คำกล่าวนี้ มองได้จากการที่ชาติมหาอำนาจลูกขนไก่ ต่างก็ยินดีว่าจ้าง ”โค้ชต่างชาติ” มาพัฒนานักแบดมินตันของตัวเอง เมื่อมองเห็นว่าโค้ชคนนี้สามารถช่วยยกระดับฝีมือของผู้เล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาประเภทเดี่ยวหรือนักกีฬาประเภทคู่ เพื่อให้ผลงานดีขึ้น |
การที่ ”จีน” ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งของแบดมินตันโลก ก็ถึงกับตัดสินใจจ้าง ”โค้ชต่างชาติ” เมื่อผลงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำให้นักกีฬาของตัวเองสามารถทำผลงานได้ดีเหมือนผู้เล่นรุ่นก่อนๆ โดยเห็นว่า นักกีฬาของตนเล่นแบบ ”จีน” จนคู่แข่งรู้ทาง จึงจำเป็นต้องอิมพอร์ตโค้ชมาเพื่อเพิ่มความหลากหลายของการเล่น |
คงยากที่จะมองว่าโค้ชคนไหนเป็นผู้ฝึกสอนคนแรกที่ทำให้เห็นความแตกต่างของการเปลี่ยนโค้ช แต่ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของ Park Joo-bong อดีตแชมป์ประเภทคู่ทั้งชายคู่และคู่ผสมหลายรายการชาวเกาหลี ที่เข้ามาทำงานในฐานะ ”หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอน” ของทีมแบดมินตันญี่ปุ่น ก็ทำให้นักกีฬาญี่ปุ่นสามารถทำผลงานได้ดีในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ซึ่งผลงานสำคัญที่สุดก็คือการทำให้ทีมแบดมินตันหญิงญี่ปุ่น คว้าแชมป์ Uber Cup 2018 มาครองสำเร็จ หลังจากว่างเว้นไปนาน |
นอกจากนั้น ยอดโค้ชชาวเกาหลี ยังดึงทีมงานทั้งโค้ชชาวญี่ปุ่นและโค้ชต่างชาติมาเสริมทีม จนทำให้นักกีฬาแบดมินตันญี่ปุ่นมากมายผงาดขึ้นมาเป็นนักกีฬาชั้นนำของโลกในทุกวันนี้ ทั้ง Kento MOMOTA ในประเภทชายเดี่ยว Akane YAMAGUCHI และ Nozomi OKUHARA ในประเภทหญิงเดี่ยว Takeshi KAMURA / Keigo SONODA และ Hiroyuki ENDO / Yuta WATANABE ในประเภทชายคู่ |
ส่วนในประเภทหญิงคู่ ต้องถือว่าทีมญี่ปุ่นมีนักกีฬาระดับโลกมากมาย ทั้ง Mayu MATSUMOTO / Wakana NAGAHARA แชมป์โลก 2 สมัย Yuki FUKUSHIMA / Sayaka HIROTA อดีตมือหนึ่งโลกที่คว้าแชมป์หลายรายการ Misaki MATSUTOMO / Ayaka TAKAHASHI เจ้าของเหรียญทองหญิงคู่โอลิมปิก 2016 ขณะที่คู่ผสม ก็มี Yuta WATANABE / Arisa HIGASHINO เป็นดาวเด่น |
นอกจาก Park Joo-Bong แล้ว โค้ชต่างชาติที่สมาคมแบดมินตันญี่ปุ่นจ้างที่จะเห็นหน้าในสนามบ่อยก็คือ Jeremy Gan ยอดโค้ชประเภทคู่ผสมจากมาเลเซีย ผู้เคยปั้น CHAN Peng Soon / GOH Liu Ying จนคว้าเหรียญเงินโอลิมปิก 2016 และคู่ผสมญี่ปุ่นคือ Yuta WATANABE / Arisa HIGASHINO ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของโค้ชชาวมาเลย์ผู้นี้ |
ความสำเร็จของ Park Joo-bong ที่ปรากฏหลังจากเข้าไปวางรากฐานตั้งแต่ต้นและเห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้ ”จีน” มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อสมาคมแบดมินตันจีนในยุค Zhang Jun เป็นนายกสมาคม ก็ตัดสินใจครั้งสำคัญหลัง ”ล้มเหลว” ในศึกชิงแชมป์โลก ด้วยการดึง Kang Kyung-jin อดีตหัวหน้าโค้ชชาติบ้านเกิดจากเกาหลีเข้ามาร่วมงานในฐานะโค้ชต่างชาติคนแรก |
และล่าสุด ก็ดึง Yoo Yong-sung โค้ชชาวเกาหลีที่เพิ่งหมดสัญญากับสมาคมแบดมินตันมาเลเซีย มาร่วมทีมในฐานะโค้ชชายคู่ ที่ถือเป็นอีกประเภทที่นักกีฬาจากจีนไม่สามารถทำผลงานได้ดี ทั้งๆที่เป็นประเภทที่จีนคว้าแชมป์โลกในปี 2017 และ 2018 รวมทั้งดึง Li Mao โค้ชชาวจีนที่ข้ามทะเลไปสร้าง Lee Chong We ขึ้นเป็นราชาชายเดี่ยวกลับมาเพื่อวางรากฐานผู้เล่นในระดับเยาวชน |
ขณะที่ ”อินเดีย” ที่เป็นชาติใหญ่ของแบดมินตัน ก็ว่าจ้าง Kim Ji Hyun โค้ชหญิงชาวเกาหลี มาทำงานเพื่อลดภาระของ Pullela Gopichand หัวหน้าเฮดโค้ชของทีม และสามารถทำให้ P.V. Sindhu ทำผลงานเด่นคว้าแชมป์โลก 2019 มาครองในเดือนสิงหาคม และไม่รู้ว่าจะ ”บังเอิญ” หรือไม่ เพราะในศึก China Open ที่เป็นรายการ World Tour Super 1000 และ Korea Open รายการ World Tour Super 500 ในเดือนกันยายน ที่ Kim Ji Hyun ไม่ได้ร่วมทีมไปเพราะติดภารกิจส่วนตัว ปรากฏว่า แชมป์โลกหญิงเดี่ยวคนล่าสุดตกรอบเร็วเกินคาด |
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า Kim Ji Hyun โค้ชสาววัย 45 ได้ลาออกจากการทำงานกับสมาคมแบดมินตันอินเดียแล้ว โดยมีรายงานว่าเพื่อไปดูแล Ritchie Marr สามีที่เข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบที่นิวซีแลนด์ หลังจากที่เดินทางไปดูเมื่อเดือนกันยายนแล้วพบว่าอาการยังไม่น่าไว้วางใจ |
ขณะที่เกาหลี ที่กลายเป็นชาติส่งออกโค้ช ก็ได้เลือกทีมงานโค้ชชุดใหม่ ที่นำโดย Ahn Jae Chang และสามารถสร้างผลงานได้น่าพอใจ โดยเฉพาะในประเภทคู่ ทั้งชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม ที่มีทั้งการสร้างนักกีฬาใหม่และการสลับคู่เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่น ขณะที่ประเภทเดี่ยว ก็สามารถค้นพบและสร้าง AN Se Young นักกีฬาเยาวชนหญิงขึ้นมาเป็นมือเด่นของโลกและเตรียมแทนที่ SUNG Ji Hyun ซึ่งเริ่มโรยราตามอายุ |
นอกจากนั้นก็สามารถทำให้ SEO Seung Jae / CHAE YuJung สองดาวรุ่งยกระดับตัวเองขึ้นมาในประเภทคู่ผสม ขณะที่การสลับคู่ในประเภทหญิงคู่ ทั้ง LEE So Hee / SHIN Seung Chan และ KIM So Yeong / KONG Hee Yong ก็ทำอันดับขึ้นมาติดทอปเทนและเริ่มคว้าแชมป์รายการใหญ่ โดยเฉพาะในสูตรที่เรียกว่า ”ชนะญี่ปุ่น” ที่หญิงคู่เกาหลีทำได้ดี |
แม้จะเป็นเพียง ”ส่วนหนึ่ง” ที่เป็นภาพกว้างๆ แต่ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ”โค้ช” คือบุคคลสำคัญในการพัฒนา ยกระดับ หรือค้นหานักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมา แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ ”นักกีฬา” ว่าพร้อมที่จะรับการแนะนำ สั่งสอน หรือฝึกซ้อมตามแนวทางที่โค้ชสั่งให้ทำหรือไม่ แต่ความสำเร็จที่นักกีฬาหลายคนได้รับ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก ”โค้ช” |