รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
All England
"จีน-อินโดนีเซีย" การผลัดใบที่ผลลัพธ์ต่างกัน
  19 ธ.ค. 2559
แบ่งปัน
"จีน-อินโดนีเซีย" การผลัดใบที่ผลลัพธ์ต่างกัน

ซูเปอร์ซีรีส์ไฟนอล รายการ Dubai World Superseries Finals 2016 เป็นอีกครั้งที่"จีน"ยังแสดงให้เห็นว่าสำหรับแบดมินตันแล้ว "จีนก็คือจีน" เมื่อเข้าชิง 3 ประเภทและคว้าแชมป์ 2 ประเภท

นั่นคือแชมป์หญิงคู่จาก CHEN Qingchen กับ JIA Yifan แชมป์คู่ผสมจาก ZHENG Siwei กับ CHEN Qingchen  และปิดท้าย TIAN Houwei ได้รองแชมป์ชายเดี่ยว

2 จาก 3 ประเภทที่เข้าชิงฯ อย่างน้อยทำให้กองเชียร์จำนวนไม่น้อยเริ่ม"วางใจ" บรรดานักตบลูกขนไก่"คลื่นลูกใหม่"ที่มีเพียงประเภทเดี่ยว ที่ยังไม่น่าไว้วางใจมากนัก
 
  ขณะที่ "จีน"ประสบความสำเร็จ ต้องถือว่า"อินโดนีเซีย"ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และที่น่าวิตกก็คือ ไม่มีนักแบดอินโดนีเซียมาถึงรอบชิงแม้แต่ประเภทเดียว

คำถามก็คือ"เกิดอะไรขึ้น" เพราะกล่าวได้ว่า "อินโดนีเซีย"คือมหาอำนาจลูกขนไก่รองจากจีน และที่เหมือนๆกันก็คือ เป็นยุคผลัดใบหลังจบโอลิมปิก 2016

ปัญหาของอินโดนีเซียที่รู้กันดีก็คือ ไม่มีนักแบดประเภทเดี่ยว หลัง "เทาฟิค ฮิดายัต" หนึ่งใน 4 คิงส์วงการแบดยุคปัจจุบัน แขวนแร็คเก็ต ส่วน"หญิงเดี่ยว" ก็แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีมือดีนับแต่หมดยุค"ซูซี่ ซูซานติ"

แต่ในโลกแบดมินตัน อินโดนีเซียยังมีนักแบดประเภทคู่มากมาย จึงต้องบอกว่า"แปลกมาก" ที่ถึงวันสุดท้าย..พวกเขาไม่มีผู้เล่นมาถึงวันนี้

แน่นอนว่า กองเชียร์อินโดนีเซียอาจจะ"ผิดหวัง"เล็กๆ เพราะมีนักแบดอินโดฯมาร่วมชิงชัยที่ดูไบเพียง 2 ประเภท

ประเภท"เดี่ยว"อย่างที่กล่าว คืออินโดนีเซียขาดนักแบดประเภทนี้มานานพอสมควร แต่ในประเภทคู่ พวกเขามีมือดีมากมาย
 
แต่ Dubai World Superseries Finals 2016 นักตบลูกขนไก่จากแดนอิเหนา ได้มาร่วมชิงชัยเพียงชายคู่กับคู่ผสม เนื่องจาก Nitya Krishinda MAHESWARI กับ Greysia POLII นักตบหญิงคู่เจ้าของแชมป์มากมายหลายรายการเจอปัญหาบาดเจ็บจนต้องถอนตัว ส่วนคู่ Anggia Shitta AWANDA กับ Mahadewi Istirani NI KETUT ก็ทำคะแนนสะสมได้ไม่ดีพอที่จะไปร่วมแข่ง

แต่ทั้งชายคู่และคู่ผสม พวกเขาสามารถคว้าโควตาได้ถึงประเภทละ 2 ทีมเท่ากับจีน จึงต้องมีคำถามว่า ทำไมอินโดนีเซียไปไม่ถึงฝัน
 

ในประเภทชายคู่ น่าเสียดายที่อินโดนีเซียจะไม่มี "Hendra Setiawan- Muhammad Ahsan" อีกต่อไป

ในรายการ Dubai World Superseries Finals ครั้งนี้ จึงมี 2 คู่ คือ Marcus Fernaldi กับ Kevin Sanjaya และคู่ PRATAMA, Angga กับ SUWARDI, Ricky Karanda 

ทั้งคู่อยู่ในกลุ่ม A ด้วยกัน และไม่น่าเชื่อว่าจกตกรอบแรก โดยแพ้คู่แข่งจากเดนมาร์คและญี่ปุ่นทั้งคู่ ขณะที่ผลการแข่งขันที่เจอกันเอง คู่ของ Marcus Fernaldi กับ Kevin Sanjaya  ชนะเพื่อนร่วมชาติ 2-1 เกม สกอร์ 21-18 , 17-21 และ 21-14
2 ทีมตัวแทนชายคู่ ไม่สามารถผ่านเข้าแม้กระทั่งรอบรองฯ
 
  มาถึงคู่ผสม อินโดฯก็ได้ 2 โควตา

นั่นคือคู่ Tontowi AHMAD กับ Liliyana NATSIR แชมป์โอลิมปิก และคู่ของ Praveen JORDAN กับ Debby SUSANTO แชมป์ All England

น่าเสียดายที่คู่แชมป์โอลิมปิก ไปในสภาพไม่สมบูรณ์ และหลังจากแข่งแมทช์แรกแพ้รุ่นน้อง ในแมทช์ที่ 2 ที่เจอกับ Joachim FISCHER NIELSEN และ Christinna PEDERSEN จากเดนมาร์ค พวกเขาเล่นไปได้แค่เกมเดียวก็ต้องยอมแพ้ และขอถอนตัวในแมทช์ที่ 3 

ขณะที่คู่ของ Praveen JORDAN กับ Debby SUSANTO สามารถเข้ารอบมาได้ แต่ในรอบรองฯ กลับพ่าย Chris ADCOCK กับ Gabrielle ADCOCK คู่แชมป์เก่าจากอังกฤษ 1-2 เกม 19-21 ,21-17 และ 9-21 

การไม่ได้เข้าไปถึงวันชิงชนะเลิศ เป็นการบ้านใหญ่ของทีมชาติอินโดนีเซีย


เพราะถึงตอนนี้ กล่าวได้ว่า บรรดานักแบดมินตัน"บิ๊กเนม"ของอินโดนีเซียในปัจจุบัน อยู่ในช่วงนับถอยหลัง และอาจจะไม่พร้อมที่จะเล่นเอเชียนเกมส์ครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

ปัญหาจึง"น่าห่วง"ว่า ถึงตอนนี้"อินโดนีเซีย"ยังไม่มี"คลื่นลูกใหม่"ขึ้นมาทดแทน ยิ่งเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับจีน ..หรือกระทั่งญี่ปุ่นและเกาหลี

นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆแน่นอน หากอินโดนีเซียยังต้องการเป็น"มหาอำนาจลูกขนไก่" เหมือนเดิม

(ดอกปีกไก่)

 
 
All England อื่นๆ