รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
  24 ก.ย. 2560
แบ่งปัน
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน

สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน

 

เขียนถึง”ขนาดของทีม”มาหลายครั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงวันนี้ ทีมแบดมินตันไทยถือว่า”วิกฤติ” เพราะเรามี”จำนวน”นักแบดมินตัน”น้อยมาก” เมื่อเทียบกับคู่แข่งในเวทีเดียวกัน ไม่ว่าจะนับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในเวทีซีเกมส์ จากนั้นก็บวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมไปถึงไต้หวัน เมื่อถึงการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ แล้วก็มีพวกยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา เมื่อถึงเวลารายการ”โอลิมปิก”

 

อย่าหัวเราะและดูถูกนักแบดมินตันยุโรปนะครับ เพราะโอลิมปิก 2016 นักกีฬาจากยุโรปมีเหรียญรางวัลครบทุกประเภท เหรียญทองหญิงเดี่ยวก็สาวสเปน เหรียญเงินหญิงคู่ก็เป็นคู่สาวใหญ่จากเดนมาร์ค ชายคู่ก็เป็นชายคู่อังกฤษได้เหรียญทองแดง ขณะที่ไทยยังไม่มีเหรียญรางวัลโอลิมปิกติดมือกลับมา

 

ทั้งหมดทั้งหลาย วันนี้อยากจะบอกว่า”ผู้เล่น”คนสำคัญที่สุดในเกมการแข่งขันก็คือสมาคม ...ใช่แล้ว หมายถึง”สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่จะเป็นผู้กำหนด”ทุกอย่าง”เกี่ยวกับ”แบดมินตัน”ในประเทศไทย ตั้งแต่การจัดโปรแกรมการแข่งขันในประเทศไปจนถึงการคัดเลือกผู้เล่นไปต่างประเทศ

 

คงต้องให้ถามและตอบตัวเองว่าถึงตอนนี้ สมาคมแบดมินตันฯ(ขอเรียกสั้นๆแบบนี้) ได้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบหรือยัง ในการ”เตรียม”เพื่อรองรับเกมการแข่งขันแบดมินตันที่มีทุกสัปดาห์ มีรายการใหญ่คือซีเกมส์ทุก 2 ปี เอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกทุก 4 ปี เพราะการ”เตรียมทีม”ในหลายโอกาส หมายถึงจะต้อง”ทดลองงาน”นักกีฬากันปีสองปี ไม่ใช่เรียกใช้งานทันที

 

รายการสำคัญของแบดมินตันระดับทีมชาติครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปีหน้า คือเอเชียนเกมส์ 2018 ที่จะจัดขึ้นที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย ในช่วงวันที่  18 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2561 ขณะที่โอลิมปิก จะจัดขึ้นในปี 2020 ที่โตเกียว ในวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 

ทั้งอินโดนีเซียและญี่ปุ่น ที่จะเป็นเจ้าภาพ 2 รายการใหญี่ที่ว่า ถึงตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเป็น”ยักษ์ใหญ่”ในวงการแบดมินตัน อย่างการแบดมินตันซูเปอร์ซีรีส์รายการ DAIHATSU YONEX Japan Open ที่ชิงชนะเลิศวันนี้(24ก.ย.) จะเห็นว่า”ญี่ปุ่น”มีนักกีฬาเข้าชิงชนะเลิศถึง 3 ประเภทในประเภทคู่ ขณะที่”อินโดนีเซีย”แม้จะชิงชนะเลิศประเภทเดียว แต่ Marcus Fernaldi GIDEON กับ Kevin Sanjaya SUKAMULJO ก็สามารถคว้าแชมป์พร้อมกลับขึ้นมาเป็นชายคู่มือ 1 โลกอีกครั้ง

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เห็นอีกอย่างก็คือ”เกาหลีใต้” ที่”ทดลอง”ใช้งานหญิงคู่คู่ใหม่ คือ KIM Ha Na กับ Hee Yong KONG ที่ลงเล่นตั้งแต่รอบคัดเลือกและสามารถมาถึงรอบชิงชนะเลิศได้ และในรายการซูเปอร์ซีรีส์ครั้งต่อไปอีก 2 สนามที่เดนมาร์คกับฝรั่งเศส ก็จะ”ทดลอง”จับคู่ใหม่” เพื่อ”ทดลองทีม” ก่อนจะถึงเอเชี่ยนเกมส์ในปีหน้า ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ เวลาอีกเกือบปี ก็มีเวลาแก้ไข

 

ส่วนมาเลเซีย ก็”ทดลอง”เปลี่ยนชายคู่ หลังจาก GOH V Shem กับ TAN Wee Kiong ชายคู่มือ 7 ของโลกที่ดูเหมือนจะ”หมดไฟ”ในการเล่นด้วยกัน จะถูกใช้งานกับคู่ใหม่ คือแลกคู่กับ ONG Yew Sin กับ TEO Ee Yi ชายคู่มือ 18 ของโลก เพื่อเตรียมตัวก่อนถึงเอเชี่ยนเกมส์ เช่นเดียวกับคู่ผสม CHAN Peng Soon กับ CHEAH Yee See ที่ถูกส่งไปแข่งขันมากหมายหลายรายการ เพราะไม่มั่นใจว่า Liu Ying GOH จะกลับมาได้หรือไม่หลังจากผ่าตัดไหล่เมื่อเดือนมิถุนายน

 

ส่วนไทยนั้น อยากให้สมาคมแบดมินตันฯลองคิดเองว่าเราเตรียมทีมหรือยังสำหรับเอเชียนเกมส์ 2018 และโอลิมปิก 2020 หรือจะยังเป็น”คนหน้าเดิม”ทั้งหมด

 

แน่นอนว่า”ขนาดของทีม”ที่เขียนถึงคือเรื่องสำคัญ เพราะนั่นคือการหานักแบดมินตันมือใหม่มาเสริมทีมชาติและกดดันนักแบดมินตันหน้าเดิมให้พัฒนาฝีมือขึ้น ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การส่งนักกีฬาไปแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เห็นนักกีฬาจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ไปแข่งขันมากมายหลายรายการ เพื่อให้นักกีฬาหน้าใหม่มีโอกาสลงสนาม

 

การส่งนักกีฬาไปแข่งขันนั้นแน่นอนว่าต้องใช้เงิน ซึ่งทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า สมาคมแบดมินตันมาเลเซียและญี่ปุ่น มีงบประมาณมากมายจาก”เอกชน”มาสนับสนุน โดยมาเลเซีย สปอนเซอร์หน้าใหม่คือ Astro ที่เซ็นสัญญาเมื่อต้นปี สนับสนุนเงิน 66 ล้านริงกิตเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่”ของเดิม”ก็มี Celcom Axiata ที่สนับสนุน 24 ล้านริงกิต 3 ปี และ Victor ที่เซ็นสัญญา 60 ล้านริงกิตเป็นเวลา 6 ปี

มาเลเซียจึงมีงบประมาณมากมายส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ

 

ในส่วนของสมาคมแบดมินตันไทยก็ได้รับการสนับสนุนไม่น้อยจาก SCG หรือแม้กระทั่ง การกีฬาแห่งประเทศไทย งบประมาณที่ได้รับนั้นทางสมาคมแบดมินตันไทยได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง มีการวางแผนผู้เล่นชุด สอง..สาม..สี่..ห้า ยังไงบ้าง หรือคิดแค่เตรียมการเฉพาะชุดที่มีเพื่อรักษาสถานะภาพให้ยาวนานที่สุด แล้วถ้าหากหมดชุดนี้จะเรียกหาใครไปต่อสู้กับเวทีโลก 

 

ทราบข่าวว่านักกีฬาชุดที่ไปแข่งแจแปนโอเพ่นมีภารกิจซ้อมต่อที่ญี่ปุ่น วางแผนดีหรือยังกับการให้ชุดใหญ่และเรียกบางคนจากประเทศไทยไปซ้อมกับทีมระดับสโมสร และสโมสรเค้าจะมีผู้เล่นร่วมซ้อมในระดับฝีมือเดียวกับทีมชาติไทยของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีนักกีฬาก็ควรซ้อมในไทยหรือติดต่อขอร่วมซ้อมกับระดับสมาคมจะดีกว่า “เก็บงบประมาณส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันหาประสบการณ์จะดีกว่าหรือไม่” ใครจะได้รับประโยชน์มากกว่าสำหรับการฝึกซ้อมครั้งนี้ แล้วที่สำคัญคือเรื่องงบประมาณ คุ้มค่าหรือไม่หรือเพียงแค่สร้างภาพ 

 

ทั้งหมดทั้งปวง..จะเห็นว่า”สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”นั่นแหละคือ”ผู้เล่น”ที่สำคัญที่สุด

(ดอกปีกไก่)

สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
สมาคม....ผู้เล่นคนสำคัญของทีมแบดมินตัน
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ