เริ่มต้นที่หญิงเดี่ยว Akane YAMAGUCHI ที่แรงกิ้งขยับมาเป็นอันดับ 1 และ Nozomi OKUHARA แชมป์โลกคนล่าสุด เป็น”ตัวยืน”ทำคะแนนให้ทีมแน่นอน ขณะที่ประเภทคู่ แม้ผลงาน Misaki MATSUTOMO - Ayaka TAKAHASHI อาจจะยังไม่เด่นเหมือนตอนคว้าแชมป์โอลิมปิก 2016 แต่ก็ประมาทไม่ได้ ส่วน Yuki FUKUSHIMA - Sayaka HIROTA คู่มือ 4 ของโลกก็คงไม่มีคู่ไหนอยากลงแข่งขันด้วย |
ในขณะที่ทีมชาติจีน การเลิกพร้อมกันของ 3 กำลังหลักประเภทเดี่ยวคือ สอง Wang หนึ่ง Li ทำให้นักกีฬาหญิงเดี่ยวถูกมองว่าเป็นจุดด้อย และยังไม่เคยมีใครคว้าแชมป์รายการใหญ่เลยนับแต่ขาด 3 พี่ใหญ่ แต่ถึงตอนนี้ CHEN Yufei นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 5 ของโลกและ HE Bingjiao นักแบดมือ 8 ของโลกก็”เติบโต”พอที่จะลงป้องกันแชมป์ บวกกับกำลังเสริมอย่าง GAO Fangjie ก็คงไม่มีใครมองข้ามหญิงเดี่ยวจีน |
ส่วนในประเภทคู่ CHEN Qingchen - JIA Yifan คู่มือ 1 โลกก็ยังคงวางใจได้เมื่อถึงรายการใหญ่ ส่วนอีก 3 คู่คงต้อง”วัดใจ”ว่าสตาฟฟ์โค้ชจีนจะเลือกคู่ไหนมาแข่ง และบางทีคู่อย่าง YU Xiaohan - HUANG Yaqiong อาจจะได้รับการเรียกให้กลับมา หลังจากที่เกือบไม่ได้เล่นคู่กัน เพราะ HUANG Yaqiong ถูกจับให้ไปเอาดีทางประเภทคู่ผสม |
ขณะที่เจ้าภาพ”ทีมไทย” ซึ่งเป็นทีมวาง 4 ก็ถือว่า”ครบเครื่อง ที่มี”เมย์”รัชนก อินทนนท์ กับ”แน๊ต”ณิชชาอร จินดาพล เป็น 2 พี่ใหญ่ประเภทเดี่ยว ส่วนประเภทคู่ “กิ๊ฟ-วิว” จงกลพรรณ กิติธรากุล - รวินดา ประจงใจ เป็นคู่มือ 8 โลก ''เบสท์-จ๋อมแจ๋ม'' ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม - ผไทมาส เหมือนวงศ์ คู่มือ 15 โลกและ “เอ็มเอ็ม-มุก” สาวิตรี อมิตรพ่าย –พชรพรรณ ช่อชูวงศ์ คู่มือ 43 โลกก็ยังสร้างผลงานในระดับน่าพอใจ |
ส่วนทีมในพอร์ต 2 อันดับ 5-8 ทั้งไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซียและเดนมาร์ค ต่างก็มีนักแบดมินตันที่ฝีมือดี อย่างไต้หวัน แน่นอนว่า TAI Tzu Ying มือหนึ่งหญิงเดี่ยวโลกเป็นตัวชูโรง เช่นเดียวกับอินเดียที่มีทั้ง PUSARLA V. Sindhu และ Saina NEHWAL ขณะที่อินโดนีเซียและเดนมาร์ค ก็มีดีตรงประเภทหญิงคู่ นั่นคือ Greysia POLII - Apriyani RAHAYU หญิงคู่มือ 6 โลก ส่วนเดนมาร์ค ก็คงเป็น Kamilla Rytter JUHL - Christinna PEDERSEN คู่มือ 2 โลกที่เพิ่งคว้าแชมป์ All England |