รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
ศึกชิงแชมป์โลก 2019 ..การบ้านของทุกชาติก่อนโอลิมปิก
  30 ส.ค. 2562
แบ่งปัน



จบไปแล้วสำหรับการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2019 รายการ TOTAL BWF World Championships 2019 ที่เมือง Basel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งผลการแข่งขันมีทั้งเป็นไปตามคาดและพลิกล็อค แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ศึกชิงแชมป์โลกครั้งนี้ เป็น”การบ้าน”ที่ทุกชาติจะต้องนำกลับไปทบทวน เพื่อเป้าหมายใหญ่ที่สุด นั่นคือ โอลิมปิก 2020 ที่มหานครโตเกียว ในเวลาอีกหนึ่งปีเต็ม
 
  โดยเริ่มต้นที่ประเภทชายเดี่ยว ที่ Kento Momota มือหนึ่งโลกและแชมป์เก่า ป้องกันแชมป์สำเร็จเมื่อเอาชนะ Anders Antonsen มือ 5 จากเดนมาร์คที่มาถึงรอบชิงได้แบบง่ายดายเกินคาด 21-9,21-13
 
   
 
ประเทศที่จะต้องคิดมากที่สุดในประเภทนี้ก็ต้องเป็น ”จีน”  ที่อาจจะมี ”ข้ออ้าง” ในความล้มเหลวครั้งนี้ว่าเป็นเพราะ SHI Yu Qi นักแบดมินตันมือ 3 โลกยังได้รับบาดเจ็บ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเพียงพอ เพราะสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ และที่สำคัญก็คือ CHEN Long และ LIN Dan ก็ไม่ได้ขี้เหร่หรือโนเนมถึงขั้นจะมีคนกาชื่อออกจากทำเนียบตัวเก็ง เพียงแต่เวทีนี้ในปีนี้ ไม่ใช่เวทีของ 2 ผู้เล่นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 3 ครั้งล่าสุด  

ขณะที่ ”เดนมาร์ค” แม้จะถือว่า Anders ANTONSEN นักกีฬาหนุ่มที่อันดับโลกพุ่งขยับมาอยู่อันดับ 5 ของโลกทำผลงานได้ดี แต่ก็เห็นแล้วว่าเขายังไม่ ”นิ่ง” พอสำหรับรายการใหญ่เช่นนี้ จึงต้องรอว่าเมื่อไร Viktor AXELSEN อดีตแชมป์โลกจะกลับมาลงคอร์ต และปัญหาคือเมื่อกลับมาแล้ว Viktor AXELSEN จะรักษาฟอร์มเก่งได้ดีแค่ไหน เพราะนักกีฬาที่”เจ็บบ่อย”มักจะหาฟอร์มเก่งไม่เจอ
 
   
 
  ส่วนมาเลเซีย ถือว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กับการปรากฏตัวของ LEE Zii Jia ที่ต้องถือเป็นตัวแทน LEE Chong Wei อย่างเต็มตัวแล้ว เช่นเดียวกับไทยที่”กัน”กันตภณ หวังเจริญ ซึ่งแนะนะตัวต่อโลกแบดมินตันในศึก World Tour Final เมื่อปลายปีก่อน ที่คราวนี้ขยับขึ้นมาเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงศึกชิงแชมป์โลก ในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก
 
ในประเภทหญิงเดี่ยว การคว้าแชมป์ของ Pusarla V. Sindhu ที่เอาชนะ Nozomi Okuhara ในรอบชิงแบบง่ายดายอีกประเภทด้วยสกอร์ 21-7 , 21-7 นอกจากจะเป็น ”แชมป์แรก” ของอินเดียในศึกชิงแชมป์โลกแล้ว นี่ถือเป็นเกียรติยศส่วนตัวของเธอที่ถูกเรียกขานว่าเป็น ”นางรอง” มายาวนาน และในอินเดียเธอน่าจะขยับจาก Princess เป็น Queen แบดมินตันแทนที่ Saina NEHWAL อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือหนึ่งโลกอย่างเต็มตัว  
 
  ขณะเดียวกัน ชัยชนะของสาวอินเดีย ยังส่งผลโดยตรงถึง”ญี่ปุ่น” เพราะ Akane YAMAGUCHI นักกีฬามือหนึ่งโลกตกรอบเร็วเกินคาด ขณะที่ Nozomi OKUHARA ก็เจอเกมเล่นยากในวันชิงชนะเลิศ ถึงกับร่ำไห้ในการสัมภาษณ์หลังจบเกมว่าเป็นผลการแข่งขันที่เสียใจที่สุดในชีวิต
 
การพ่ายแพ้ของ Nozomi OKUHARA ยังแสดงให้เห็นว่า PUSARLA V. Sindhu เหมาะสมกับการเป็นแชมป์ เพราะในรอบ 8 คนสุดท้าย เธอก็ชนะ TAI Tzu Ying ที่ถือเป็น”เต็งหนึ่ง”ที่จะคว้าแชมป์โลก และชัยชนะทุกครั้งของแชมป์โลกคนล่าสุด แสดงให้เห็นว่าสรีระเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ ดังที่ TAI Tzu Ying เคยกล่าวเมื่อครั้งที่บอกว่าหลังจบโอลิมปิก 2020 ว่าเธออาจจะเลิกเล่น ว่าเพราะเธอมีรูปร่างเล็ก จึงไม่มีใครรู้ว่าเหนื่อยแค่ไหนกว่าจะจบแต่ละแมทช์  

ส่วนชาติที่ต้องคิดหนักที่สุดก็คงเป็น”จีน” ที่ยังหา”แชมป์โลกหญิงเดี่ยว” ต่อไปหลังหมดยุค ”สองหวังหนึ่งลี” เพราะทั้ง CHEN Yu Fei ที่ได้เหรียญทองแดง และ HE Bing Jiao ก็ยังไม่สามารถฝากผีฝากไข้ได้ ขณะที่นักกีฬาคนอื่น ทั้ง HAN Yue , CAI Yan Yan หรือ CHEN Xiao Xin ก็ยังห่างกับมือระดับโลก ส่วน GAO Fang Jie ที่เคยพุ่งแรงก็ยังไม่มีกำหนดกลับมาลงสนามหลังบาดเจ็บเมื่อต้นปีที่มาเลเซีย
 
  ในส่วนของประเทศไทย ก็มีเพียง ”เมย์” รัชนก อินทนนท์ ที่ยังเป็นความหวังเดียว แต่เมื่อมองอายุนักกีฬา ก็ถือว่า”หมิว”พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ น่าจะเป็นคลื่นลูกใหม่ก่อนที่จะถ่ายไปถึง “จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ หรือ “พิ้งค์” พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ในอนาคต
 
ประเภทชายคู ที่ “สิงห์เฒ่า” Mohammad Ahsan / Hendra Setiawan จากอินโดนีเซีย กลับมาคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเอาชนะ Takuro Hoki / Yugo Kobayashi จากญี่ปุ่น 2-1 เกม 25-23, 9-21, 21-15 ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่มี ”กลยุทธ์” ในการเอาชนะ ถึงขั้นกรรมการต้องเตือนในท้ายเกม 2 ที่ทั้งคู่ ”ตีทิ้ง” เพื่อเก็บแรงไว้เล่นเกม 3 และคว้าแชมป์สำเร็จ  
 
  อย่างไรก็ตาม แม้คู่ ”สิงห์เฒ่า” จะคว้าแชมป์ แต่ก็ต้องถือว่าในประเภทนี้ “อินโดนีเซีย” น่าจะยังเป็นเจ้าสนาม เพราะยังมี Marcus Fernaldi GIDEON/ Kevin Sanjaya SUKAMULJO คู่มือหนึ่งโลกที่ ”เต็งแชมป์” ทุกรายการที่ลงสนาม และไม่พลาดที่จะคว้าแชมป์หากไม่เล่นแบบกดดันจนแพ้ตัวเอง
 
“จีน”จึงเป็นชาติที่ต้องทำการบ้านหนัก เพราะแม้ LI Jun Hui / LIU Yu Chen คู่มือ 3 โลกจะได้เหรียญทองแดง แต่สำหรับพวกเขาแล้วนั่นหมายถึงความล้มเหลว ขณะที่ LIU Cheng / ZHANG Nan ที่เคยมีดีกรีแชมป์โลก ก็ดูจะไม่ใช่ความหวังเพราะมีการแยกคู่ไปแล้ว แม้ชิงแชมป์โลกคราวนี้ยังลงสนาม โดยมี HAN Cheng Kai / ZHOU Hao Dong ขยับมาเป็นคู่มือ 2 แทน  

ส่วนญี่ปุ่น แม้คู่ Takuro HOKI / Yugo KOBAYASHI จะเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่สำหรับญี่ปุ่น Takeshi KAMURA / Keigo SONODA ยังเป็นคู่มือหนึ่ง และ Hiroyuki ENDO / Yuta WATANABE เป็นคู่มือ 2 ยกเว้นในโอลิมปิก 2020 ที่เป็นคำถามว่าจะขยับ Yuta WATANABE ไปเล่นเฉพาะประเภทคู่ผสม เพราะทุกวันนี้ หลายชาติมองเห็นแล้วว่า นักกีฬาที่เล่น 2 ประเภทจะเหนื่อยเกินไปและทำผลงานได้ไม่ดีทั้ง 2 ประเภท
 
  ในประเภทชายคู่ ถือว่า ”มาเลเซีย” เป็นหนึ่งในชาติที่มีพัฒนาการมาก โดยคู่ใหม่คือ Aaron CHIA / SOH Wooi Yik แสดงให้เห็นว่าพร้อมแล้วที่จะมาแทนที่ GOH V Shem / TAN Wee Kiong เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2016
 
 

ส่วนประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่านี่เป็นประเภทที่ยังคงเป็น”จุดอ่อน” ของไทยหลังการขาดหายไปของคู่ “ติน-ดีโก้” ติณณ์ อิสริยะเนตร / กิตติศักดิ์ นามเดช ที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยมีเพียง ”อาร์ท-เอ”บดินทร์ อิสสระ / มณีพงษ์ จงจิตร ที่ยังคงตระเวนแข่งขันและทำผลงานพร้อมคะแนนสะสมไปโอลิมปิก 2020
 
 
 
ในประเภทหญิงคู่ ที่เป็นอีกครั้งที่ ”ญี่ปุ่น” ประกาศความเป็นเจ้าสนาม เมื่อคู่ชิงชนะเลิศเป็นคู่เดิมและผลการแข่งขันออกมาแบบเดิม โดย Mayu Matsumoto / Wakana Nagahara ป้องกันแชมป์สำเร็จเมื่อเอาชนะ Yuki Fukushima / Sayaka Hirota คู่รุ่นพี่ 2-1 เกม 21-11 , 20-22 , 23-21  

การเข้าชิงชนะเลิศของคู่นี้ 2 ปีติด ดูจะเป็นการปิดประตูสำหรับ Misaki MATSUTOMO / Ayaka TAKAHASHI ที่จะไปป้องกันแชมป์หญิงคู่ในโอลิมปิก นอกจากจะสามารถงัดฟอร์มเก่งในช่วง 8 เดือนจากนี้ไปเพื่อสร้างผลงานและคว้าแชมป์รายการต่างๆ
 
  อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะเป็นงานยากของญี่ปุ่น เพราะการเป็นแชมป์มากมายหลายรายการ ทำให้นักกีฬาหญิงคู่ของญี่ปุ่นจะตกเป็นเป้าหมายในการพิสูจน์ฝีมือ โดยถึงเวลานี้ นักกีฬาเกาหลีเริ่มค้นพบสูตรเอาชนะญี่ปุ่นได้แล้วในหลายรายการ ทั้งคู่ LEE So Hee / SHIN Seung Chan และคู่ KIM So Yeong / KONG Hee Yong เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จในศึกชิงแชมป์โลก
 
ส่วนชาติที่น่าจะคิดหนักสำหรับประเภทหญิงคู่ก็คือ ”จีน” เพราะแม้ DU Yue / LI Yin Hui จะทำผลงานได้ถึงเหรียญทองแดง แถมเอาชนะคู่เหรียญทองโอลิมปิก 2016 จากญี่ปุ่นในรอบ Quarter Final ซึ่งก็ยังต้องมีการพัฒนามากขึ้น และน่าจะเป็นคู่ความหวังมากกว่า CHEN Qi CHEN / JIA Yi Fanng อดีตแชมป์โลกที่ตกรอบเร็วเกินคาด แถม CHEN Qing Chen ก็เป็น ”เป้า” ในการโจมตีของคู่ต่อสู้จนเสียคะแนนง่ายๆหลายครั้ง  
 
  สำหรับไทยนั้น “กิ๊ฟ-วิว”จงกลพรรณ กิตติธรากุล / รวินดา ประจงใจ ยังคงทำผลงานได้ในระดับแค่เข้ารอบลึกๆ ขณะที่คู่”เอิร์ธ-ปอป้อ” พุธิตา สุภจิรกุล / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ก็น่าจะถึงเวลาชัดเจนว่าต้องแยกคู่ เพื่อรักษาสภาพร่างกายของ”ปอป้อ”ให้ไปมุ่งมั่นในประเภทคู่ผสม เพราะการลงสนาม 2 ประเภท สุดท้ายก็จะล้มเหลวทั้งหมด 
 
ปิดท้ายประเภทคู่ผสม ซึ่ง ”แชมป์เก่า” Zheng Si Wei / Huang Ya Qiong สามารถป้องกันแชมป์ได้โดยเอาชนะ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย 21-8,21-12  
 
  สำหรับประเภทคู่ผสมนั้น ในเวลานี้ต้องถือว่า ”จีน” ยังคงเป็นชาติที่หาคนต่อการยาก แม้ญี่ปุ่นจะมี Yuta WATANABE / Arisa HIGASHINO ไทยมี “บาส-ปอป้อ” มาเลเซียมี CHAN Peng Soon / GOH Liu Ying เกาหลีมี SEO Seung Jae / CHAE YuJung หรืออินโดนีเซียมี Praveen JORDAN / Melati Daeva OKTAVIANTI แต่อย่าลืมว่า ก่อนถึงคู่แชมป์โลก จีนยังมี WANG Yi Lyu / HUANG Dong Ping คู่มือ 2 โลกที่รอพบนักกีฬาจากทุกชาติ

ขณะเดียวกัน ปัญหาของญี่ปุ่นและไทย ที่เป็นมือ 3 และ 4 ในประเภทนี้ ก็คือมีนักกีฬาที่เล่น 2 ประเภท ที่ถึงตอนนี้พิสูจน์แล้วว่า ”ไม่เวิร์ค” นั่นคือ Yuta WATANABE ยังมีภารกิจชายคู่ และ ”ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่มีภารกิจหญิงคู่ ซึ่งถึงตอนนี้ คู่ของจีนอย่าง ZHANG Nan / LI Yin Hui ที่เคยทำผลงานได้ดี ก็ต้องเลิกเพื่อให้แต่ละคนมีภารกิจเพียงประเภทเดียว และ LI Yin Hui ก็ทำผลงานได้ดีในประเภทหญิงคู่



การแข่งขันชิงแชมป์โลก 2019 ที่จบไป ถือว่ามีทั้งชาติที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งแน่นอนว่า จะสะท้อนถึงภาพรวมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 แต่เวลาอีกหนึ่งปี ก็ถือว่ามากพอที่จะปรับปรุงแก้ไข และนั่นคือการเปิดกว้างสำหรับนักกีฬาทุกคนจากทุกชาติ ที่มีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิก 2020

รวมทั้งนักกีฬาไทย..ทุกคน ทุกประเภท ที่แฟนแบดมินตันทั้งประเทศส่งใจเชียร์
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ