รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
“เอสซีจี” ศูนย์เพาะบ่มนักแบดมินตันไทย
  20 พ.ย. 2561
แบ่งปัน



วันวาน เขียนถึง ”บ้านทองหยอด” ว่าเป็นสถาบันพัฒนาเยาวชนไทย เนื่องจากเป็นโรงเรียนแบดมินตันที่ผลิต ”แชมป์เยาวชนโลก” ทั้งชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว วันนี้...จึงอยากเขียนถึงอีกองค์กรที่ต้องบอกว่าเป็นทั้งสถาบันและเสาหลักของแบดมินตันไทย นั่นคือ เอสซีจี
 
  เอสซีจี หรือ SCG ถือเป็นองค์กรเอกชนที่สนับสนุนแบดมินตันของประเทศไทยมายาวนาน ในฐานะผู้สนับสนับสนุนทั้งงบประมาณ สถานที่ และสิ่งที่อยากเขียนถึงในวันนี้ก็คือ เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสอนแบดมินตัน และที่ผ่านมา อคาเดมีแห่งนี้ สามารถผลิตเยาวชนขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติมากมาย
 
ถึงวันนี้ นักกีฬาของ”เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี” ก็เป็นนักกีฬาตัวหลักของทีมชาติไทยหลายคน อาทิ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสมมือ 8 ของโลก หรือหญิงคู่อย่าง”ปอป้อ-เอิร์ธ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย / พุธิตา สุภจิรกุล ที่เพิ่งกลับมาจับคู่ หลังจากปอป้อบาดเจ็บ แต่ก่อนหน้านั้น “เอิร์ธ” ก็ถูกส่งไปแข่งขันในประเภทหญิงคู่กับ “เฟม” ศุภิสรา เพียวสามพราน ผลผลิตรุ่นใหม่ของเอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี จนสามารถขยับมาอยู่อันดับ 47 ของโลกได้  

ขณะเดียวกัน แม้นักแบดมินตันไทยหลายคนไม่ได้เป็นนักกีฬาในสังกัดเอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี แต่ก็ล้วนแต่เป็นผลผลิตจากสถาบันแห่งนี้ ทั้ง”ต้นน้ำ” นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร , “กิ๊ฟ-วิว”จงกลพรรณ กิติธรากุล / รวินดา ประจงใจ หญิงคู่มือ 8 ของโลก หรือ “บาส-สกาย” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / กิตตินุพงษ์ เกตุเรน อดีตแชมป์ชายคู่เยาวชนโลก 2015

หรือย้อนไป ก็มีผลผลิตคือเยาวชนไทยคู่แรกที่เป็นแชมป์โลก คือ”เอ-นา” มณีพงศ์  จงจิตร / รจนา  จุฑาบัณฑิตกุล แชมป์เยาวชนโลก 2009 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่”เมย์”รัชนก อินทนนท์ คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวปีแรก
 


 
  ถึงตอนนี้ เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี ภายใต้การดูแลของ”โค้ชโอม”เทศนา พันธ์วิศวาส อดีตนักแบดประเภทชายคู่ของไทยเป็นคนดูแล ก็มีนักกีฬาระดับเยาชนมากมายที่กำลังทยอยเข้าสู่แคมป์ทีมชาติ
 
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากการทำงานและวางแผนระยะยาว นับแต่ก่อตั้ง "เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี" เมื่อปี 2550 ในรูปแบบโครงการพัฒนาทักษะและความสามารถนักแบดมินตันเยาวชนไทยด้วยมาตรฐานสากล โดยตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเทพกรีฑา 37 ก่อนจะขยายและย้ายไปที่ศูนย์ฝึกแบดมินตันและวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถนนนางลิ้นจี่ซอย 3 เมื่อปี 2558  

“ความพร้อม” ทั้งสถานที่ และความสมบูรณ์แบบของสนามที่มีสนามแบดมินตันมาตรฐาน 18 คอร์ต มีฟิตเนสเพื่อเสริมสร้างร่างกาย ห้องกายภาพ มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาคือ รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดูแล และ ดร.อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนานนท์ เป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการกีฬา ดูและเรืองโภชนาการ

และนี่จะเป็นศูนย์เพาะบ่มนักกีฬาจากเยาวชนสู่ทีมชาติ ... ต่อไป
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ