รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
Sudirman Cup..เตรียมเชียร์ไทยสัปดาห์หน้า
  14 พ.ค. 2562
แบ่งปัน


อีกไม่กี่วัน การแข่งขัน Sudirman Cup หรือการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมผสมชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปีก็จะเปิดฉาก โดยครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 16 จะจัดขึ้นที่เมือง Nanning ในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 19-26 พฤษภาคม
 
ถ้วย Sudirman Cup ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติกับ Dick Sudirman อดีตนักแบดมินตันชาวอินโดนีเซีย ผู้ก่อตั้งสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซียขึ้น หลังจากที่เห็นว่า มีการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีมชาย คือศึก Thomas Cup ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1948 และศึกชิงแชมป์โลกทีมหญิง คือ Uber Cup ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1957  
 
โดยการแข่งขัน Sudirman Cup จะมีการแข่งขันประเภททีมแบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่ ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่ และคู่ผสม โดยทีมไหนชนะ 3 ใน 5 ประเภทก็จะเป็นผู้ชนะ
 
  การแข่งขัน  Sudirman Cup จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 24-29 พฤษภาคม 1989 โดยมี 28 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน โดยเป็น 13 ชาติจากยุโรป 10 ชาติจากเอเชีย 2 ประเทศจากอเมริกา 2 ประเทศจากโอซีเนียและหนึ่งประเทศจากแอฟริกา และแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ต่างจากปัจจุบันที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม  ตามอันดับโลก
 
โดยในการแข่งขันครั้งแรกนั้น กลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่มที่จะชิงแชมป์ มี 6 ประเทศ โดยเป็นเอเชียและยุโรปทวีปละ 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เกาหลี จีน เดนมาร์ค สวีเดนและอังกฤษ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม และคัด 4 ทีมเข้ารอบรองชนะเลิศ โดยกลุ่ม 1A อินโดนีเซีย เกาหลีและอังกฤษ ส่วนกลุ่ม 1B มีจีน เดนมาร์คและสวีเดน  
 
  ในรอบรองชนะเลิศ อินโดนีเซียชนะเดนมาร์ค 3-0 และเกาหลีชนะจีน 3-1 ทำให้อินโดนีเซียเข้าไปชิงชนะเลิศกับเกาหลี และเอาชนะไป 3-2 หลังจากที่เคยเอาชนะในรอบแบ่งกลุ่มมาแล้ว 4-1 
 
ส่วนทีมอันดับ 5 และ 6 ต้องแข่งขันเพื่อหนีตกชั้น ซึ่งปรากฏว่า สวีนเดนชนะอังกฤษ 5-0 ทำให้ในครั้งต่อมาคือปี 1991 ในการแข่งขันที่เดนมาร์ค ทีมอังกฤษต้องตกชั้นไปอยู่กลุ่ม 2 และญี่ปุ่น ที่เป็นแชมป์กลุ่ม 2 ในการแข่งขันครั้งแรกเลื่อนชั้นขึ้นมาแทน แต่สุดท้ายในปีนั้น ญี่ปุ่นก็แพ้ในรอบ Relegation play-off ต่อสวีเดน ต้องตกชั้นอีกครั้ง  
 
  สำหรับการแข่งขัน 15 ครั้งที่ผ่านมา “จีน” ถือเป็นมหาอำนาจ โดยเป็นแชมป์ 10 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกเป็นแชมป์ติดต่อกันในการแข่งขันครั้งที่ 4-7 และอีกครั้งในการแข่งขันครั้งที่ 8-13 ตามมาด้วยเกาหลี เป็นแชมป์ 4 สมัย โดยเป็นแชมป์ในการแข่งขันครั้งที่ 2-3 ครั้งที่ 8 ในปี 2003 และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017 ส่วนอินโดนีเซีย เป็นแชมป์ครั้งแรกครั้งเดียว
 
ส่วนทีมชาติไทย เข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรกในกลุ่ม 3 และสามารถขยับอันดับเข้าแข่งขันในกลุ่มชิงแชมป์ หรือกลุ่มหนึ่งได้ในการแข่งขันครั้งที่ 4 ในปี 1995 ที่เมือง Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากคว้าแชมป์กลุ่ม 2 ในการแข่งขันครั้งที่ 3 ในปี 1993 แต่ก็ต้องตกชั้นอีกครั้งเมื่อแพ้อังกฤษ 2-3 ในรอบ Relegation play-off ก่อนจะกลับขึ้นมาอีกครั้งในปี 2005 ที่ประเทศในกลุ่มหนึ่งเพิ่มเป็น 8 ทีม ก่อนจะตกชั้นอีกครั้งในปี 2007 พร้อมมาเลเซีย  
 
  ในปี 2011 ที่ Qingdao ประเทศจีน ไทยก็สามารถขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มหนึ่ง ที่แบ่งเป็น 12 ทีม และหลังจากนั้นก็ไม่เคยตกชั้น โดยผลงานดีที่สุดของนักกีฬาไทย คือเข้าถึงรอบรองชนะเลิศและได้อันดับ 3 ร่วม 2 ครั้งคือปี 2013 ร่วมกับเดนมาร์ค และ 2017 ร่วมกับญี่ปุ่น
 
การแข่งขันครั้งที่ 16 นี้ ไทยจะเข้าร่วมโดยอยู่ในกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่ม 1A ร่วมกับญี่ปุ่นและรัสเซีย โดยนักกีฬาชายแก่ "กัน" กันตภณ หวังเจริญ, "เพชร"โฆษิต เพชรประดับ, "โอ๊ต" สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์, "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์, "สกาย" กิตตินุพงษ์ เกตุเรน, "ติน" ติณณ์ อิสริยะเนตร, "ดีโก้" กิตติศักดิ์ นามเดช, "ต้นน้ำ" นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร ส่วนนักกีฬาหญิง ประกอบด้วย "เมย์" รัชนก อินทนนท์, "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์, "ครีม" บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์, "กิ๊ฟ" จงกลพรรณ กิติธรากุล, "วิว" รวินดา ประจงใจ, "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, "เอิร์ธ" พุธิตา สุภจิรกุล, "เอ็มเอ็ม" สาวิตรี อมิตรพ่าย โดยมี เร็กซี่ ไมนากี้ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ส่วนทีมงานได้แก่ อังกุส ดาวี ซานโตซา, เทศนา พันธ์วิศวาส, ภัททพล เงินศรีสุข, พันตำรวจตรี กฤติน กฤตตานุกูลย์, นาวาอากาศตรีหญิง สราลีย์ ทุ่งทองคำ และทีมงานวิทยาศาสตร์การกีฬา อีก 3 คน

เตรียมเชียร์และส่งกำลังใจให้นักกีฬาไทยพร้อมกันสัปดาห์หน้า
 
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ