รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
สโมสร .. เบื้องหลังความสำเร็จของทีมชาติ
  15 พ.ย. 2562
แบ่งปัน



จาก ”ข่าวเล็กๆ” นั่นคือ Kim Ji Hyun ยอด ”โค้ชหญิงเดี่ยว” ชาวเกาหลี ที่ไปทำงานให้กับสมาคมแบดมินตันอินเดีย และสามารถทำให้ Pusarla V Sindhu คว้าแชมป์โลกในศึก TOTAL BWF World Championships 2019 ก่อนตัดสินใจลาออกเมื่อเดือนกันยายน เพื่อไปดูแลสามีที่ไม่สบาย และเพิ่งตัดสินใจเตรียมรับหน้าที่เป็นโค้ชในสโมสรแห่งหนึ่งในเมือง Kaohsiung ประเทศไต้หวัน หลังจากสามีอาการดีขึ้น
 
  นี่คือ ”เป้าหมาย” ของสมาคมแบดมินตันไต้หวัน ที่กำลังแสวงหา ”สายเลือดใหม่” ขึ้นมาแทนที่ Tai Tzu-ying หญิงเดี่ยวมือหนึ่งโลกวัยเบญจเพศที่เคยบอกว่าอาจจะเลิกเล่นหลังจบโอลิมปิก 2020 และ Chou Tien-chen ชายเดี่ยวมือ 2 ของโลก ที่กำลังเตรียมนับถอยหลังการลงสนามในวัยที่จะครบ 30 ในเดือนมกราคมปีหน้า
 
สมาคมแบดมินตันไต้หวัน ”โชคดี” ที่มีภาคเอกชนหลายราย อาทิ โดย Taiwan Cooperative Bank รวมทั้ง Taiwan Power Co. และ Land Bank of Taiwan หรือ Asia Pacific Logistics International Co และ บริษัท Chailease Finance ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ไทเป สนับสนุนสโมสรแบดมินตันในเมืองต่างๆเพื่อ ”ปั้น” ขึ้นมาเป็นนักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงทีมชาติชุดใหญ่  
 
  นอกจาก ”ไต้หวัน” แล้ว ก็ต้องถือว่า ”ญี่ปุ่น” คือชาติที่มีสโมสรแบดมินตันใหญ่มากมาย และนักกีฬาแต่ละคนก็แข่งขันกันแบบเอาจริงเอาจังเพื่อก้าวไปสู่สถานะนักกีฬาทีมชาติ โดยสโมสรชื่อดังที่รู้จักกันดีก็มี เช่น Tonami, Unisys, Renesas รวมถึง NTT East
 
“ความสำคัญ” ของสโมสรเหล่านั้น ถ้าใครจำได้ ลองนึกย้อนไปในการแข่งขัน BARFOOT & THOMPSON New Zealand Open 2019 เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่สมาคมแบดมินตันญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬาไปแข่งขัน เนื่องจากต้องการให้นักกีฬา ”พัก” หลังจาก 4 เดือนแรกมีโปรแกรมแข่งขันต่อเนื่อง แต่ก็มีนักกีฬาชั้นนำของญี่ปุ่นไปแข่งขันเกือบครบทีม  
 
  ในวันนั้น นักกีฬาญี่ปุ่นทุกคนที่ลงสนาม สวมชุดที่แฟนแบดมินตันไม่คุ้นเคย เพราะเป็น ”เสื้อสโมสร” รวมทั้ง ”โค้ช” ที่ทำหน้าที่ในสนามก็เป็นโค้ชสโมสรต้นสังกัด แฟนแบดมินตันจึงเห็นภาพที่ไม่คุ้นเคย นั่นคือนักกีฬาญี่ปุ่นเจอกันเองก็มีโค้ชลงไปทำหน้าที่ข้างหลังนักกีฬา
 
การแข่งขันที่เข้มข้นระดับสโมสรเพื่อเป็นหนึ่ง ทำให้ในวันนี้ ญี่ปุ่นมีนักกีฬาชั้นดีมากมายทุกประเภท โดย Yuta WATANABE / Arisa HIGASHINO คือตัวอย่างของนักกีฬาที่สโมสร”ปั้น”มาตั้งแต่เรียนมัธยมจนก้าวสู่ระดับโลกในวันนี้  
 
  “มาเลเซีย” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสโมสรมากมาย และสมาคมแบดมินตันมาเลเซียก็สนับสนุน โดยประกาศยึดรูปแบบ ”ฟุตบอล” ที่มองว่าสโมสรต้นสังกัดที่นักฟุตบอลฝึกซ้อมทุกวัน คือ”ผู้สร้าง”นักกีฬา โดย ”ทีมชาติ” หรือ ”สมาคม”คือผู้รับผลประโยชน์ จึงควรทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนสโมสรต่างๆเท่าที่สมาคมทำได้
 
การค้นพบ LEE Zii Jia ที่จะมาแทนที่ LEE Chong Wei หรือชายคู่หน้าใหม่อย่าง Aaron CHIA / SOH Wooi Yik คือตัวอย่างที่เป็น”รูปธรรม”ของการทำหน้าที่ ”ผู้สนับสนุน” การสร้างนักกีฬาของสโมสรต่างๆ  
 
  เช่นเดียวกับเกาหลี ที่มองว่า ”สโมสร” คือผู้แสวงหาและ ”ปั้น” นักกีฬาเข้าสู่ทีมชาติ โดยทำหน้าที่ค้นหา”ช้างเผือก”ระดับเยาวชนตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นมัธยม โดย AN Se Young คือตัวอย่างนักกีฬาประวัติศาสตร์ของเกาหลีที่”ติดทีมชาติ”ตั้งแต่เป็นนักเรียนระดับมัธยม
 
อีกประเทศที่การแข่งขันระดับสโมสรที่มาจากเมืองต่างๆเข้มข้น คือ”อินเดีย”ที่มีลีกเรียกว่า Super League โดยมีการประมูลนักแบดมินตันมือดีทั่วโลกมาแข่งขันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ โดยนักกีฬามากมายต่างเคยไปร่วมแข่งขันแบดมินตันในอินเดียมาแล้วเกือบทั้งหมด อาทิ Viktor AXELSEN หรือนักกีฬาไทยอย่าง”ซูเปอร์แมน”บุญศักดิ์ พลสนะ หรือนักกีฬาหญิงอย่าง SUNG Ji Hyun และ Carolina MARIN  
 
  การแข่งขันลีกแบดมินตันในอินเดีย ส่งผลให้วันนี้ ”อินเดีย” เริ่มมีนักกีฬาหน้าใหม่เข้าสู่วงการแบดมินตันโลก เช่น Lakshya SEN ดาวรุ่งชายเดี่ยววัย 18 หรือ Satwiksairaj RANKIREDDY / Chirag SHETTY นักกีฬาชายคู่ที่กำลังฮอต
 
หรือกระทั่งประเทศไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็น ”แชมป์เยาวชนโลก” 3 สมัยของ ”เมย์”รัชนก อินทนนท์ ในประเภทหญิงเดี่ยว และ ”วิว”กุลวุติ วิทิตศานต์ ในประเภทชายเดี่ยว คือผลงานของ ”สโมสร” ก่อนส่งต่อให้สมาคมนำนักกีฬาไปใช้งานในทีมชาติ  
 
 

“สโมสร” แบดมินตันในต่างประเทศ จึงเป็นผู้สร้างนักกีฬาตัวจริง เพราะเป็นผู้ค้นพบ ฝึกสอน และพัฒนานักกีฬาเยาวชนจาก ”เด็กหัดใหม่” จนก้าวไกลไปถึงเวทีระดับโลก โดย ”สมาคม” คือ ”พี่เลี้ยงที่ดูแลเพื่อต่อยอด”
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ