รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
บทสรุปสงคราม 3 ศึก "ทัพแบดมินตันไทย" (ตอน 2)
  6 ก.ย. 2560
แบ่งปัน


 
หลังจากตอนที่แล้วเอ่ยถึงศึก "ซีเกมส์" ที่ยิ่งใหญ่ในอาเซียนกันไปแล้ว มาดูต่อที่มหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 29 ที่ไต้หวัน กันบ้าง ซึ่งรายการนี้ส่งโดยคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ก.ก.ม.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)
 
  สำหรับทีมชุดนี้ประกอบด้วย ปริญญวัฒน์ ทองน่วม, ปัณณวิชญ์ ทองน่วม, อิงครัตน์ อภิสุข, วรรณวัฒน์ อำพันสุวรรณ, กิตติศักดิ์ นามเดช, ติณณ์ อิสริยะเนตร, ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม, ผไทมาส เหมือนวงศ์, นันทกานต์ เอี่ยมสอาด, ณัชชา แสงโชติ, ณัชปภา จตุพรกาญจนา และ ศนิชา ชำนิบรรณาการ
 
เมื่อดูจากรายชื่อทีมชุดนี้ยอมรับว่าเป็นระดับ B ถึง C ซึ่งทางสมาคมกีฬาแบดมินตันแหงประเทศไทยฯ คงน่าเสียดายไม่น้อย เพราะเงินรางวัลอัดฉีดจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติแบ่งเป็น เหรียญทอง 1,000,000 บาท เหรียญเงิน 500,000 บาท และเหรียญทองแดง 200,000 บาท ซึ่งหากนักกีฬาได้เหรียญรางวัลสมาคมจะได้เงินสนับสนุนแยกจากเหรียญรางวัลของนักกีฬาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโค้ชที่คุมทีมไปจะได้ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นเอง  
 
  ขณะที่ ซีเกมส์ เหรียญทองได้เพียง 200,000 บาท, เหรียญเงิน 100,000 บาท และเหรียญทองแดง 50,000 บาท มาดูที่ผลงาน การคว้า 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ถือว่าทีมชุดนี้ทำได้เหนือความคาดหมาย โดยทีมผสม การแพ้ให้เจ้าภาพในรอบรองชนะเลิศ ที่ส่งทีมชุดใหญ่ นำโดย ไท่ ซื่อ ยิง หญิงเดี่ยวมือ 1 ของโลก 0-3 คู่ นั้น เราต้องยอมรับว่าขุมกำลังเราเป็นรอง แต่ถ้าวัดกันที่ชุดใหญ่อย่าง "สุธีรมาน คัพ" แล้ว เราน่าจะเอาชนะได้แน่นอน
 
ด้าน ชายเดี่ยว "ตะวัน"ปัณณวิชญ์ ทองน่วม ถึงแม้จะไม่สามารถเดินตามรอยรุ่นพี่ที่เคยคว้าเหรียญทองได้ ทั้ง "ซูเปอร์แมน"บุญศักดิ์ พลสนะ, "ไบร์ท"สัพพัญญู อวิหิงสานนท์ และ "สอง"ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ได้ แต่การโค่น "ฉู เจิ้น เหา" มือเต็งของเจ้าถิ่นในรอบ 8 คน แสดงให้เห็นว่า ตะวัน น่าจะกลับมาฉายแสงเจิดจรัสอีกครั้ง ขอเพียงคงความต่อเนื่องของฟอร์มการเล่นให้ได้เท่านั้น  
 
  ส่วนหญิงคู่ "เบส"ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม-"จ๋อมแจ๋ม"ผไทมาส เหมือนวงศ์ ในรอบชิงฯ ถึงพ่าย วู ทิ จุง-ฉู หย่า ฉิง 0-2 เกม ด้วยสกอร์ 17-21, 20-22 ก็ดีเพียงพอที่จะเป็นหญิงคู่ไทยคู่แรกที่คว้าเหรียญเงินในมหกรรมกีฬาปัญญาชนโลก ได้เป็นครั้งแรก หลังจากคู่ "โอ๋"กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล-"หญิง"ดวงอนงค์ อรุณเกษร เคยคว้าเหรียญทองแดงได้ในปี ค.ศ.2007 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
 
อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกลับไป ผลงานเหรียญครั้งนี้ เหมือนกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งครั้งนั้นได้ 1 เหรียญเงินจาก หญิงเดี่ยว "พีช"พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข และ 2 เหรียญทองแดง จาก ทีมผสม และชายคู่ "อาท"บดินทร์ อิสสระ-"ต้นน้ำ"นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร ทำให้น่าสนใจว่านับตั้งแต่เปลี่ยนคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ก.ก.ม.ท.) ผลงานแบดมินตันปัญญาชนไทยไม่ได้ดีขึ้น กลับตกลงไปด้วยซ้ำ เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 ที่ไทย, 2011 ที่จีน และ 2013 ที่รัสเซีย หรือเรียกได้ว่า 3 ครั้งดังกล่าวที่จัดแข่งขันแบดมินตันนั้น ไทยได้เหรียญรางวัล โดยเฉพาะเหรียญทอง ติดต่อกัน  

ทั้งนี้อีก 2 ปีข้างหน้าหากมหกรรม ม.โลก ครั้งที่ 30 ที่เมืองเนเปิล ประเทศอิตาลี ไม่ตรงกับการแข่งขันรายการสะสมคะแนนโลก ระดับซูเปอร์ซีรี่ส์ หรือซีเกมส์ รวมถึงชิงแชมป์โลก คาดว่าจะมีนักแบดมินตันไทยชั้นนำตบเท้าเข้าแข่งขันเต็มทีมแน่นอน เพราะเงินอัดฉีดนั้นเย้ายวน และคู่แข่งก็ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าใดนัก

ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ