รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
เอเชียนเกมส์..การบ้านที่ชาติคว้าเหรียญทองต้องแก้ไข
  30 ส.ค. 2561
แบ่งปัน



ในที่สุด แบดมินตันเอเชียนเกมส์ก็จบลงอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่ได้เหรียญทอง  นั่นคือ จีน ได้ 3 เหรียญทองจากทีมชาย หญิงคู่ และคู่ผสม ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 2 เหรียญทองจากชายเดี่ยวและชายคู่ ขณะที่ญี่ปุ่นได้เหรียญทองทีมหญิง และไต้หวัน ได้เหรียญทองหญิงเดี่ยว
 
  อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เหรียญทอง แต่ทุกชาติก็มี "จุดแข็ง" ที่ต้องส่งเสริมพัฒนา และ "จุดอ่อน" ที่ต้องแก้ไขหรือยกเครื่อง

เริ่มจาก "จีน" ที่ถือว่ายังคงรักษาความเป็นมหาอำนาจลูกขนไก่โลก แม้อาจจะลดน้อยลง โดยคว้า 3 เหรียญทอง ซึ่งมากที่สุดในทุกชาติ
 
แน่นอนว่า "จุดแข็ง" คือทีมชาติจีนทีมชาย ที่นักกีฬาของจีนคว้าทั้งแชมป์โลกประเภททีมในศึก Thomas Cup และเอเชียนเกมส์ แต่ถึงตอนนี้ "ชายเดี่ยว" กลับยังไม่น่าพอใจผลงาน เพราะยังไม่มีผลงานเหมือนเดิม แม้จะยังมีนักแบดมินตันจีนได้แชมป์ใหญ่บ้าง เช่น All England  

ส่วน"หญิงเดี่ยว"ไม่ต้องพูดถึง เพราะนักกีฬาจีนห่างเหินคำว่า"แชมป์"มานาน แต่ฟอร์มในช่วงหลัง ถือว่าอีก 2 ปี ผู้เล่นชุดปัจจุบัน น่าจะไว้วางใจได้ในกีฬาโอลิมปิก 2020 ถึงขั้นลุ้นเหรียญทองได้ด้วยซ้ำ

ขณะที่"หญิงคู่" ถือว่าการคว้าเหรียญทองของ CHEN Qingchen - JIA Yifan อดีตแชมป์โลก 2017 เป็นที่น่ายินดี แต่ที่ทั้งคู่ต้องปรับปรุงคือความสม่ำเสมอ เพราะเมื่อต้นเดือน ในศึกชิงแชมป์โลกในบ้าน ทั้งคู่ไม่มีเหรียญรางวัลติดมือด้วยซ้ำ
 
  ส่วนคู่ผสม  ZHENG Siwei - HUANG Yaqiong คู่แชมป์โลก ที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์หลังจากคว้าแชมป์โลกเมื่อต้นเดือน น่าจะตอบโจทย์ว่าจะมีคู่ผสมจีนคู่ไหนเป็นความหวังของกองเชียร์ได้

มาถึง"อินโดนีเซีย" ที่ได้ 2 เหรียญทองจากชายเดี่ยวและชายคู่ ก็น่าจะพอใจกับการแข่งขันครั้งนี้ แม้ชายเดี่ยวอาจจะไม่ใช่ความหวังของทีมงาน
 
ในประเภทชายเดี่ยว การคว้าเหรียญทองของ Jonatan CHRISTIE เป็นเหรียญทองที่เซอร์ไพรซ์ของเจ้าภาพ เพราะอดีตมหาอำนาจแบดมินตันโลก ขาดนักกีฬาประเภทนี้ไปนาน แต่การคว้าแชมป์ครั้งนี้ ก็ไม่ได้บอกถึงความสำเร็จอะไรมากนัก นอกจากความภาคภูมิใจในการแข่งขันครั้งนี้ แต่ชายเดี่ยวทั้งสองคนก็แสดงให้เห็นถึงสปิริตความเป็นนักสู้ต่อหน้ากองเชียร์  

แน่นอนเมื่อมองผลงานที่ได้เหรียญเงินทีมชาย อย่างน้อยก็พออุ่นใจว่านักแบดมินตันชายเดี่ยวของเขา มีจิตใจเป็นนักสู้จริงๆ ที่ลงเล่นจนจบเกมทั้งๆที่แทบจะก้าวขาไม่ออก ก่อนจะมาแผลงฤทธิ์ในประเภทบุคคล

ส่วนประเภทชายคู่ Marcus Fernaldi GIDEON - Kevin Sanjaya SUKAMULJO ยังคงแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหมาะสมที่จะเป็นมือ 1 โลก แม้จะเสียฟอร์มเล็กๆ ในศึกชิงแชมป์โลก

แถม Fajar ALFIANMuhammad - Rian ARDIANTO ยังโชว์ฟอร์มดี ล้มคู่แชมป์โลกจากจีนมาได้เหรียญเงิน ให้ชาวอินโดนีเซียดีใจกันทั้งสนาม ยกเว้นทั้งคู่ที่ "พลาดแชมป์" อย่างน่าเสียดาย
 
  ขณะที่"ไต้หวัน" คงไม่มีอะไรต้องพูดถึง เพราะเหรียญทองหญิงเดี่ยวของ TAI Tzu Ying ต้องถือเป็นความสำเร็จส่วนบุคคลที่เธอทำได้ดีมาต่อเนื่อง ถ้ามองข้ามศึกชิงแชมป์โลกที่เธอเสียฟอร์มเล็กๆ

ถ้าจะเสียดายสำหรับไต้หวันก็คือชายเดี่ยวที่ CHOU Tien Chen ได้แค่เหรียญเงิน ส่วนประเภทอื่น คงต้องยกระดับฝีมือและหานักกีฬามือใหม่มาเสริม

ส่วนที่ต้องบอกว่า "ผิดหวัง" คงเป็น "ญี่ปุ่น" ที่ได้แค่เหรียญทองทีมหญิง เพราะพวกเธอมาแบบ "ไร้เทียมทาน" และได้แชมป์แบบไม่มีใครกังขา
 
ส่วนที่ใช้คำว่า "ผิดหวัง" เพราะเมื่อแยกทีมมาเป็นประเภทบุคคล มีเพียง "หญิงคู่" ที่ได้ชิงและได้แค่เหรียญเงิน ขณะที่ประเภทอื่น ไม่ผ่านมาถึงรอบชิงชนะเลิศเลย

แถมชายเดี่ยวอย่าง Kento Momota ที่ถูกมองว่ามีโอกาสคว้าเหรียญทอง หลังคว้าแชมป์โลกเมื่อต้นเดือน ก็ตกม้าตายก่อนถึงรอบรองชนะเลิศด้วยซ้ำ
 

อีก 2 ปีที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เชื่อว่าทั้งหมดยังเป็น "ตัวหลัก" ของทีม การไร้แชมป์ประเภทบุคคล จึงเป็น "การบ้านใหญ่" ของทีมโค้ชญี่ปุ่น

นี่จึงเป็นบทสรุปของชาติที่มีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ