รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
ถึงคิว”ซุปตาร์”ออกโรง ....”หลินตัน”โพสต์ตำหนิกติกาการเสิร์ฟใหม่
  9 มี.ค. 2561
แบ่งปัน



หลังจากที่สหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) ได้นำกฎการเสิร์ฟลูกแบบใหม่มาใช้ โดยกำหนดว่า ไม่ให้สูงเกิน 1.15 เมตรในจังหวะที่ลูกแบดมินตันกระทบกับแร็กเก็ต โดย BWF กำหนดให้ใช้กฎนี้อย่างเป็นทางการในการแข่งขัน All England ในสัปดาห์หน้า
 
  อย่างไรก็ตาม กติกาการเสิร์ฟนี้ ได้ถูกนำมา”ทดลองใช้”ในการแข่งขัน German Open ที่กำลังแข่งขันอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของนักกีฬา เพราะนักแบดมินตันหลายคนโดยจับฟาล์ว(เสิร์ฟเสีย) ไม่ว่าจะเสิร์ฟแบ็คแฮนด์หรือโฟร์แฮนด์ เพราะการพิจารณาว่าสูงเกิน 1.15 เมตรหรือไม่นั้น มาจากการมองโดยใช้”สายตา”และการตัดสินใจของกรรมการกำกับการส่งลูกไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาวัด
 
ทั้งนี้ “แบดมินตัน”ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีการปรับเปลี่ยนกฎบ่อยครั้ง โดยมีการวิจารณ์ว่าเป็นเพราะนักแบดมินตันยุโรปเล่นสู้นักกีฬาเอเชียไม่ได้ จึงเปลี่ยนกฎโดยอ้างว่าเพื่อให้เกมสนุก ตั้งแต่การเปลี่ยนมานับแต้มเป็นแรลลี่พอยต์ 21 คะแนนจากเดิมที่ใช้ 15 คะแนนและนับเฉพาะคะแนนที่ผู้เสิร์ฟทำได้ และอาจจะมีการใช้คะแนนและเกมแบบใหม่ในอนาคต  
 
  การปรับเปลี่ยนกติกาการเสิร์ฟที่ระบุว่าห้ามเกิน 1.15 เมตรนี้ ล่าสุด Lin Dan “หลินตัน” นักแบดมินตันชายเดี่ยวจากจีน เจ้าของแชมป์โลก 5 สมัย แชมป์โอลิมปิก 2 สมัย ก็ได้ออกมาโพสต์เพื่อแสดงความเห็น โดย”ตำหนิ” BWF โดยตรงว่าเป็นการถอยหลัง เพราะการจับฟาล์วการเสิร์ฟ ขึ้นอยู่กับกรรมการกำกับการส่งลูก ไม่ใช่เทคโนโลยี และระบุว่า”สิ้นหวัง”กับการตัดสินใจที่ BWF ทำเหมือนไม่มั่นใจกีฬาแบดมินตัน จึงต้องเปลี่ยนกฎตลอดเวลา

โดยโพสต์ของซุปตาร์แบดมินตันหมายเลข 1 ของโลก ที่ถือว่า”ตีแสกหน้า” BWF ครั้งนี้ มีข้อความ(แปล)สรุปว่า

“ถ้าพูดถึงกฎการเสิร์ฟไม่ให้เกิน 1.15 เมตร ผมมองว่าแม้กระทั่งเป็นกฎพื้นฐานที่สุดของกีฬาแบดมินตันยังถูกปรับเปลี่ยน ในฐานะผมเป็นนักกีฬา ผมมีความรู้สึกสิ้นหวัง

ผมแข่งขันกีฬานี้มาหลายทัวร์นาเมนต์ มากกว่า 10 ปี ฝึกซ้อมมา 30 ปี แต่มาปีนี้ (2018) BWF กลับที่จะมาสอนให้ทุกคนมาเริ่มเสิร์ฟให้ถูกต้องกันใหม่อีกที มันเป็นเรื่องที่น่าขำสิ้นดี

 
ในรายการ German Open ปีนี้ กฎการเสิร์ฟใหม่ได้เริ่มใช้ครั้งแรก มีนักกีฬาหลายคนโดนจับเสิร์ฟ ผมก็เป็นหนึ่งคนในนั้น จุดสนใจของเกมการแข่งขันแทนที่จะอยู่ที่นักกีฬาแต่กลับกลายเป็นอยู่ที่คำตัดสินของกรรมการแทน ที่จะชี้ชะตาในการแข่งขันนัดนั้นๆ   
 
  ซึ่งความคิดแรกผมเข้าใจว่า BWF จะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการตรวจจับเสิร์ฟ แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ มันเป็นการใช้การตัดสินจากสายตากรรมการเท่านั้นเอง ซึ่งมันไม่เหมือนกับระบบ Hawk-Eye ที่สามารถเชื่อถือและพิสูจน์ได้ แต่ผมไม่ได้โทษตัวกรรมการเพราะเพียงรู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

ผมเพียงสงสัยว่า BWF ต้องการอะไร? จุดประสงค์ของกฎการเสิร์ฟแบบใหม่คืออะไร? หรือว่าต้องการให้กีฬาแบดมินตันพัฒนาขึ้น? ผมขอพูดจากใจจริงว่าคุณพยายามทำกฎเลียนแบบกีฬาเทนนิสแต่มันล้มเหลวสิ้นดี

สิ่งที่คุณควรทำคือปรึกษาหาคำแนะนำจากผู้เล่นระดับโลกและโค้ช แทนที่จะใช้คนไม่กี่คนในสหพันธ์มาคิดกฎ (สุมหัว) และเริ่มดำเนินการใช้กฎใหม่นี้ 
 
คุณไม่มีความมั่นใจกับกีฬาแบดมินตันแล้วหรือ ถึงทำให้ต้องคอยเปลี่ยนกฎใหม่อยู่เรื่อยๆ 

มันมีหลายอย่างที่คุณควรจะทำมากกว่าคือ การนำกีฬาแบดมินตันก้าวขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง

ในฐานะที่ผมเป็นนักกีฬาที่ผ่านประสบการณ์มามากกว่า 30 ปี ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะนำพากีฬาแบดมินตันไปสู่ระดับใหม่ที่ดีขึ้น โดยการใช้อำนาจและชอบธรรม!”
 

การออกโรงตำหนิการใช้กฎใหม่ของ”หลินตัน”ครั้งนี้ น่าจะสร้างผลกระทบต่อการใช้กฎใหม่อย่าแน่นอน เพราะเป็นเสียงสะท้อนโดยตรงจากนักกีฬาที่มากทั้งประสบการณ์และฝีมือ

ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ