รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
“พรสวรรค์” กับ “พรแสวง” ทางเลือกเพื่อชัยชนะ
  6 ก.ย. 2562
แบ่งปัน

มีคำกล่าวที่ยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนว่า ระหว่างนักกีฬาที่มี ”พรสวรรค์” กับนักกีฬาที่มี ”พรแสวง” ใครจะประสบความสำเร็จมากกว่า
 
  อย่างไรก็ตาม “พรสวรรค์” เป็นเรื่องที่ Lin Dan บอกว่า “ไม่มีจริง” และกล่าวถึง ”ความสำเร็จ” ที่ผ่านมาของนักกีฬาจีนว่าไม่ใช่มาจาก ”พรสวรรค์” แต่มาจาก ”พรแสวง” 
 
"ผมไม่ใช่อัจฉริยะ" Lin Dan ให้สัมภาษณ์ไว้ "อัจฉริยะไม่มีจริง ไม่ว่าผมหรือนักแบดมินตันจีนคนอื่นๆ พวกเรามาถึงจุดนี้ได้เพราะเราซ้อมกันหนักมาก เราผ่านการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานยิ่งกว่าชาติอื่นๆ เราเติบโตพร้อมกับเทคนิค, แท็คติก และจิตวิทยา รวมถึงสั่งสมประสบการณ์ผ่านการแข่งขันในแต่ละเกม"  

นี่จึงไม่แปลกที่ล่าสุด สมาคมแบดมินตันจีน ตัดสินใจว่าจ้าง Kang Kyung-jin อดีตโค้ชทีมชาติเกาหลี มาทำงานเป็นโค้ชทีมชาติจีน และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะนี่คือการว่าจ้าง ”โค้ชต่างชาติ” คนแรกของทีมแบดมินตันจีน ที่คงไม่มีใครเชื่อว่าวันหนึ่ง สมาคมแบดมินตันจีนจะว่าจ้าง ”ต่างชาติ” มาเป็นโค้ชทีมชาติ

“เป้าหมาย” ใหญ่สุดในการว่าจ้างก็คือ การให้ Kang Kyung-jin มา”ปลุก”นักกีฬาจีนเพื่อเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่มหานครโตเกียว (อ่านเรื่องนี้ใน https://www.thestar.com.my/sport/badminton/2019/09/03/china-turns-to-south-korean-for-olympic-success-in-badminton )
 
  ย้อนกลับไปข้างต้นที่ Lin Dan กล่าว นั่นคือ ”ความสำเร็จ” ของทีมแบดมินตันจีนในอดีตที่ผ่านมา มาจากการฝึกซ้อมหนักและเสริมด้วยเทคนิค แท็คติกจนถึงจิตวิทยา แล้วไฉนทุกวันนี้ นักกีฬาจีนถึงกับแทบจะหาความสำเร็จยากกว่าในอดีต ซึ่งคงไม่มีใครรู้ดีเท่ากับสมาคมแบดมินตันจีน ที่ตัดสินใจ ”แก้ปัญหา” ด้วยการว่าจ้างโค้ชต่างชาติเป็นครั้งแรก
 
อาจจะเป็นไปได้ว่าในช่วงหลัง นักกีฬาจีนหลายคนคุ้นเคยกับ ”โค้ช” ที่เป็นนักกีฬารุ่นพี่ ทำให้บ่อยครั้งขาดความยำเกรงที่จะซ้อมหนัก โดยมองว่า ”เฮีย” หรือ ”เจ๊” เป็นคนใจดี ซึ่งต่างจากก่อนโอลิมปิก 2012  ที่นักกีฬาจีนซ้อมวิ่งขึ้นภูเขา ซ้อมวันละ 10 ชั่วโมงเพื่อสร้างพละกำลัง นั่นคือการสร้าง ”พรแสวง” มาเสริม ”พรสวรรค์”  
 
  ไม่มีใครบอกได้ว่า ”โค้ชเกาหลี” เก่งแค่ไหน แต่กรณีของ Park Joo-bong หัวหน้าโค้ชทีมชาติญี่ปุ่น ที่สร้างประวัติศาสตร์มากมายให้นักกีฬาญี่ปุ่นเข้าแถวพาเหรดคว้าแชมป์รายการต่างๆ ก็น่าจะถือเป็น ”ต้นแบบ” ของการใช้ ”วินัย” แบบเกาหลีมาสร้างนักกีฬาญี่ปุ่น
 
เมื่อครั้งที่นำนักกีฬาญี่ปุ่นมาแข่งขัน Thomas&Uber Cup ที่ประเทศไทย Park Joo-bong ได้ให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันโดยยกย่องทั้งทีม Uber Cup และทีม Thomas Cup ของญี่ปุ่น ที่สามารถผ่านเข้ามาชิงชนะเลิศทั้ง 2 ทีมและคว้าแชมป์ได้ในประเภททีมหญิง และย้ำว่า ”ความสำเร็จ” ไม่มีเคล็ดลับอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้  

"พวกเราทั้งหมด ทั้งนักกีฬาและโค้ชทำงานหนักมาก ทุกคนมีแรงจูงใจเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมและการแข่งขัน" หัวหน้าโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นชาวเกาหลีกล่าวในเมืองไทยวันแถลงข่าว
 
  นักกีฬาญี่ปุ่นในยุค Park Joo-bong จึงเป็นนักกีฬาประเภท ”วิ่งสู้ฟัด” ชนิดไม่จบแมทช์ไม่มีเลิก ทำให้ทั้ง Akane YAMAGUCHI หญิงเดี่ยวมือหนึ่งโลก และ Nozomi OKUHARA แชมป์โลกหญิงเดี่ยว 2017 ที่เสียเปรียบเรื่องสรีระ สามารถเป็นแชมป์หลายรายการ
 
แต่ก่อนจะถึงโอลิมปิก 2020 โค้ชเกาหลีอีกคน ก็สร้างปรากฏการณ์ นั่นคือ Kim Ji Hyun อดีตโค้ชทีมชาติเกาหลีอีกคน ถูกสมาคมแบดมินตันอินเดียว่าจ้างมาร่วมงาน และสามารถทำให้สร้าง PV Sindhu เป็นแชมป์โลกคนแรกของอินเดียในปีนี้  
 
  เมื่อ Park Joo-bong สามารถสร้างให้นักกีฬาญี่ปุ่น ”วิ่งสู้ฟัด” จึงไม่แปลกใจที่ Kim Ji Hyun แก้เกมให้อินเดีย และ PV Sindhu คว้าแชมป์โลกโดยชนะ Nozomi OKUHARA ในรอบชิงชนะเลิศอย่างง่ายดายเกินคาด
 
อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง แต่เชื่อว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สมาคมแบดมินตันจีนเลือก Kang Kyung-jin มาเป็นโค้ชต่างชาติคนแรก โดยมีเวลาหนึ่งปีในการ ”สร้าง” นักกีฬาเพื่อเหรียญทองโอลิมปิก  

แม้ ”พรสวรรค์” จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถึงตอนนี้ ”พรแสวง” คือคำตอบของความสำเร็จ และเป็นเหตุผลให้ ”ยักษ์ใหญ่” ของแบดมินตัน ทั้งจีน เกาหลี อินเดีย เลือกอิมพอร์ตโค้ชชาวเกาหลีมาทำหน้าที่นี้



ผลงานในสนามคือคำตอบที่ชัดเจน
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ