รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
All England
All England ... เวทีเกียรติยศนักแบดมินตัน (ตอน 5) All England ... แล้วโลกก็รู้จัก Rudy Hartono
  3 มี.ค. 2561
แบ่งปัน



หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้มีเพียง”ยุโรป”ที่เป็นสมรภูมิสงครามเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง หากแต่ประเทศต่างๆทั้งในเอเชียและแอฟริกา ต่างก็เรียกร้องเสรีภาพจากที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศยุโรป ขณะที่ประเทศในลาติน กลับเป็นสหรัฐอเมริกา ทำตัวเป็น”พี่เบิ้ม”เข้าไปครอบงำมากขึ้น



ในเอเชีย ประเทศที่เป็นเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มี เช่น อังกฤษได้ยินยอมให้เอกราชแก่อินเดียและพม่าในปี 1947  เวียดนาม ได้สู้รบกับกองทัพฝรั่งเศส จนกระทั่งฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสมรภูมิเดียนเบียนฟูในปี 1954 ฝรั่งเศสจึงต้องทำสนธิสัญญาเจนีวา มอบเอกราชให้แก่เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ส่วน อินโดนีเซีย เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 1945 อะห์เม็ดซูการ์โน (Ahmed Sukarno) ผู้นำขบวนการชาตินิยม ก็จัดตั้งประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้นและได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 1949



การปกครอบประเทศเหล่านี้มายาวนาน บรรดาเจ้าอาณานิคมก็ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมไว้หลายอย่าง รวมทั้งกีฬา เช่นที่อินเดีย มีผู้คนมากมายนิยมเล่นคริกเก็ตและแบดมินตันตามแนวทางของ”ผู้ดีอังกฤษ” ขณะที่”พม่า” กลับหลงใหล”ฟุตบอล”ที่นายทหารอังกฤษชอบเล่น



อินโดนีเซีย เป็นอีกประเทศที่ชอบเล่น”แบดมินตัน” ที่พวกเขาเรียกกันว่า bulu tangkis โดยได้รับมรดกมาจากชาวดัทช์ ที่มาปกครองอินโดนีเซียยาวนาน และเมื่อได้เอกราชในปี 1949 นักศึกษาหลายคนก็เดินทางกลับมาจากยุโรป และนำ”แบดมินตัน”ที่พวกเขาคุ้นเคยกลับมาเล่น และมันก็เป็นกีฬายอดนิยมของชาวอินโดนีเซียในเวลารวดเร็ว เพราะสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยให้เล่น



ความนิยมใน”แบดมินตัน”ในอินโดนีเซีย จึงมีการแข่งขันระดับชาติขึ้นในประเทศตั้งแต่ปี 1950 หรือปีแรกหลังได้รับเอกราช ก่อนจะมีการก่อตั้งสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซีย หรือ Persatuan Bulutangkis Seluruh Indonesia (PBSI) ขึ้นมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 1951 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานักกีฬายอดนิยมของชาวอินโด



และไม่น่าเชื่อว่าหลังก่อตั้งสมาคมไม่กี่ปี คือในปี 1958 ทีมแบดมินตันอินโดนีเซีย ก็คว้าแชมป์ Thomas Cup ได้เป็นครั้งแรก ทั้งๆที่”มาเลเซีย” ที่มี  Eddie Choong เป็นตัวหลักหลังจาก Wong Peng Soon เลิกเล่น  โดย”พระเอก”ของอินโดนีเซียคือ Tan Joe Hok นักแบดมินตันชายอินโดนีเซีย ที่ไปคว้าแชมป์ All England เป็นคนแรกในประเภทชายเดี่ยวในปี 1959 แถมเป็นการชนะ Ferry Sonneville เพื่อนร่วมชาติในรอบชิง



ที่ไม่น่าเชื่ออีกเรื่องก็คือ หลังจาก Tan Joe Hok คว้าแชมป์ชายเดี่ยวเมื่อปี 1959 แล้ว ก็ไม่มีนักแบดมินตันชาวอินโดนีเซียคนไหนได้แชมป์อีกเลย ..จนกระทั่งอีก 8 ปีต่อมา เมื่อมีนักแบดมินตันชายชาวอินโดนีเซียอีกคนปรากฏตัวขึ้นในโลกแบดมินตัน และเขากลายเป็น King of All England ตัวจริง นั่นคือ Rudy Hartono



Rudy Hartono ปรากฏตัวที่ All England ในปี 1968 ในวัย 19 และคว้าแชมป์ทันที พร้อมเป็นแชมป์ชายเดี่ยวติดต่อกันอีก 6 ปีเป็น 7 สมัยติดกันในช่วงปี 1968-1974 ก่อนที่ปี 1975 จะพลาดท่าพ่าย Svend Pri จากเดนมาร์คในรอบชิง แต่ปีต่อมา เขาก็คว้าแชมป์สมัยที่ 8 เมื่อเอาชนะ Liem Swie King นักแบดมินตันรุ่นน้องที่สร้างตำนานต่อจากเขา ที่ได้แชมป์ 3 สมัยในปี 1978-1979 และ 1981 แต่เป็นการเข้าชิงชนะเลิศติดกันถึง 6 สมัยในปี 1976-1981



Rudy Hartono ยังเป็นนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จทุกรายการที่มีการแข่งขันในยุคที่เขาลงสนาม โดยในประเภททีม คือการนำอินโดนีเซียเป็นแชมป์ Thomas Cup ปี 1970 ,1973 ,1976 ,1979  คว้าเหรียญทองชายเดี่ยวโอลิมปิก 1972 ขณะที่แบดมินตันเป็นกีฬาสาธิต เป็นแชมป์โลกชายเดี่ยว World Championships ในปี 1980 และแชมป์เอเชียนเกมส์ 1970 รวมทั้งได้รับการประกาศ BWF Herbert Scheele Award ในปี 1986 และ BWF Hall of Fame ในปี 1997



ทุกวันนี้ แม้จะมีนักกีฬามือดีปรากฏตัวขึ้นมากมาย แต่เมื่อพูดถึงฟุตบอล ก็จะมีคนพูดถึง “เปเล่” เมื่อมีการพูดถึงเทนนิส ก็จะมีการกล่าวถึง บยอร์น บอร์ก



และเมื่อพูดถึงแบดมินตัน ก็จะต้องมีชื่อ Rudy Hartono ...ตำนานแห่ง All England

Cr. Photo Badminton England
All England อื่นๆ