า ”ญี่ปุ่น” จะเป็นแชมป์ กลับกลายเป็นเพราะวางตัวผิดพลาด โดยเลือก Yuta WATANABE ลงเล่น 2 ประเภท และเลือก ”ชายคู่” ลงเป็นคู่แรก แต่กลับกลายเป็น Hiroyuki Endo / Yuta Watanabe เล่นไม่ออก แพ้ Li Junhui / Liu Yuchen 18-21,10-21 ทำให้ทีมตกในสถานการณ์ลำบาก เพราะนี่เป็นประเภทที่หวังเก็บคะแนนแรก |
|
|
จากนั้นเป็นหญิงเดี่ยว ที่โค้ชเลือก Akane Yamaguchi ลงเจอ Chen Yufei ที่เชื่อว่าจะชนะ แต่กลับเป็นสาวจีนเอาชนะ 2-1 เกม 17-21,16-21,17-21
ในคู่ที่ 3 เป็นประเภทชายเดี่ยวที่ญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะชนะเพื่อตีตื้นมาเป็น 1-2 ก่อนจะเอาชนะในประเภทหญิงคู่แล้วค่อยสู้กันแบบชิงดำในประเภทคู่ผสม แต่สุดท้าย Shi Yuqi กลับงัดฟอร์มเก่ง เอาชนะ Kento Momota ที่กล่าวกันว่าไม่มีทางที่จะพ่ายใครง่ายๆ 2-1 เกม 15-21,5-21,11-21
“ญี่ปุ่น” ในฐานะทีมวางและเต็งหนึ่ง..จึงเป็นทีมที่ผลงานอกหักที่สุดแห่งปี
9. ทีมอนาคตของไทย
ปี 2019 ถือเป็นปีที่นักกีฬาไทยทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยระดับ Super 750 และ 1000 ไม่มีนักกีฬาไทยได้แชมป์ ขณะที่ระดับ 500 ก็มีเพียง ”เมย์” รัชนก อินทนนท์ กับ ”บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คว้าแชมป์คู่ผสม
|
|
ส่วนรายการ 300 ก็มี ”โอ๊ต” สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์ ที่ฟอร์มกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นคว้าแชมป์ที่มาเก๊าร่วมกับ ”บาส-ปอป้อ” ขณะที่ ”กิ๊ฟ-วิว” จงกลพรรณ กิตติธรากุล คว้าแชมป์หญิงคู่ที่ ไต้หวัน |
ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายปีในการแข่งขันซีเกมส์ ก็ถือว่าทีมไทยทำผลงานได้น่าผิดหวัง เมื่อมีเหรียญทองเพียงเหรียญเดียวในประเภททีมหญิง ขณะที่ประเภทบุคคล มี 2 เหรียญเงินจากชายคู่คือ ”อาร์ท-เอ” บดินทร์ อิสระ /มณีพงษ์ จงจิตร และหญิงคู่ ”เบสท์-จ๋อมแจ๋ม” ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม/ ผไทมาส เหมือนวงศ์ |
|
|
แต่ในปี 2020 จะเป็นปีที่
”ทีมอนาคต” ของไทยที่นำโดย ”วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ กับ ”จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ จะลงสนามเต็มตัวเพื่อทดแทนรุ่นพี่บางคนที่เตรียมจะรีไทร์ด้วยภารกิจหน้าที่การงานและสภาพร่างกาย จึงถือเป็นปีที่ท้าทายของไทยในการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 3-4 ปีที่ไม่มีนักกีฬาหน้าใหม่เข้ามาทดแทน
10. น่ารักที่สุด..แฟนแบดมินตันไทย
สำหรับ
”สุดยอดแห่งปี” ที่กำลังจะหมดไป Badmintonthaitday ขอยกย่องให้กับ
”แฟนแบดมินตันชาวไทย” ทุกคน ที่ส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาไทยกันมาทั้งปี
กล่าวได้ว่า แฟนแบดมินตันไทยถือเป็นแฟนกีฬาที่น่ารักที่สุดในโลก โดยแทบจะไม่มีการตำหนิติเตียนนักกีฬา ซึ่งหากมองในอีกมุม อาจจะไม่ช่วยในการพัฒนา เพราะเมื่อแพ้กลับมา จะมีแฟนๆบอกนักกีฬาเสมอว่า
”ทำดีที่สุดแล้ว” จนบางครั้งนักกีฬาไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหายที่
”แพ้” ซึ่งต่างจากกีฬาอื่น เช่น ฟุตบอล แต่มองในทางบวก ก็ทำให้นักกีฬามีกำลังใจที่จะแข่งขัน และก็อยู่ที่นักกีฬาเหล่านั้นว่าจะเร่งพัฒนาต่อไปหรือไม่
ปี 2019 เป็นปีที่แฟนแบดมินตันไทยอาจจะไม่สมหวังมากนัก แต่เชี่อว่าปี 2020 นักกีฬาไทยจะมีพัฒนาการมากขึ้นกับการแข่งขันรายการใหญ่มากมายหลายรายการ
และเชื่อว่าแฟนแบดมินตันไทยไม่ทอดทิ้งกัน