รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
นักกีฬาสมาคม-นักกีฬาอิสระ ความแตกต่างที่ดีของการพัฒนา
  11 ก.พ. 2562
แบ่งปัน



วันก่อน เขียนเรื่อง "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 22 ของโลก ที่ลาออกจากการเป็นนักกีฬาสมาคมฯ ไปเป็นผู้เล่นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในทีมแบดมินตันหลายประเทศ ทั้งมาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ที่มีนักกีฬาหลายคนไปแข่งขันในต่างประเทศในสถานะ "ผู้เล่นอิสระ"
 
  การที่สื่อมาเลเซียสนใจ "หมิว" ทั้งนี้เพราะมาเลเซียมองว่า เธอคือนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวของไทยที่มีพัฒนาการสูง โดยปีแรกที่มาแข่งในรายการ Malaysia Master ในวัย 19 เมื่อปี 2017 นักกีฬาโนเนมจากไทยในตอนนั้น สามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ Saina Nehwal อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือหนึ่งโลกจากอินเดีย 20-22,20-22 แบบกองเชียร์ประทับใจทั้งสนาม
 
ขณะที่รายการ PERODUA Malaysia Masters 2019 ซึ่งเป็นรายการระดับ HSBC BWF World Tour Super 500 ที่เพิ่งจบไปเมื่อกลางเดือนก่อน "หมิว" ก็ยังโชว์ฟอร์มดี เมื่อเอาชนะ Akane YAMAGUCHI นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวอดีตมือหนึ่งโลกจากญี่ปุ่น 21-18,21-12 จนสื่อมาเลย์ต้องขอสัมภาษณ์ว่าถึงการตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักกีฬาของสมาคม  

โดยในวันนั้น "หมิว" บอกนักข่าวมาเลเซียว่า การเป็นนักกีฬาสมาคมเป็นเรื่องดี คือได้เดินทางไปแข่งขันบ่อย แต่สำหรับตัวเธอ มันกลับเป็น "จุดอ่อน" เพราะทำให้ขาดการพัฒนา จนเธอตัดสินใจเป็นผู้เล่นอิสระ เพื่อแก้ 2 ปัญหาใหญ่ของตัวเอง คือเรื่องพละกำลัง และสมาธิความมุ่งมั่น ที่ทำให้เธอมักจะคุมตัวเองไม่ได้เมื่อผ่านเข้ารอบลึกๆจนต้องตกรอบ
 
  ก่อนจะถึง "หมิว" ความจริงนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันต่างประเทศในสถานะ "ผู้เล่นอิสระ" ก็มีชายคู่ คือ "อาร์ท-เอ" บดินทร์ อิสระ / มณีพงษ์ จงจิตร ที่ขยับอันดับโลกมาเป็นอันดับหนึ่งของไทย คืออันดับ 30 ขณะที่คู่เก่ง คือ"ติน-ดีโก้" ติณณ์ อิสริยะเนตร /  กิตติศักดิ์ นามเดช ที่ยังไม่กลับมาจับคู่กัน อยู่อันดับ 32 ส่วนคู่ "บาส-สกาย" เดชาพล พัววรานุ้คราะห์ / กิตินุพงษ์ เกตุเรน อยู่อันดับ 39
 
สำหรับมาเลเซียแล้ว สมาคมแบดมินตันมาเลเซียมองว่า การที่นักแบดมินตันออกไปเป็นนักกีฬาอิสระ จะสามารถยกระดับพัฒนาตนเองได้ เพราะต้องมีวินัยของตัวเอง บวกกับการเรียนรู้วิธีการฝึกซ้อมและเทคนิคใหม่ๆ

โดยในปัจจุบัน นักแบดมินตันระดับโลกของมาเลเซีย มี 2 คู่ใหญ่ที่ตัดสินใจลาออกจากสมาคมเพื่อไปฝึกซ้อมและแข่งขันในฐานนักกีฬาอิสระ คือ GOH V Shem / TAN Wee Kiong ชายคู่มือ 13 ของโลก เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2016 และ CHAN Peng Soon / GOH Liu Ying คู่ผสมมือ 6 ของโลก เหรียญเงินโอลิมปิก 2016 อีกคู่ของมาเลเซีย
 

สมาคมแบดมินตันมาเลเซียมองว่า การที่ 4 ผู้เล่นที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ออกไปเป็นผู้เล่นอิสระ ถือเป็น win-win game เพราะทุกฝ่ายมีแต่ได้ โดยนักกีฬามี"อิสระ"ในการเลือกลงแข่งขันรายการตามความพร้อม นอกเหนือจากการเรียนรู้ฝึกซ้อมแบบใหม่ๆ
 
  ขณะเดียวกัน "ข้อดี" ที่เกิดขึ้นอีกอย่างก็คือ สมาคมแบดมินตันฯสามารถประหยัดเงิน เพราะนักกีฬาทั้ง 4 คนที่ว่า ทำให้สมาคมฯมีเงินเดือนเหลือไปใช้ในการพัฒนานักกีฬาเยาวชน ในอัตราหนึ่งคนต่อเยาวชน 4 คน นั่นหมายถึงชายคู่และคู่ผสมทั้งสองคู่ สามารถนำไปใช้กับการพัฒนานักกีฬาเยาวชนได้ถึง 16 คน
 
หรือชายเดี่ยวอย่าง LIEW Daren ก็ทำผลงานได้ดี โดยอยู่อันดับ 29 ของโลก ตามหลัง LEE Zii Jia ดาวรุ่งพุ่งแรงที่ขยับมาอยู่อันดับ 28 ที่เป็นอันดับดีที่สุดของนักกัฬาชายเดี่ยวมาเลเซีย ขณะที่ LEE Chong Wei ที่ยังไม่กลับมาลงสนาม ตกไปอยู่อันดัย 30 ของโลก  

รูปแบบเดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นที่เกาหลีมาระยะหนึ่ง โดยในขณะนี้ นักแบดมินตันชายคู่คือ KIM Gi Jung / LEE Yong Dae ที่ไปแข่งขันในสถานะ "ผู้เล่นอิสระ" สามารถทำผลงานได้ดี ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 37 ของโลก ขณะที่ Min Hyuk KANG / KIM Won Ho ชายคู่มือหนึ่งของประเทศอยู่อันดับ 34
 
  ส่วนผู้เล่นหลักอีก 2 คู่ของสมาคม คือ CHUNG Eui Seok /KIM DukYoung ก็อยู้อันดับ 40 ส่วนคู่ CHOI SolGyu / SEO Seung Jae อยู่อันดับ 42  

เช่นเดียวกับชายเดี่ยวอย่าง LEE Hyun Il ที่กล่าวกันว่าการที่สมาคมไม่ยอมทำตามคำขอของทีมงานโค้ชที่ต้องการให้กลับมาติดทีมชาติตอนไปแข่งขันเอเชียนเกมส์เมื่อปีก่อน จนทีมงานโค้ชทีมชาติตัดสินใจลาออกทั้งชุดเมื่อสิ้นปี ก็ยังคงติดอันดับโลก และเดินสายลงแข่งในฐานะผู้เล่นอิสระหลายรายการ
 
 

การเป็น "นักกีฬาอิสระ" ของ "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ หรือ "อาร์ท-เอ" บดินทร์/มณีพงษ์ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและสนับสนุน เพื่อพัฒนานักกีฬาของไทยอีกรูปแบบ
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ