เขียนเรื่องทีมไทยยังไม่มีโค้ชทีมแบดมินตัน หลายคนอาจจะสงสัยว่า "โค้ชแบดมินตัน" จำเป็นจริงหรือ
คำตอบอาจจะยากที่จะอธิบาย แต่คำถามที่ให้ตอบ อาจจะทำให้ทราบคำตอบ
คำถามที่ว่าก็คือทำไมทีมชาติญี่ปุ่นตั้งคนเกาหลีเป็นเฮดโค้ช ทำไมลีชองเหว่ยเลือกนักแบดอินโดนีเซียมาเป็นโค้ช ทำไมอินเดียจ้างโค้ชชาวมาเลยเซีย ทำไมฝรั่งเศสดึงปีเตอร์ เกด มาเป็นเฮดโค้ช หรือล่าสุดทำไมเกาหลีเลือกใช้โค้ชจากอินโดนีเซีย
คำถามเหล่านี้ น่าจะเป็นคำตอบว่า "โค้ชแบดมินตัน" สำคัญและจำเป็นจริงไหม |
|
|
ไม่ต้องมองย้อนไกลไปถึงอดีต ที่หลายชาติดึงนักแบดมินตันมือดีต่างชาติมาดูแลเพื่อพัฒนานักแบดมินตันตัวเอง
เอาแค่ช่วงสั้นๆในรอบปีสองปี ก็จะเห็นภาพ "ความสำคัญ" ว่าทำไมสมาคมแบดมินตันฯ จึงควรจะเร่งตั้งโค้ชมาดูแลนักแบดมินตันทีมชาติไทย หลังจากที่ทีมชาติไทย "ร้าง" โค้ชดูแลนักแบดมายาวนาน
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ยิ่งปล่อยไว้ จะยิ่งเป็นปัญหา
|
|
Morten Frost หรือชื่อเต็ม Morten Frost Hansen เจ้าของฉายา Mr Badminton เป็นตัวอย่างชัดเจนจากประเทศเพื่อนบ้านเรา
Morten Frost บินตรงจากเดนมาร์ค มารับตำแหน่ง"ประธานฝ่ายเทคนิค หรือ technical director ของสมาคมแบดมินตันมาเลเซีย เมื่อปี 2015 ในอัตราค่าจ้างที่ว่ากันว่าสูงที่สุดที่เคยมีโค้ชแบดมินตันคนไหนเคยได้รับ โดยมีเป้าหมายเดียวคือ "เหรียญทองโอลิมปิก" |
อันนี้ต้องบอกว่าเป็นการหวนกลับมารอบ 2 หลังจากที่ช่วงปี 1997-2000 เขาเคยมาคุมทีมชาติมาเลเซียอยู่แล้วในฐาน "โค้ช" แต่การมาในฐานะ "ประธานเทคนิค" ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญที่สมาคมแบดมินตันมาเลเซียนอกเหนือจากเหรียญทองแบดมินตันโอลิมปิก 2016 แล้วก็ยังมาเพื่อ"วางแผน"พัฒนาผู้เล่นทุกระดับ เพราะในตอนที่ Morten Frost มาดูแลทีมแบดมินตันมาเลเซีย กล่าวได้ว่า มาเลเซียมีเพียง Lee Chong Wei เท่านั้น เมื่อ Koo Kien Keat กับ Tan Boon Heong 2 ผู้เล่นชายคู่เตรียมตัวเลิกเล่น
สิ่งที่ Morten Frost ดำเนินการก็คือ ระบบการพัฒนาเยาวชนและการฝึกซ้อม
ตัวเลขจำนวนคอร์ตแบดและจำนวนผู้เล่นแบดมินตันในมาเลเซีย ทำให้ Morten Frost ประกาศเป้าหมาย"เพิ่ม"จำนวนนักแบดที่จะต้องพัฒนาฝีมือเพื่อ"ป้อน"ทีมชาติ หลังสำรวจตัวเลขพบว่าทั่วประเทศมียิมเนเซียมแบดมินตัน 4,000 แห่ง จึงตั้งเป้าหมายว่าทุกยิมเนเซียมจะต้องสร้างนักแบดมินตันรุ่นใหม่ปีละ 10 คนตั้งแต่ 2016 หรือมีนักแบดมินตันหน้าใหม่รุ่นแรกอย่างน้อย 40,000 คน เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนทีมชาติรุ่นใหม่
โดยเป้าหมายที่ Morten Frost วางไว้ก็คือ สร้างนักแบดมินตันรุ่นใหม่เพื่อส่งแข่งขันระดับชาติตั้งแต่ 200,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ่นจากปัจจุบันที่มาเลเซียมีนักแบดมินตันที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับชาติเพียง 4,800 คนเท่านั้น
โดยตามแผนงานที่ Morten Frost ดำเนินการก็คือ การจัดลีกแบดมินตันในประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักแบดหน้าใหม่"ทดลอง"ลงแข่งกับ"นักแบดหน้าเก่า
สุดท้าย ในริโอ 2016 แบดมินตันโอลิมปิก 2016 มาเลเซียเข้าชิงเหรียญทองถึง 3 ประเภท ซึ่งแม้จะได้แค่เหรียญเงินจาก Lee Chong Wei ในประเภทชายเดี่ยว Goh V Shem กับ Tan Wee Kiong ในประเภทชายคู่ และ Chan Peng Soon กับ Goh Liu Ying ในประเภทคู่ผสม ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่เป็นแชมป์ Thomas Cup ในปี 2014
|
|
คนที่มาดูแลทีมชาติญี่ปุ่นในครั้งนั้นคือ Park Joo-bong ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแบดประเภทคู่ที่เก่งที่สุดคนแรกของเกาหลี เจ้าของเหรียญทองชายคู่โอลิมปิก 1992 แชมป์โลกชายคู่ 2 ครั้ง คู่ผสม 3 ครั้ง เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ชายคู่ 1 เหรียญและคู่ผสม 2 เหรียญ
สำหรับญี่ปุ่น การจ้าง "โค้ชต่างชาติ" ในประเทศคู่รักคู่แค้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่มีวันเกิดขึ้น |
แต่การเลือก Park Joo-bong เป็นเพราะญี่ปุ่นมองว่าเพื่อ"สร้างทีมใหม่" หลังจากวงการแบดมินตันญี่ปุ่นซบเซามานานต่อเนื่อง
ความจริงจัง การวางแผนจนถึงการฝึกซ้อม ไม่เพียงทำให้ทีมชายญี่ปุ่นเป็นแชมป์ Thomas Cup ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ยังสร้าง "นักแบดรุ่นใหม่" ขึ้นมามากมายทั้งประเภทเดี่ยวและประเภทคู่ในวันนี้
แม้กระทั่งประเทศที่"โนเนม"ในวงการแบดมินตัน ก็ "ทุ่ม" เรื่องโค้ช
อย่างฝรั่งเศส ที่เลือก Peter Gade มาคุมทีมและนำทัพทีมชาติฝรั่งเศสไปโอลิมปิก 2016 ก็ไม่ได้มีเป้าหมายเรื่อง"เหรียญ" หากแต่ต้องการให้อดีตหนึ่งใน 4 Kings ของวงการแบดมินตัน นำประสบการณ์และความรู้เรื่องแบดมินตันมาเป็นแนวทางสำหรับนักแบดมินตันฝรั่งเศสรุ่นต่อไป
ดังจะเห็นได้จากทวิตเตอร์แรกของ Peter Gade หลังตักสินใจรับงานคุมทีมชาติฝรั่งเศส นั่นคือ "My intention is to inspire and motivate players, management and coaches from top to bottom in setting up a long lasting structure."
หรือล่าสุด Wong Tat Meng อดีตโค้ชประเภทเดี่ยวของมาเลเซีย ผู้สร้าง Goh Jin Wei ขึ้นมาให้โลกแบดมินตันรู้จัก ก็ตัดสินใจรับข้อเสนอไปดูแลทีมแบดมินตันสก๊อตแลนด์ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆสก๊อตแลนด์ "รู้จัก" กีฬาแบดมินตันมากขึ้น โดยเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจที่ Wong Tat Meng บอกว่าเป็นงานที่ท้าทายและน่าสนุกมากกับการ "ปั้นคน" |
|
|
"It's a long process but it was critical that we took more time to find the right person for the position. We are looking for someone who has the credentials and capability to develop our young shuttlers into world class players, and Tat Meng is that right person" คำกล่าวของ Anne Smillie ประธาน หรือ Chief Executive ของสมาคมแบดมินตันสก๊อตแลนด์กล่าวเมื่ออดีตนักแบดมาเลเซียตอบรับคำชวน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า "เป้าหมาย" คืออะไร
นี่จึงเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า "โค้ชแบดมินตัน" สำคัญจริงไหม
จึงอยากจะฝากไปยังสมาคมแบดเมืองไทย ว่าควรจะรีบเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นการด่วน
(ดอกปีกไก่)