รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
“เสียงสะท้อนของแชมป์ โอลิมปิคคนหูหนวกที่ตุรกี  Deaflympic 2017 กับวงการแบดมินตันไทย” 
  27 มี.ค. 2561
แบ่งปัน

ปัจจุบัน แบดมินตัน ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่คนไทยภาคภูมิใจ เพราะเรามีนักกีฬาระดับโลก และเป็นกีฬาที่แฟนๆชาวไทยติดตามการแข่งขันไม่น้อยกว่ากีฬาอื่นๆ

Badmintonthaitoday ในฐานะสื่อที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อรายงานข่าว และนำเสนอข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับแบดมินตัน ได้พยายามที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ทั้งเพื่อให้ทราบข่าวสารและความเป็นไปของวงการแบดมินตันโลก แต่เป้าหมายที่แท้จริง ก็เพื่อยกระดับแบดมินตันในประเทศไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทั้งการแข่งขันและผลงานของนักกีฬาไทย

ในฐานะสื่อ Badmintonthaitoday ได้รับจดหมายจากแฟนแบดมินตัน ที่เขียนมาเพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนากีฬาประเภทนี้ในไทย และเห็นว่า จดหมายฉบับนี้จากผู้ติดตามข่าวสารแบดมินตัน เป็นหนี่งในมุมมองที่น่าสนใจในฐานะผู้ติดตามและผู้สนับสนุนนักกีฬาไทย เราจึงขอนำข้อเสนอมาลง เพื่อให้เห็นอีกมุมมองของกองเชียร์ชาวไทย ที่ต้องการเห็นการพัฒนากีฬาแบดมินตันในบ้านเรา

Badmintonthaitoday พร้อมเสมอที่จะนำความคิดเห็นและมุมมองจากทุกฝ่ายมานำเสนอ เพราะเราเชื่อมั่นว่าทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกับเรา นั่นคือรักและต้องการให้แบดมินตันไทยพัฒนาและก้าวไกลกว่านี้

ขอแสดงความนับถือ
ทีมงาน Badmintonthaitoday


"ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมแบดมินตันไทยแบบบูรณาการ เพื่อผลักดันกีฬาแบดมินตันให้เป็นกีฬามหาชนประจำชาติอย่างแท้จริง"

เป็นความจริงที่ว่า ในปัจจุบันนักกีฬาแบดมินตันของไทยสามารถสร้างผลงานในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ดีกว่าในอดีต แทบทุกทัวร์นาเม้นท์จะต้องมีนักกีฬาของไทยผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศหรือรอบรองชนะเลิศเสมอ
แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไปเราจะพบ2หัวข้อที่เป็นคำถามสำคัญ
  1. ทำไมทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ที่มีนักกีฬาระดับท็อปของโลกลงแข่งขันครบครัน นักกีฬาของเรา ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มีเพียงคนเดียวที่สามารถฝากความคาดหวังได้คือ รัชนก อินทนนท์ แต่ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้เป็นประจำสม่ำเสมอเท่าใดนัก
  2. ทำไมนักกีฬาความหวังมักเป็นคนหน้าเดิมกลุ่มเล็กๆโดยที่เราไม่สามารถสร้างสายเลือดใหม่เข้ามาทดแทนได้เสียที  สัดส่วนผู้เล่นที่มีฝีมือใกล้เคียงระดับโลกของนักกีฬาไทยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับนักกีฬาชั้นนำกีฬาแบดมินตันประเทศอื่น
  ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับนักกีฬาหญิงจากอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผมประเมินฝีมือเธอว่าใกล้เคียงกับ นักกีฬาหญิงเยาวชนทีมชาติของไทย  เบญญาภา เอี่ยมสะอาด

เธอบอกผมว่าในอินเดียผู้เล่นหลายคนไม่รู้จักกัน เพราะมีนักกีฬาแบดมินตัน ฝีมือดีจำนวนนับไม่ถ้วน และนักกีฬาผู้หญิงความสามารถพอๆกับเธอหรือสูงกว่าขึ้นไปในอินเดีย มีไม่ต่ำกว่า"300คน" 

ระดับน้องโมนา เบญญาภา บ้านเรามีไม่ถึง30คนนะครับ เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันมากกว่า10เท่า

ในปัจจุบัน หากไม่หลอกตัวเองเรายังถือเป็นชาติที่ตามหลังมหาอำนาจแบดมินตันชาติอื่นอีกหลายประเทศ
ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย เดนมาร์ค อินเดีย หรือแม้แต่ จีนไทเป ต่างมีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในเวทีใหญ่ของโลกมากกว่าเราอย่างชัดเจน



เราพยายามศึกษาวิธีการฝึกซ้อมนักกีฬาจากประเทศเหล่านั้น ส่งโค้ชไทยไปดูการฝึกสอนเพื่อนำวิธีของเขามาใช้กับนักกีฬาของเรา รวมถึงจ้างผู้ฝึกสอนต่างชาติมาทำงานให้เรา โดยเราลืมสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากไป นั่นคือ "การเดินตามก้าวเดิม ของผู้ที่นำหน้าเรา ย่อมหมายถึง การเดินตามหลังเขาต่อไป"

หากเราทำสิ่งที่แตกต่างจากเขา คิดให้ไกลกว่าเขา เราจะมีโอกาสได้ก้าวนำหน้าเขาได้ในที่สุด "ผู้ตาม ให้เดินตามรอยเท้าผู้นำได้ดีอย่างไรก็ยังคงเป็นผู้ตามวันยังค่ำ"

ผมมีทางออกให้นะครับ โปรดลองไตร่ตรองฟังผมด้วยใจที่เปิดกว้าง 

คำว่า สามัคคี คือพลัง เราได้ยินคำนี้กันมาชั่วชีวิต แต่เราเข้าใจความหมายดีแค่ไหน
ถ้าผมจะกล่าวว่า ทุกวันนี้สโมสรสมาชิกต่างๆหลายแห่งมองสมาคมแบดมินตัน ไม่ต่างจาก คนขับรถสิบล้อมองดูตำรวจจราจร เราจะยอมรับกันได้ไหมว่ามันคือความจริง


สโมสรสมาชิกได้อะไรจากสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยบ้างครับ

หากเป็นสโมสรเล็กๆที่เราไม่มีเงินทุนเมื่อเราฝึกนักกีฬาของเรา จนเติบโตก้าวหน้ามีศักยภาพที่จะไปสู่ระดับโลก ถึงเวลานั้น นักกีฬาของเรากลับต้องเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคม หากต้องการมีโอกาสก้าวหน้าได้ลงแข่งขันต่างประเทศ หรือเป็นทีมชาติไทยต่อไป

ผลผลิตที่เราสร้างมากับมือ เราทำได้เพียงแค่เป็นผู้ส่งมอบให้สมาคมโดยผู้ที่นำผลงานของเราไปสานต่อไม่ได้ให้การช่วยเหลือตอบแทนใดๆกลับมาถึงเราที่เป็นผู้สร้าง
 
  มันคือความจริงซึ่งเราต้องเผชิญกันตลอดมา ถึงแม้จะกล้ำกลืนความขมขื่นผิดหวังด้วยการปลอบใจตัวเองว่า เราส่งนักกีฬาของเราไปสู่เส้นทางที่ดี ไปสู่โอกาสที่จะสานฝันของเขาให้เป็นความจริง 

สมาคมโฟกัสแต่ผลงานของนักกีฬาที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของตัวเอง ที่ได้มาจากผลิตผลของสโมสรเล็กๆอย่างเรา และสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการยอมรับกลายๆว่ากลุ่มนักกีฬาเหล่านั้นคือว่าที่นักกีฬาทีมชาติ สมาคมหาเงินทุนส่งนักกีฬาเหล่านี้ไปแข่งเพื่อสร้างผลงานให้สมาคม แต่ กลับไม่ดูแลสโมสรที่เป็นผู้ฟูมฟักนักกีฬาเหล่านี้ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ เติบโตเป็นต้นกล้า ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายปีจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ให้สมาคมได้นำไปใช้งาน

ส่วนในสโมสรใหญ่ซึ่งสามารถหาผู้สนับสนุนให้งบประมาณส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศในนามประเทศไทย กลับเกิดการถูกเปรียบเทียบว่า "เป็นคู่แข่งของสมาคม เป็นฝั่งตรงข้าม" 

อีกทั้งสโมสรเล็กๆก็วิตกกังวลว่าจะมีข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจในโอกาสต่างๆมาถึงตัวนักกีฬาของตนเอง ให้ย้ายสังกัดไปเข้าร่วมกับสโมสรใหญ่แห่งนั้น


พวกเราอยู่กันแบบไหนกัน?
ความสามัคคี ความเมตตา และคุณธรรม ที่เพื่อนมนุษย์ควรมีต่อกัน ทำไมมันถึงเหือดหายไปจากใจของเรา

มันจะดีกว่าไหม หากทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันเพื่อทำให้สังคมแบดมินตันของเรามีแต่ความสงบสุขและเต็มไปด้วยความฝันความหวัง ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง


วิธีการนั้นมีและเรียบง่ายที่สุด
"สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยจะต้องยกบทบาทตัวเองขึ้นไปเป็นผู้จัดการแข่งขันและหาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับสโมสรสมาชิกทุกทีม โดยต้องไม่มีหน้าที่ ฝึกสอนนักกีฬาอีกต่อไป กล่าวโดยง่ายที่สุดคือ ยุบการฝึกสอนและนักกีฬาของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยออกไปจากระบบ"และปล่อยนักกีฬาของสมาคมกลับเข้าสู่ต้นสังกัดเดิม


หน้าที่ของสมาคมคือการหาเงินทุนจากสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน
เพื่อนำมาจัดสรรงบประมาณมอบให้กับสโมสรสมาชิก ทุกทีมรายปี ปีละ1ล้าน หรือ5แสน บาท ในการพัฒนานักกีฬาแบดมินตันของแต่ละสโมสร 

จัดการแข่งขัน เพื่อเฟ้นหาผู้เหมาะสม ในการเข้าเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติ ทุกวาระ(ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โทมัส อูเบอร์ สุธีรมาน คัพ)

ไม่มีการผูกขาดการเป็นนักกีฬาทีมชาติอีกต่อไป


และในรายการเก็บคะแนนสะสมโลก BWF 
ทุกรายการ สมาคมควรเปิดให้มีการแข่งขันคัดตัวเพื่อรับ โควตา การสนับสนุนงบประมาณส่งแข่งขันจากสมาคม อาจกำหนดโควต้าให้ ประเภทละ 4คน/คู่ 

 
โดยหากเป็นรายการระดับสูง 
ต้องกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เข้าคัดเลือกทุนส่งแข่งขันว่าต้องมีแรงกิ้งโลกอยู่ในเกณฑ์ที่หากส่งชื่อสมัครแข่งขันไปจะมีสิทธิ์ลงแข่งรอบควอลิฟายด์เป็นอย่างน้อย
(รายการตั้งแต่ระดับ ชาเล้นจ์ ขึ้นไป)

ซึ่งหากเป็นรายการระดับต่ำ อย่าง อินเตอร์เนชั่นแนลซีรี่ย์ ซึ่งนักกีฬาสมัครแข่งได้แม้ไม่มีแรงกิ้งโลก สมาคมก็สามารถเปิดให้คัดตัวโดยไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขเลย

ส่วนนักกีฬาที่คัดทุนไม่ผ่าน หรือไม่ได้เข้าร่วมคัดหากสโมสรต้องการส่งเข้าแข่งขันโดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆเองก็ให้สมาคมให้ความร่วมมือส่งชื่อสมัครแข่งให้ตามปกติ
 

ผมคิดว่าสมาคมแบดมินตันจะถูกยกย่องและได้รับความเคารพจากสโมสรสมาชิก ทุกทีมว่า เป็นองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ของวงการแบดมินตันอย่างแท้จริง


ทุกสโมสร จะรู้สึกว่า สมาคมยืนหยัดเคียงข้างเขา
ความหวังที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่มีขอบเขตและกำแพงใดมาปิดกั้น ประตูสู่ทีมชาติและโอกาสในการไปแข่งต่างประเทศในรายการระดับโลกจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้

นักกีฬา ผู้ฝึกสอนจะทำงานหนักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สร้างผลงานออกมาแข่งขันกันเพื่อคว้าโอกาสในฝันจากการสนับสนุนของสมาคมแบดมินตันอย่างเต็มที่

การขับเคี่ยวที่เข้มข้นตั้งแต่ระดับสโมสร จะก่อให้เกิดการพัฒนานักกีฬาที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง ศักยภาพอันเกิดจากการฝึกซ้อมที่มีแรงจูงใจ อยากได้โอกาสไปแข่งขันต่างประเทศนั้นมีผลดีมากกว่าการซ้อมโดยไม่มีเป้าหมายอะไรเป็นตัวผลักดันมาก

เราจะได้นักกีฬาที่เตรียมตัวมาดี มีความเป็นนักสู้ และกระหายความสำเร็จ พร้อมที่จะลงแข่งขันและสามารถเอาชนะนักกีฬาคู่แข่งชื่อดังทุกคนที่ยืนขวางทางความสำเร็จของเขา

เมื่อผู้ปกครองเด็กคนอื่นเห็นว่าเล่นแบดมินตันแล้วมีดีอย่างไร กีฬาแบดมินตันสนุกแค่ไหน มีนักกีฬาไทยได้โอกาสไปแข่งขันต่างประเทศจำนวนมากและคว้าชัยชนะกลับมาได้สำเร็จหลายคน ก็จะทำการส่งเสริมบุตรหลาน ให้เริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันกันอีกมากมาย
วงการแบดมินตันไทยจะเกิดการตื่นตัวสุดขีดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


สปอนเซอร์ ต่างๆจะหลั่งไหลเข้ามามากมายโดยไม่ต้องร้องขอ เพราะแบดมินตันจะกลายเป็นกีฬามหาชนในที่สุด
เราจะไม่ต้องอยู่กันแบบเดิมอีกต่อไป

ทุกฝ่ายแค่เพียงหันหน้าเข้าหากัน
เริ่มต้นที่จะให้ความจริงใจต่อกันและยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

แค่อยากเห็นวันพรุ่งนี้ เราดีกว่าวันนี้
อยากเห็นสมาคมแบดมินตัน สโมสรเล็ก สโมสรใหญ่ ทุกฝ่ายเป็นพวกเดียวกัน

สามัคคี คือพลัง ผมหวังว่าท้ายที่สุด เราจะเข้าใจมันอย่างแท้จริง

ขอบพระคุณครับ
นาย ศิริวัฒน์ มาตยานุมัติ
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ