สำหรับ 3 แชมป์ของไทยนั้น ประกอบด้วย หญิงเดี่ยว”แน๊ต” ณิชชาอร จินดาพล มือ 1 ของรายการ คว้าแชมป์หลังเอาชนะ “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ มือ 3 ของรายการ 21-11 และ 21-18 |
ต่อด้วย หญิงคู่ “กิ๊ฟ-วิว" จงกลพรรณ กิติธรากุล - รวินดา ประจงใจ แชมป์หญิงคู่ซีเกมส์ คู่มือ 1 ของรายการ ชนะ Anggia Shitta AWANDA - Ni Ketut Mahadewi ISTARANI คู่มือ 2 ของรายการจากอินโดนีเซีย 21-19 และ 21-17 |
ปิดท้าย ชายคู่ “ติน-ดีโก้” ติณณ์ อิสริยะเนตร - กิตติศักดิ์ นามเดช สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ เมื่อเอาชนะ Wahyu Nayaka ARYA PANGKARYANIRA - Ade Yusuf SANTOSO คู่มือวางอันดับ 7 ของรายการจากอินโดนีเซีย 2-1 เกม 21-18 , 11-21 และ 22-20 |
ส่วนที่พลาดแชมป์ก็คือประเภทคู่ผสม ซึ่ง “บาส-เอิร์ธ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ – พุธิตา สุภจิรกุล คู่มือวางอันดับ 7 ได้แค่รองแชมป์ เมื่อพ่าย CHAN Peng Soon - Liu Ying GOH คู่มือ 5 ของรายการ รองแชมป์โอลิมปิก 2016 แบบได้ลุ้น 1-2 เกม 15-21 ,21-14 และ 16-21 |
อย่างที่บอก ว่าถือเป็น”ความสำเร็จ”กับผลงาน 3 แชมป์ 1 รองแชมป์ของนักกีฬาไทย แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะในความสำเร็จที่ต้องชื่นชมนักกีฬาทุกคนนั้น ยังมีเรื่องที่ต้องกล่าวถึงเพื่อให้เห็นภาพว่า”ความสำเร็จ”ของนักกีฬาไทยนั้น แม้จะเกิดขึ้นจาก”ฝีมือ” แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคิดถึงเรื่อง”คุณภาพ”ของนักกีฬาต่างชาติที่มาร่วมแข่งขันด้วย |
เพราะสิ่งที่เห็นได้ถึงความน่าผิดหวังของการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ การขาด 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการแบดมินตันโลก นั่นคือจีนกับเกาหลีใต้มาร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯสมควรทบทวนและพิจารณาว่าทำไมทั้ง 2 ชาติจึงไม่ส่งผู้เล่นมาร่วมแข่งขัน...แม้แต่คนเดียว |
ส่วนกรณีที่มีผู้เล่นระดับทีมบีมาแข่ง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในระบบการแข่งขัน HSBC BWF World Tour ที่สหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) เริ่มใช้ปีนี้ ทำให้รายการแข่งขันระดับรอง ซึ่งเดิมก็คือ Grand Prix Gold โดยปกติจะไม่มีนักแบดมินตันมือดีมาร่วมแข่งขันมากมาย และปีนี้ก็จะยิ่งน้อยลง เพราะนักกีฬาเหล่านั้นจะต้องลงสนามแข่งขันมากมายตามกฎนี้ |
แต่การไม่ส่งมาแข่งขันเลย แสดงให้เห็นถึง”ปัญหา”ในความสัมพันธ์กับยักษ์ใหญ่วงการแบดมินตันโลก ทั้งๆที่น่าจะมีนักแบดมินตันแถวสองหรือมือใหม่มาร่วมแข่งขัน เช่นที่ ญี่ปุ่น ส่งนักกีฬาชุดใหม่มาร่วมแข่งขันครั้งนี้ และแม้จะไม่ได้รับการจัดเป็นมือวาง แต่นักกีฬาจากญี่ปุ่น ก็สามารถผ่านมาถึงรอบ Quarter Final ได้ทั้งชายเดี่ยว หญิงเดี่ยวและชายคู่ |
อย่างในกรณี“บาส-เอิร์ธ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ – พุธิตา สุภจิรกุล แม้จะได้แค่”รองแชมป์” เมื่อพ่าย CHAN Peng Soon - Liu Ying GOH รองแชมป์โอลิมปิก 2016 แต่มองในมุมที่ต้องเรียกว่าเป็นการจับคู่เฉพาะกิจ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่สามารถเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ |
ส่วนที่ต้องยกย่องเป็นพิเศษก็คือ “ติน-ดีโก้” ติณณ์ อิสริยะเนตร - กิตติศักดิ์ นามเดช ซึ่งคว้าแชมป์ชายคู่ เมื่อเอาชนะ Wahyu Nayaka ARYA PANGKARYANIRA - Ade Yusuf SANTOSO คู่มือวางอันดับ 7 ของรายการจากอินโดนีเซีย 2-1 เกม 18-21, 21-11 และ 20-22 ซึ่งถือเป็น”แชมป์ใหญ่”รายการแรกของทั้งคู่ |
ยิ่งมองเส้นทางก่อนมาถึงแชมป์ “ติน-ดีโก้”ปัจจุบันเป็นชายคู่มือ 55 ของโลก ก็สร้างผลงานได้ดี เพราะสามารถเอาชนะ”มือวาง”ในรายการนี้มากมาย ตั้งแต่รอบแรก เอาชนะ Kah Ming CHOOI - LOW Juan Shen คู่มือวางอันดับ 6 ของรายการจากมาเลเซีย 2-1 เกม 19-21, 21-17, 21-15 จากนั้น ในรอบ 2 ก็ชนะ วชิรวิทย์ โสทน - ณัฐพัฒน์ ตฤณขจี |
ในรอบ Quarter Final “ติน-ดีโก้” เอาชนะ Fajar ALFIAN - Muhammad Rian ARDIANTO ชายคู่มือ 17 ของโลกและเป็นมือวางอันดับ 2 ของรายการจากอินโดฯ 24-22 , 21-19 และมาเรียกเสียงเชียร์จากแฟนทั้งสนามในรอบรองชนะเลิศ เมื่อเอาชนะ GOH V Shem - TAN Wee Kiong รองแชมป์ชายคู่โอลิมปิก 2016 ซึ่งเพิ่งกลับมาจับคู่กันอีกครั้ง และเป็นมือวางอันดับ 3 ของรายการ 21-15 ,22-20 ก่อนจะคว้าแชมป์สำเร็จ |
ผลงานของ”ติน-ดีโก้” ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม และเป็น”ข่าวดี”สำหรับทีมแบดมินตันไทย ที่สามารถค้นพบ”ชายคู่”ขึ้นมาอีกคู่ และคงเห็นการได้รับโอกาสลงแข่งขันมากขึ้น เพราะนักกีฬาที่จะเป็นนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ จะต้องลงแข่งขันในเกมยิ่งใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็น”หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม” |
ความสำเร็จของศึก PRINCESS SIRIVANNAVARI Thailand Masters 2018 จึงควรถูกนำมาพิจารณาต่อยอดทั้งการจัดการแข่งขันและการให้โอกาสนักกีฬา อย่าให้เป็นแค่ภาพลวงตาเท่านั้น |
แต่การคว้า 3 แชมป์ 1 รองแชมป์ ของนักแบดมินตันไทย ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของศึก BWF World Tour 2018 เมื่อนักกีฬาไทยสร้างผลงานสำเร็จในรายการแรกของปี |
Cr. ขอบคุณภาพประทานถ้วยรางวัลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ จากสมาคมกีฬาแบดมินตันไทยฯ