รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
เลี่ยงไม่ได้ BWF กำหนดให้นักแบดมือดี "ต้องลงสนาม"
  6 ธ.ค. 2560
แบ่งปัน


“You will be well compensated for your efforts on the court, but you will not be permitted to cherry-pick your tournaments, and will be penalised if you fail to turn up at certain tournaments.”
 
  นี่คือข้อความที่สหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) ส่งถึงนักกีฬาแบดมินตันชั้นน้ำทั่วโลก เพื่อบอกว่า นักกีฬาทุกคนจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับการลงสนาม แต่จะไม่มีสิทธิ์เลือกรายการแข่งขัน และจะถูกลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม
 
และนี่คือการปฏิวัติการแข่งขันแบดมินตันครั้งสำคัญในปี 2018 ที่การแข่งขัน Superseries จะถูกแทนที่ด้วยการแข่งขันที่เรียกว่า World Tour ที่ระดับการแข่งขันต่างๆถูกกำหนดขึ้นมาใหม่โดย "เงินรางวัล" คือผลตอบแทนที่นักกีฬาจะได้รับ แต่จะต้องแลกด้วยการถูกกำหนดให้ลงสนามมากขึ้น โดยเฉพาะนักแบดมินตันระดับทอปของโลก เพื่อดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกมาดูการแข่งขันแบดมินตันมากขึ้น   

การแข่งขันที่เรียกว่า World Tour แทนที่จะเป็น Superseries และ Superseries Premier เหมือนที่ผ่านมานี้ BWF กำหนดให้ผู้เล่น 15 อันดับแรกของโลกในประเภทเดี่ยวและ 10 อันดับแรกในประเภทคู่ จะต้องลงแข่งขันอย่างน้อย 12 ทัวร์นาเมนต์ และจะลงโทษปรับรุนแรงมากหากไม่ยอมปฏิบัติตาม 
 
  โดยโครงสร้างของการแข่งขันในปฏิทินประจำปีของ BWF ได้แบ่งออกเป็นระดับและระดับต่างๆ Top of the pops คือ Grade1 ซึ่งประกอบด้วยการแข่งขันที่สำคัญทั้งหมด เช่น Olympic, Thomas - Uber Cup, Sudirman Cup, Asian Games, Commonwealth Games และ World Junior Championships
 
Grade 2 ได้รับการแบ่งออกเป็นหลายระดับ มีเพียงหนึ่งทัวร์นาเมนท์ใน Level 1 คือ World Tour Finals ซึ่งก็คือ Superseries finals ในช่วงปลายปี ที่ถือเป็นการแข่งขันเพื่อแจกโบนัสให้กับนักกีฬาแบดมินตันที่ทำผลงานได้ดีในวงเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคัดเลือกผู้เล่นชั้นนำ 8 ราย และ 8 คู่ที่ทำคะแนนได้ดีในการแข่งขันมาตลอดปี   

โดย Superseries Finals นี้ เริ่มจัดในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ดูไบมาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่ง BWF ได้เซ็นสัญญา  5 ปีกับทางการของสาธารณรัฐเอมิเรตส์ และระบุว่าตั้งแต่ปี 2018 เงินรางวัลจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านเหรียญ

จากนั้น ใน Level 2 จะมี 3 ทัวร์นาเมนต์ คือ All-England, Indonesian Open และ China Open ซึ่งเคยเป็น Superseries Premier และมีเงินรางวัลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญ
 
  จากนั้น ใน Level 3 จะมี 5 ทัวร์นาเมนต์ ที่เคยเป็น Superseries ที่มีเงินรางวัลสูง 7 แสนเหรียญสหรัฐ คือ Malaysian Open, Korea Open, Denmark Open, France Open และ Japan Open โดยยกเว้น India Open ซึ่งจัดการแข่งขันที่ New Delhi มาตั้งแต่ปี 2008 ที่มีเงินรางวัล 325,000 เหรียญสหรัฐในปี 2017 และเมื่อไม่เพิ่มเงินรางวัล ก็ถูกลดระดับลงไป
 
ต่อมาก็เป็นรายการระดับ Grand Prix Gold เดิม เช่น Malaysians Masters, Thailand Open และ Syed Modi Memorial ที่ถูกยกระดับขึ้นมาเป็น Level 4 ซึ่งมีทั้งหมด 7 รายการ และปิดท้ายที่เป็นระดับ Level 5 ซึ่งมีการแข่งขันทั้งหมด 7 รายการ ส่วนระดับที่ต่ำว่า Level 5 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ International Satellite and Challenger ประกอบด้วย 11 ทัวร์นาเมนต์ ก็จะเป็น Grade 3 ที่เป็นการแข่งขันในทวีป และ BWF จะพิจารณาว่าจะมีกี่ทัวร์นาเมนต์   
 
  ทั้งนี้ BWF จะกำหนดเงินรางวัลสำหรับนักกีฬา 32 คนที่จะถูกเลือกเข้าร่วมแข่งขัน โดยนักกีฬาอันดับ 1-16 ของโลกจะถูกเลือกโดยอัตโนมัติ ส่วนผู้เล่นที่เหลือจะพิจารณาจากการลงทะเบียนและมีตารางการแข่งขันขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อหาผู้เล่นที่เหมาะสมในแต่ละทัวร์นาเมนต์ ทำให้การแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆลงมาจนถึง Level 3 จะลดลงจาก 6 วันเหลือ 5 วัน คือตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ 
 
นอกจากทัวร์นาเมนต์ของ BWF แล้ว นักแบดมินตันหลายคนยังมีภารกิจ "ทีมชาติ" สำหรับการแข่งขัน Thomas Cup, Commonwealth Games, Asian Games ซึ่งหมายความว่าผู้เล่นชั้นนำจะต้องมีการแข่งขัน 13-14 รายการในรอบปี จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากแม้ว่าผลตอบแทนทางการเงินจะดีขึ้นก็ตาม  
 
 

ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ