“อินโดนีเซีย”ถือเป็นชาติมหาอำนาจลูกขนไก่ และจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ”อินโดนีเซีย” ไม่เคยขาดนักแบดมินตันฝีมือดีขึ้นมาท้าทายนักแบดมินตันมือดีจากทั่วโลก
แม้อาจจะไม่ครบทุกประเภท แต่อินโดนีเซียก็แทบจะไม่เคย ”ร้าง” แชมป์ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ
|
|
อย่าง 3 รายการใหญ่ล่าสุด คือศึกชิงแชมป์โลกและ 2 ซูเปอร์ซีรีส์ที่เกาหลีกับญี่ปุ่น แม้สุดท้ายอาจจะไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก เพราะมีเรื่องราวมากมายในรอบชิงแต่ละทัวร์นาเมนต์ แต่สุดท้าย ประวัติศาสตร์ก็จะต้องบันทึกว่ามีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซียเป็นแชมป์ |
เริ่มจากศึกชิงแชมป์โลก TOTAL BWF World Championships 2017 ที่สกอตแลนด์เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งหลังจากขับเคี่ยวกันมายาวนาน 1 สัปดาห์เต็ม ในรอบชิงวันสุดท้าย 27 สิงหาคม ก็มีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซีย คือ Tontowi Ahmad กับ Liliyana Natsir เป็นแชมป์โลกประเภทคู่ผสม ขณะที่ Mohammad Ahsan กับ Rian Agung Saputro เป็นรองแชมป์ชายคู่ |
|
|
ถัดมาเป็นซูเปอร์ซีรีส์ VICTOR Korea Open ที่เกาหลี เมื่อกลางเดือนกันยายน ก็มีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซียเข้าชิงถึง 3 ประเภทและหนึ่งในนั้นเป็นการชิงชัยกันเอง โดย Praveen Jordan กับ Debby Susanto ได้แชมป์คู่ผสม Anthony Sinisuka Ginting ได้แชมป์ชายเดี่ยวระดับซูเปอร์ซีรีส์ครั้งแรกในชีวิตเมื่อเอาชนะ Jonatan Christie เพื่อนร่วมชาติที่เพิ่งคว้าแชมป์ชายเดี่ยวซีเกมส์ และ Marcus Fernaldi Gideon กับ Kevin Sanjaya Sukamuljo ได้รองแชมป์ชายคู่
|
|
ปิดท้ายเมื่อวาน(24ก.ย.) ในรายการซูเปอร์ซีรีส์ DAIHATSU YONEX Japan Open ที่กรุงโตเกียว Marcus Fernaldi GIDEON กับ Kevin Sanjaya SUKAMULJO ก็แก้ตัวสำเร็จหลังผิดหวังที่เกาหลี โดยคว้าแชมป์ชายคู่ พร้อมทำคะแนนสะสมขึ้นเป็นมือ 1 โลกอีกครั้งในการประกาศอันดับในสัปดาห์นี้ |
ถ้าถามว่า ทำไม ”อินโดนีเซีย” ยังคงเป็นทีมที่มีนักแบดมินตันอยู่ในระดับโลกมากมาย คำตอบก็คือ การได้รับโอกาสแข่งขัน
ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เคล็ดลับอะไร หากแต่เป็นเรื่องปกติและเป็นแนวทางที่หลายชาติทำมาโดยตลอด นั่นคือให้โอกาสนักกีฬาไปร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือและถือเป็นการพัฒนาตัวเอง เพราะจะได้รู้ ”จุดอ่อน” ของตัวเอง พร้อมๆกับเรียนรู้ ”จุดแข็ง” ของคู่ต่อสู้ |
|
|
นักแบดมินตันอินโดนีเซียชุด ”สายเลือดใหม่” ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงในเวทีโลกและขึ้นมาทดแทนนักกีฬารุ่น ”ตำนาน” เหล่านี้ คือผลผลิตจากการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์ และถูกสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซียส่งไปแข่งขันมากมายหลายรายการเพื่อให้”รู้เขารู้เรา” พร้อมยกระดับพัฒนาตัวเองขึ้นมา
|
|
อย่างเช่น Marcus Fernaldi GIDEON กับ Kevin Sanjaya SUKAMULJO ที่คว้าแชมป์ชายคู่ที่ญี่ปุ่นเมื่อวาน ในการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ทั้งคู่ยังเป็น”เด็กใหม่”ที่ได้เหรียญเงินชายคู่ โดยแพ้ Angga Pratama กับ Ricky Karanda Suwardi รุ่นพี่ทีมชาติ ขณะที่ Praveen Jordan กับ Debby Susanto ซึ่งได้แชมป์คู่ผสมที่เกาหลี ก็คือเจ้าของเหรียญทองคู่ผสมซีเกมส์ 2015 |
โดยนักกีฬาชุดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ”เด็กใหม่” ในขณะนั้น หลังจากการแข่งขันซีเกมส์ นักกีฬาที่มีแววว่าจะสามารถพัฒนาก็ถูกส่งไปร่วมแข่งขันรายการต่างๆมากมาย ขณะที่บางส่วนที่อาจจะมีผลงานไม่เข้าตาโค้ช ก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสมากนัก อันถือเป็นเรื่องปกติของการคัดเลือกนักกีฬาของแต่ละชาติ เพราะในชุดนั้น นักแบดมินตันชายอย่าง Firman Abdul Kholik หรือ Ihsan Maulana Mustofa ทุกวันนี้ก็แทบจะหายไปจากทีม ขณะที่ Jonatan Christie ก็ตกรอบ 8 คนแต่สตาฟฟ์โค้ชยังเห็น ”แวว” ก็ใช้งานต่อและคว้าแชมป์ชายเดี่ยวในอีก 2 ปีต่อมา |
|
|
นี่คือ ”บทเรียน” ง่ายๆที่ไม่เป็นความลับอะไร
|
|
ขณะที่การจัดการของสมาคมแบดมินตันฯของบ้านเรา นอกจากไม่ส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ และการจัดส่งไปแข่งก็ยังคงเป็น ”คนหน้าเดิม” ก็ยังมี ”จุดอ่อน” มากมายในเรื่องการบริหารจัดการ อย่างเช่นการจัดการแข่งขัน ”ไทยลีก” ซึ่งเคยติติงว่าเป็นช่วงเวลา ”ตรง” กับรายการแข่งขันในต่างประเทศ แต่สุดท้าย สมาคมแบดฯก็ยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขันแบบขอไปที |
จนการแข่งขันที่ระบุตอนเริ่มว่าเป็น ”ไทยลีก” ก็กลายเป็น U23 และเพราะช่วงเวลาที่ตรงกับการแข่งขันในต่างประเทศ ก็เลยแทบจะไม่มีนักกีฬามาลงแข่งขัน แถมนักกีฬาหลายคนก็แทบจะลงแข่งขันทุกประเภท ทั้งเดี่ยวและคู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจัดการบริหารที่ผิดพลาดของสมาคมที่ยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขัน และจบลงโดยไม่มี ”ดาวเด่น” ขึ้นมาป้อนทีมชาติไทยได้ในอนาคตเหมือนที่คาดหวัง |
|
|
และมองไม่เห็นว่าอนาคตทีมแบดมินตันไทยจะไปทิศทางไหน...
(ดอกปีกไก่)