รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
บทสรุปผลงานนักแบดโลก 2019 (ตอนที่3)
  20 ธ.ค. 2562
แบ่งปัน
HSBC BWF World Tour 500..ไทยคว้า 4 แชมป์จาก 2 ประเภท

เขียนถึง HSBC BWF World Tour มา 2 ตอนคือระดับ 1000 และระดับ 750 ในตอน 3 นี้จะเขียนถึงการแข่งขันระดับ Super 500 ที่เดิมเราเรียกว่า Super Series ที่ถือเป็นรายการใหญ่ แต่เมื่อ HSBC เข้ามาสนับสนุนและเพิ่มรายได้ให้นักกีฬา ทำให้รายการระดับใหญ่เพิ่มขึ้นคือมีระดับ 1000 และระดับ 750 รวมกัน 8 รายการ ส่วนรายการระดับ Super 500 ก็มีมากถึง 7 รายการ และน่าสนใจว่าทั้ง 7 รายการอยู่ในทวีปเอเชียทั้งหมด หลังจากที่ออสเตรเลีย ไม่สามารถปั้นนักกีฬาระดับโลกในกีฬานี้ได้ จึงถอดใจ ”ลดเกรด” รายการในประเทศลงมาเหลือเพียงระดับ 300 หรือ Grand Prix Gold  เดิม
 
  สำหรับรายการ HSBC BWF World Tour 500 ทั้ง 7 รายการที่จัดในเอเชียคือรายการที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ประเทศไทย เกาหลี และปิดท้ายที่ฮ่องกง ที่ปี 2019 กล่าวได้ว่าแทบจะไม่มี ”แชมป์” เป็นคนหน้าเดิมติดกัน 2 รายการเลย โดยมีเพียง  Marcus Fernaldi Gideon / Kevin Sanjaya Sukamuljo คู่มือหนึ่งโลกชายคู่ ที่ได้แชมป์ 2 รายการแรกคือ Malaysia Masters และ Indonesia Masters
 
โดยรายการแรกในระดับ Super 500 ของปีคือ Malaysia Masters เนื่องจากเป็นรายการใหญ่รายการแรกของปี ทำให้นักกีฬาที่พักกันมาในช่วงรอยต่อปีใหม่เข้าร่วมแข่งขันมากมาย โดย Son Wan-ho คว้าแชมป์ชายเดี่ยวรายการนี้หลังจากเอาชนะ Chen Long ในรอบชิงก่อนจะ ”เจ็บยาว” จนไม่มีผลงานอะไร ขณะที่หญิงเดี่ยว ”เมย์”รัชนก อินทนนท์ เอาชนะ Carolina Marín ในรอบชิง  

ส่วนญี่ปุ่น รายการนี้คว้า 2 แชมป์คือหญิงคู่จาก Yuki Fukushima / Sayaka Hirota และ Yuta Watanabe / Arisa Higashino ในประเภทคู่ผสม
 
  จากนั้นในรายการ Indonesia Masters ก็เป็น Anders Antonsen มา ”แจ้งเกิด” หลังเอาชนะ Kento Momota ในรอบชิงแบบสุดมัน ขณะที่ Carolina Marín ต้องอกหักในรายการที่ 2 ติดต่อกัน แถมบาดเจ็บยาวในรอบชิงที่แพ้ Saina Nehwal โดยเล่นยังไม่ถึงครึ่งเกม
 
การคว้าแชมป์ชายคู่ของ Marcus Fernaldi Gideon / Kevin Sanjaya Sukamuljo ทำให้รายการนี้ เป็นรายการที่นักกีฬาเจ้าภาพคว้าแชมป์ทุกปี นับตั้งแต่เริ่มจัดปีแรกในการแข่งขัน BWF Grand Prix เมื่อปี 2010 ที่ Taufik Hidayat เป็นแชมป์ชายเดี่ยว Mohammad Ahsan / Bona Septano เป็นแชมป์ชายคู่ และ Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir เป็นแชมป์คู่ผสม  
 
  ที่ต้องบันทึกก็คือในปี 2010 ที่อินโดนีเซียจัดครั้งแรกนั้น “เมย์” รัชนก อินทนนท์ เป็นแชมป์หญิงเดี่ยว และครั้งสุดท้ายก่อนจะเป็นการแข่งขัน BWF World Tour ในปี 2018 คือการแข่งขันปี 2016 ก็มี ”ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธ์ เป็นแชมป์หญิงเดี่ยว และปี 2017 ไม่มีการแข่งขันรายการนี้
 
รายการที่ 3 คือ India Open “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ก็ยังแสดงผลงานดีโดยคว้าแชมป์ Super 500 เป็นรายการที่ 2 ของปี ส่วนชายเดี่ยวเป็น Viktor Axelsen คว้าแชมป์แรกของปี และ Lee Yang / Wang Chi-lin ที่จับคู่กันในปีนี้ก็ทำผลงานดี คว้าแชมป์ชายคู่  
 
  สำหรับ”อินเดีย”ต้องถือว่าทำผลงานน่าผิดหวังในบ้าน เมื่อไม่มีนักกีฬาเจ้าภาพได้แชมป์ โดย Srikanth Kidambi ได้รองแชมป์เมื่อแพ้ Viktor Axelsen ในรอบชิง ขณะที่หญิงเดี่ยว P. V. Sindhu ก็แพ้ He Bingjiao ในรอบรองชนะเลิศ เช่นเดียวกับชายคู่ Manu Attri / B. Sumeeth Reddy ที่จบเส้นทางแค่รอบรองชนะเลิศ
 
ในการแข่งขัน Singapore Open เป็นรายการที่ 3 มือหนึ่งโลกในขณะนั้นคว้าแชมป์ คือ Kento Momota เป็นแชมป์ชายเดี่ยว Tai Tzu-ying เป็นแชมป์หญิงเดี่ยว และ Mayu Matsumoto / Wakana Nagahara เป็นแชมป์หญิงคู่  

ส่วนนักกีฬาไทยก็ถือว่าทำผลงานได้ดี เมื่อ”บาส-ปอป้อ”เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คว้าแชมป์คู่ผสม หลังเอาชนะ Tan Kian Meng / Lai Pei Jing จากมาเลเซีย 21-14,21-6 หลังจากรอบรองฯโชว์ฟอร์มเยี่ยม เอาชนะ Zheng Siwei / Huang Yaqiong คู่มือหนึ่งโลกมา 24-22,21-19
 
  ในรายการ Thailand Open เมื่อเดือนสิงหาคม ก็เป็นปีที่กองเชียร์ชาวไทยผิดหวังเล็กๆ เมื่อมีนักกีฬาไทยผ่านเข้ามาถึงวันสุดท้ายเพียงคนเดียว คือ”เมย์”รัชนก อินทนนท์ แถมยังแพ้ Chen Yufei ในรอบชิง ขณะที่ชายคู่อินเดีย Satwiksairaj Rankireddy / Chirag Shetty คว้าแชมป์โดยโค่นมือดีทั้ง Ko Sung-hyun / Shin Baek-cheol ในรอบรอง และ Li Junhui / Liu Yuchen ในรอบชิง
 
ส่วนในประเภทหญิงคู่ แม้ 3 คู่เอกของญี่ปุ่นคือ Mayu Matsumoto / Wakana Nagahara ต่อด้วย Yuki Fukushima / Sayaka Hirota และ Misaki Matsutomo / Ayaka Takahashi ที่มาในฐานะมือ 1-3 ของโลกจะพาเหรดตกรอบ แต่สุดท้าย Shiho Tanaka / Koharu Yonemoto ก็กู้หน้าสาวญี่ปุ่น เมื่อคว้าแชมป์หญิงคู่กลับบ้าน  
 
  ขณะที่ประเภทคู่ผสม Wang Yilü / Huang Dongping ก็ไม่ทำให้กองเชียร์จีนผิดหวัง เมื่อชนะ “บาส-ปอป้อ”ในรอบรอง และคว้าแชมป์หลังเอาชนะ Yuta Watanabe / Arisa Higashino ในรอบชิง แทนที่ Zheng Siwei / Huang Yaqiong คู่มือหนึ่งโลกและมือหนึ่งของรายการที่ถอนตัว
 
ในรายการ Korea Open ก็เป็น Kento Momota กลับมาคว้าแชมป์ชายเดี่ยว ขณะที่นักกีฬาไทย เข้าชิง 2 ประเภท และเป็น”บาส-ปอป้อ”เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คว้าแชมป์เมื่อเอาชนะ Zheng Siwei / Huang Yaqiong ในรอบชิง ส่วน”เมย์”รัชนก อินทนนท์ แพ้ He Bingjiao ในรอบชิงหญิงเดี่ยว  
 
  ส่วนประเภทที่ดุเดือดที่สุดในรายการนี้คือหญิงคู่ ที่สาวเกาหลีกับสาวญี่ปุ่นตบใส่กันแบบไม่มีใครยอมใคร และสุดท้าย Kim So-yeong / Kong Hee-yong ก็คว้าแชมป์หลังชนะ Ayako Sakuramoto / Yukiko Takahata จากญี่ปุ่นในรอบรอง ไปเข้าชิงและชนะ Lee So-hee / Shin Seung-chan เพื่อนร่วมชาติที่ชนะ Nami Matsuyama / Chiharu Shida ในรอบรองอีกคู่ โดย 3 คู่มือดีของญี่ปุ่นตกรอบเร็วเกินคาด
 
นอกจากนั้น อินโดนีเซียก็ยังประกาศความเก่งในประเภทชายคู่ เมื่อ Fajar Alfian / Muhammad Rian Ardianto คว้าแชมป์ โดยชนะ Marcus Fernaldi Gideon / Kevin Sanjaya Sukamuljo ในรอบ Quarter Final ชนะ Li Junhui / Liu Yuchen ในรอบรอง และชนะ Takeshi Kamura / Keigo Sonoda ในรอบชิง  

ปิดท้าย Super 500 รายการสุดท้ายคือ Hong Kong Open ที่จัดขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์วุ่นวายในฮ่องกง ที่ทำให้หลายฝ่าย รวมทั้ง BWF ลังเลว่าเจ้าภาพจะจดการแข่งขันหรือไม่ แต่สุดท้ายก็มีการแข่งขันตามปกติ โดยมือหนึ่งของรายการที่ถอนตัวก็มี Tai Tzu Ying ในประเภทหญิงเดี่ยว กับ Zheng Siwei / Huang Yaqiong มือหนึ่งโลกคู่ผสม
 
  ที่ฮ่องกง นักกีฬาจีนเข้าชิงถึง 3 ประเภท และเป็น Chen Yufei คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวเมื่อเอาชนะ “เมย์”รัชนก อินทนนท์ ในรอบชิง ขณะที่ Chen Qingchen / Jia Yifan คว้าแชมป์หญิงคู่หลังเอาชนะ Chang Ye-na / Kim Hye-rin จากเกาหลีในรอบชิง ส่วน He Jiting / Du Yue ได้แค่รองแชมป์คู่ผสม เมื่อแพ้ Yuta Watanabe / Arisa Higashino มือ 4 ของรายการจากญี่ปุ่นในรอบชิง
 
ส่วนกองเชียร์เจ้าบ้าน ก็มีความสุขในสถานการณ์ที่ไม่เป็นสุขนัก เมื่อ Lee Cheuk Yiu หนุ่มน้อยเจ้าถิ่นโค่น Anthony Sinisuka Ginting จากอินโดนีเซียในรอบชิงแบบสนุก 16-21,21-10,22-20  

จะเห็นว่าการแข่งขันรายการระดับ Super 500 แทบจะไม่มีการผูกขาดจากชาติไหน โดยมีนักกีฬาจากชาติต่างๆพาเหรดกันคว้าแชมป์ แต่ปี 2020 จะเป็นปีที่ดุเดือดแน่นอน เพราะมีโควตาโอลิมปิก 2020 เป็นเดิมพัน



และเป็นรายการที่นักกีฬาไทยจะต้องเอาชัยให้มากกว่าแค่ 4 แชมป์จาก 2 ประเภทเหมือนปีนี้
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ