การดึงนักกีฬาชื่อดังจากทุกมุมโลกมาแข่งขันลีกแบดมินตันอินเดียในรูปแบบ ”ประมูล” นอกจากสร้างสีสันให้การแข่งขันแล้ว อีกหนึ่งในผลลัพธ์ก็คือ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับ ”เด็กอินเดีย” ที่อยากจะเล่นแบดมินตันตามแบบนักกีฬาดังมากมายที่มาร่วมแข่งขันในแต่ละปี และเป็น ”เวทีแจ้งเกิด” ของนักแบดมินตันอินเดียมากมาย ที่ถึงตอนนี้ เริ่มผลิดอกออกผลเดินทางเข้าสู่สนามแข่งขันรายการใหญ่ๆมากมาย |
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงนักแบดมินตันอินเดียในทุกวันนี้ เรามักจะนึกถึงนักกีฬาประเภทเดี่ยว โดยมี ”ดาวเด่น” ที่เหนือกว่าเพื่อนร่วมชาติคนอื่น 3 คน นั่นคือ PUSARLA V. Sindhu นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 5 ของโลก เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2016, Saina NEHWAL นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 8 ของโลกที่เคยขึ้นเป็นมือหนึ่งโลกและเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 และ KIDAMBI Srikanth นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 10 ของโลก |
แต่การที่ Satwiksairaj RANKIREDDY / Chirag SHETTY นักแบดมินตันชายคู่มือ 9 ของโลก ที่คว้าแชมป์ชายคู่ในศึก Thiland Open เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน อาจจะทำให้หลายคนเริ่มมองเห็นแล้วว่า ”อินเดีย” ยังมีนักกีฬามือดีมากกว่า 3 คนที่โลกรู้จัก(ดี) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา |
เพราะ Thailand Open ในทุกวันนี้คือการแข่งขันระดับ World Tour Super 500 หรือที่เรียกกันติดปากมายาวนานว่า Superseries และปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเก็บสะสมคะแนนไปโอลิมปิก 2020 จึงมีนักกีฬามือหนึ่งทุกประเภทสมัครมาร่วมแข่งขัน ก่อนหลายคนตัดสินใจถอนตัวเพราะบาดเจ็บและเกิดอาการล้า หลังจากกรำศึกใหญ่ 2 รายการที่อินโดนีเซียและญี่ปุ่นติดต่อกัน |
ถึงตอนนี้ ในประเภทชายเดี่ยว นักกีฬาอินเดียติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกถึง 3 คน โดยนอกจาก KIDAMBI Srikanth ที่อยู่อันดับ 10 แล้ว ก็มี Sameer VERMA อยู่อันดับ 13 และ SAI PRANEETH B. อยู่อันดับ 19 ต่อด้วย PRANNOY H. S. ที่อยู่อันดับ 31 PARUPALLI Kashyap อยู่อันดับ 32 และ Subhankar DEY ที่อยู่อันดับ 39 และหลายคนเคยมีดีกรี ”แชมป์” รายการระดับต่างๆมาแล้ว |
อาจจะมีเพียง ”หญิงเดี่ยว” ที่อินเดียขาดนักแบดมินตันฝีมือดี เพราะนอกจาก PUSARLA V. Sindhu และ Saina NEHWAL แล้ว นักกีฬาอันดับที่ดีที่สุดต่อมาก็คือ Mugdha AGREY อยู่อันดับ 62 และ Rituparna DAS อยู่อันดับ 69 จึงต้อง ”รอ” Vaishnavi Reddy JAKKA ดาวรุ่งวัย 17 นักกีฬาเยาวชนหญิงเดี่ยวมือ 8 ของโลก ขัยบขึ้นมาแทนที่ 2 หญิงเดี่ยวมือดีในปัจจุบัน |
ขณะที่ประเภทชายคู่ นอกจาก Satwiksairaj RANKIREDDY / Chirag SHETTY ที่คว้าแชมป์ Thailand Open 2019 แล้ว ก็มี ATTRI Manu / REDDY B. Sumeeth ชายคู่มือ 25 โลก ที่เคยมีดีกรีเป็นแชมป์รายการเล็กๆมาประดับบารมี เช่นเดียวกับ M.R. ARJUN / Ramchandran SHLOK ชายคู่มือ 48 โลก ก็มีดีกรีแชมป์ JE WILSON INTERNATIONAL SERIES ในปีนี้ |
ส่วนประเภทหญิงคู่ Ashwini PONNAPPA / REDDY N. Sikki หญิงคู่มือ 23 โลกและ JAKKAMPUDI Meghana / S RAM Poorvisha คู่มือ 46 โลกคงต้องเพิ่มพัฒนาการมากขึ้น เพราะยังถือว่าทำได้ไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับมาตรฐานหญิงคู่จากมือดีทั่วโลก |
เช่นเดียวกับในประเภทคู่ผสม Pranaav Jerry CHOPRA / REDDY N. Sikki คู่มือ 23 โลกกับ Ashwini PONNAPPA / Satwiksairaj RANKIREDDY คู่มือ 27 โลก อาจจะยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็น ”ต้นแบบ” ให้นักกีฬารุ่นน้องรอวัดรอยเท้าในการเข้าสู่สนามแข่งขัน |
แม้ถึงตอนนี้ “อินเดีย” อาจจะยังไม่ถึงกับเป็นมหาอำนาจลูกขนไก่เหมือนอีกหลายชาติ แต่การมีการแข่งขันในประเทศปีละหลายรายการ ตั้งแต่ YONEX-SUNRISE India Open ที่เป็นรายการ HSBC BWF World Tour Super 500 รายการ Syed Modi International ที่เป็นการแข่งขัน HSBC BWF World Tour Super 300 รายการ IDBI Federal Life Insurance Hyderabad Open ซึ่งเป็น BWF Tour Super 100 รวมถึง TATA OPEN India International ที่เป็นการแข่งขัน International Challenge และรายการเยาวชนอย่าง India Junior International ที่เป็นศึก Junior International Grand Prix บวกกับลีกอาชีพในช่วงปลายปี ก็ยิ่งทำให้”อินเดีย”สามารถ”ผลิต”นักกีฬาแบดมินตันมือดีออกมามากมาย |
การมีรายการแข่งขันมากมาย ทำให้นักกีฬาอินเดียจำนวนมาก มีโอกาสลงแข่งขัน ซึ่งอย่างน้อยก็ดีกว่า ”ซ้อม” เพราะการแข่งขันในทุกระดับ คือการ ”วัดฝีมือ” อย่างแท้จริงว่าผลจากการ ”ซ้อมหนัก” ที่ผ่านมา เมื่อพบกันนักกีฬา ”ตัวจริง” ในแต่ละระดับ ตัวเองอยู่ตรงไหน จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าผลการแข่งขันจะแพ้หรือชนะ |
นั่นจึงทำให้ถึงตอนนี้ เริ่มมีนักกีฬาจากอินเดียหลายคนปรากฏตัวแนะนำตนในโลกลูกขนไก่ตามรอยรุ่นพี่แล้ว ที่แสดงให้เห็นว่า ผลจากการลงทุนจัดการแข่งขันแบดมินตันประเภทต่างๆมากมาย ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและนักกีฬาลงแข่งขันติดต่อกันหลายปี พวกเขาก็พร้อมที่จะก้าวออกมายังเวทีโลกแล้ว |