รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก
ตอนที่ 6 ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก2016
แบ่งปัน
ทีมแบดไทย...ฝันไกลเหตุใดไปไม่ถึง
 


โอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เด จาเนโร ทีมแบดมินตันไทย มีนักแบดได้โควตาไปร่วมแข่งขันถึง 7 คนใน 4 ประเภท คือ หญิงเดี่ยว 2 คน ได้แก่ เมย์ รัชนก อินทนนท์ กับ พีท พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข ชายเดี่ยว ซูเปอร์แมน บุญศักดิ์ พลสนะ
หญิงคู่ เอิร์ธ พุธิตา สุภจิรกุล- ปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และคู่ผสม อาร์ท บดินทร์ อิสระ - เอ็มเอ็ม สาวิตรี อมิตรพ่าย และเป็นโอลิมปิกที่คนไทย"มั่นใจ"มากที่สุดในรอบหลายปีว่าทีมแบดมินตันไทยจะมี"เหรียญรางวัล"กลับมาเมืองไทย ส่วนจะเป็นเหรียญใดก็อยู่ที่ผลงาน แต่เหตุไฉน..ฝันไกลของแบดไทยถึงไปไม่ถึง
 
"ฝัน"ของทีมแบดมินตันไทยอยู่ที่"หญิงเดี่ยว"
เนื่องเพราะตั้งแต่ต้นปี 2016 เป็นต้นมา ถือเป็น "ปีทอง" ของเมย์ รัชนก อินทนนท์ ตั้งแต่ลงแข่งรายการแรกของปี คือ "พรินเซสส์ สิริวัณณวรี ไทยแลนด์ มาสเตอร์"ในไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็คว้าแชมป์มาได้ 
จากนั้น แม้จะอกหักตกรอบในรายการ YONEX All England Open ในเดือนมีนาคม แต่หลังจากนั้น "ซูเปอร์เมย์"จากไทย เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกเมื่อปี 2013 ก็สร้างผลงานกระหึ่มโลก เมื่อคว้าแชมป์ 3 รายการ  Superseries ติดต่อกัน
 

ตั้งแต่ YONEX SUNRISE India Open ช่วงรอยต่อมีนาคม-เมษายน CELCOM AXIATA Malaysia Open เมื่อต้นเดือนมีนาคม และปิดท้ายที่ OUE Singapore Open ช่วงกลายเดือนสิงคโปร์ และขึ้นเป็นมือ 1 โลกในสัปดาห์ที่ 16 ของปี 2016 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทย"มั่นใจ"ว่าเมย์จะคว้าเหรียญประวัติศาสตร์ และเกจิวงการแบดทั่วโลกก็ขีดเส้นใต้ชื่อ"รัชนก อินทนนท์" ในฐานะ 1 ในนักแบดที่มีโอกาสคว้าเหรียญทองหญิงเดี่ยวริโอ 2016
 


 
  เมย์ไปแข่งในฐานะมือ 4 ของรายการ
โดยผลการจัดอันดับโลกหญิงเดี่ยวโอลิมปิก 2016  Carolina Marín จากสเปนเป็นมือ 1  Wang Yihan และ Li Xuerui 2 นักตบคู่ชิงเมื่อ 4 ปีก่อนที่ลอนดอนเป็นมือ 2 และ 3 โดยอยู่ในกลุ่ม L ร่วมกับ Kati Tolmoff จากเอสโตเนียและ   Yip Pui Yin จากฮ่องกง ซึ่งเมย์เล่นสบายๆเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายมาแบบสบายๆ เข้าไปเจอ Akane Yamaguchi และอย่างที่ทราบกันดี เมย์ตกรอบเพราะแพ้ Akane Yamaguchi แบบไม่น่าเชื่อ 19-21 และ 16-21

นักกีฬามีแพ้มีชนะ ไม่ต้องไปถามหาสาเหตุกันมากมาก เพราะวันที่"เล่นไม่ออก" การพ่ายแพ้ก็มาจาก"เล่นไม่ออก"ที่พูดไปก็เหมือนแก้ตัว เอา"บทเรียน"จากความพ่ายแพ้นั้นมาแก้ไขเพื่อวันหน้าดีกว่า
"พีท" พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข คือนักแบดที่ทำผลงานดีที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้ 
"พีท"เป็นมือวางอันดับ 12 และถูกวางเป็นมือวางของกลุ่ม H และโชว์ฟอร์มได้ดีในรอบแรก โดยชนะ Kate Foo Kune จากมอรเชียส และ Wendy Chen Hsuan-yu จากออสเตรเลีย ในรอบ 16 คน ตามโปรแกรม พีทควรจะเจอ  Saina Nehwal มือวางอันดับ 5 เจ้าของเหรียญทองแดงจากอินเดีย แต่สาวอินเดียกลับเป็นมือวางคนเดียวที่ตกรอบแรก เมื่อพ่าย Marija Ulitina จากยูเครนแบบล็อคถล่ม และเป็นงานง่ายของพีทที่เอาชนะ Marija Ulitina มาแบบไม่ยาก 21-14 และ 21-16 แต่เส้นทางของพีทจบแค่รอบ Quarter-finals เมื่อต้องเจอ Li Xuerui เจ้าของเหรียญทองเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
 
นักแบดไทยที่เหลือตกรอบแรก
ซูเปอร์แมน บุญศักดิ์ พลสนะ ไม่ได้ไปในฐานะมือวาง จึงต้องเจอ  Viktor Axelsen มือวางอันดับ 4 ของรายการ ที่จบการแข่งขันโดยได้เหรียญทองแดงจากการชนะ  Lin Dan เจ้าของเหรียญทอง 2 สมัยในการชิงอันดับ 3 แต่นักแบดไทยผู้เคยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกมาแล้ว 5 ครั้งและทำผลงานดีที่สุดได้ชิงเหรียญทองแดง ก็ทำผลงานแมทช์สุดท้ายได้ดีด้วยการชนะ  Lee Dong-keun หนุ่มเกาหลีมือ 16 ของโลกแบบฟอร์มเข้าตาคนไทยและแฟนแบดมินตันทั่วโลกที่ๆได้ดูแมทช์นี้
 

 
เช่นเดียวกับประเภทคู่ ที่นักตบลูกขนไก่ของไทยตกรอบแรก แต่แสดงผลงานได้ตามเป้า
หญิงคู่ เอิร์ธ พุธิตา สุภจิรกุล- ปอป้อ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ถูกจัดอยู่กลุ่ม A ร่วมกับ Misaki Matsutomo / Ayaka Takahashi มือ 1 โลกที่คว้าเดหรียญทองมาได้ และ  Eefje Muskens / Selena Piek คู่มือ 10 ของโลกจากเนเธอร์แลนด์ ก่อนมากู้ชื่อในแมทช์สุดท้ายด้วยการชนะ Jwala Gutta / Ashwini Ponnappa จากอินเดีย
 
 

 
ส่วนคู่ผสม อาร์ท บดินทร์ อิสระ - เอ็มเอ็ม สาวิตรี อมิตรพ่าย ก็ถือว่าทำผลงานได้ตามเป้า โดยคู่ของไทยอยู่กลุ่ม C และเป็น"โชคร้าย" เพราะอยู่ร่วมสายกับ  Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir คู่มือ 3 ของโลกที่คว้าเหรียญทองมาครอง และ  Chan Peng Soon / Goh Liu Ying คู่ม้ามืดจากมาเลเซียที่จบการแข่งขันในฐานะเจ้าของเหรียญเงิน แต่ในแมทช์สุดท้าย อาร์ท-เอ็มเอ็ม ก็โชว์ฟอร์มดี เอาชนะ Robin Middleton / Leanne Choo จากออสเตรเลียมาไม่ยาก
แน่นอน ...บทสรุปของทีมแบดไทยต้องบอกว่า"ผิดหวัง" เพราะก่อนไปแข่งขัน คนไทยและนักวิจารณ์แบดมินตันทั่วโลก ต่างก็เชื่อมั่นว่า"เมย์" รัชนก อินทนนท์ น่าจะมีเหรียญกลับมาเมืองไทย อย่าไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะกีฬามีแพ้มีชนะ การแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ต้องถือเป็น"บทเรียน"ที่ต้องนำมาแก้ไข 

การพ่ายแพ้ของเมย์ รัชนก ต่อ Akane Yamaguchi
ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องมา"ตอกย้ำ" หรือหา"แพะรับบาป" แต่ผลการแข่งขันควรที่จะต้องมี"ผู้รับผิดชอบ"ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมแพ้ง่ายเกินคาด
แน่นอนว่า สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ต้องรับผิดชอบรายแรกและถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น และที่ผ่านมา ทีมงานในสมาคมทำงานได้เต็มที่แบบ"มืออาชีพ"หรือยัง เพราะคงยากที่จะ"ยกเครื่อง"สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ แต่นี่คือเรื่องที่ผู้บริหารสมาคมฯต้องนำมาวิเคราะห์และศึกษาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระบบการคัดตัว เก็บตัวจนถึงการฝึกซ้อม เพราะ 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา ทีมแบดไทยแทบจะไม่มีนักแบดหน้าใหม่เข้ามาเสริมเลย ลองถามตัวเองว่า ที่ไม่มีเข้ามาเพราะนักแบดหน้าใหม่เสริมทีมชาติ เพราะพวกเขาไม่มีฝีมือหรือไม่ใช่นักแบดที่สมาคมฯ ต้องการ

นั่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง"โค้ช" ว่าทำไมยังเลือกนักแบดหน้าเดิมๆ เพราะแน่นอนว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า"โค้ช" เป็นเรื่องสำคัญของแบดมินตัน
Lin Dan ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันว่าเขาไม่ขอเป็น"โค้ช" เพราะการที่เขาทำผลงานในฐานะ"ผู้เล่น"ได้ดี ทำให้นักกีฬาที่ต้องการเขาเป็นโค้ช จะต้องถูกคาดหวังมาก และเขาเองก็ถูกคาดหวังมากว่าจะ"สร้าง"นักกีฬาได้ดี
โลกจึงไม่เห็นนักแบดเก่งหรือดังมาเป็น"โค้ช"มากนัก อย่างอินโดนีเซีย ก็ไม่เคยใช้งาน Alan Budikusuma , Susi Susanti หรือ Taufik Hidayat แม้แต่เดินมาร์ค ก็ไม่ใช่ Peter Gade หรือกรณี Morten Frost Hanse อดีตนักแบดมือ 1 โลก ที่มาดูแลทีมชาติมาเลเซีย ก็ไม่ได้มาเป็น"โค้ช" แต่มาเป็น"ผู้อำนวยการ" เพื่อวางระบบการฝึกซ้อมและการแข่งขันภายในประเทศ ตั้งแต่ระดับนักเรียนจนถึงลีกในประเทศ แต่ที่สำคัญก็คือ ผู้บริหารสมาคมแบดมินตัน ต้องรู้เรื่องและรักแบดมินตันจริงจัง
อย่าง Dr Akhilesh Das Gupta นายกสมาคมแบดมาเลเซีย ก็ไม่ใช่นักแบด หากแต่เป็น"นักการเมือง"ที่สนใจเรื่องแบดมินตัน และยังได้รับเลือกให้เป็นรองประธาน  Badminton Asia Confederation และเป็น Executive Council ของ Badminton World Federation  หรือ Mohamed Al Amin bin Abdul Majid ประธานสมาคมแบดมินตันมาเลเซีย ก็ไม่ได้เล่นแบดมินตัน แต่"ใส่ใจ"เรื่องการมุ่งมั่นพัฒนาแบดมินตันของมาเลเซีย
"โค้ช"จึงเป็นคำถามแรกๆว่าทำไมจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในรอบ10ปีที่ผ่านมา

ถัดมาก็เป็นผู้บริหารสมาคมแบดมินตันไทยที่ต้อง"ใส่ใจ"แบดมินตันจริงจัง
"หน้าที่"ของนายกสมาคมแบดฯ คือหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา และต้อง"รู้"เรื่องแบดมินตัน(มาก)พอที่จะหาวิธีที่จะ"สร้าง"ทีมแบดมินตันขึ้นมา
มีหน้าที่"รู้" เพื่อพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างที่ Morten Frost Hanse มาริเริ่มให้มาเลเซียจัด"แบดมินตันลีก"ขึ้นมาโดยเน้น"นักแบดแถว2"ลงสนาม แบบไม่มี"บิ๊กเนม"เหมือนลีกจีน อินเดีย จนทำให้โอลิมปิก 2016 ที่เพิ่งจบไป มาเลเซียเข้าชิงถึง 3 เหรียญทอง

แม้กระทั่ง"ญี่ปุ่น" ที่"รู้"ว่านักแบดของญี่ปุ่นที่จะต่อกรนักแบดชาติอื่นได้คือ"ประเภทคู่" สมาคมแบดฯญี่ปุ่นจึงดึง Park Joo Bong มาดูและการฝึกซ้อมของทีมชาติ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ภารกิจของสมาคมแบดฯคือการหาเงินมาสนับสนุนตั้งแต่การฝึกซ้อมไปจนถึงการเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ เหมือนหลายชาติที่หาสปอนเซอร์ใหญ่สนับสนุนได้ เพราะต้องยอมรับว่าเงินคือปัจจัยหลักในการสร้างนักกีฬา และที่สำคัญการชี้วัดความสำเร็จของกีฬาอยู่ที่ผลงานเท่านั้น เสียดายโอกาสของนักกีฬาบ้านเราที่เรียกเข้าไปฝึกซ้อมที่สมาคมแต่กลับไม่มีผลงานจากการแข่งขันเพราะสมาคมแทบจะไม่ส่งนักกีฬาแถว2 ออกแข่งขันเลย งานใกล้ๆบ้านก็บอกงานเล็ก งานใหญ่หน่อยก็บอกเจ้าหน้าที่ลืมส่งชื่อ แล้วเด็กที่เรียกไปหรือนักกีฬารุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนรุ่นพี่นั้นก็มีไม่ต่อเนื่อง จริงๆแล้วนายกสมาคมท่านนี้เป็นคนมีความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เป็นเลิศ เพียงแต่ท่านอาจจะเลือกใช้คนผิด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อวงการเถอะครับ ก่อนที่ทุกอย่างจะล่มสลาย และก่อนที่ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนอดีต ตอนท่านเข้ามารับตำแหน่งทุกๆคนคาดหวังในตัวท่านสูงมากและเชื่อว่าท่านทำได้ เพราะท่านเป็นคนจิตใจดีกล้าที่จะหักล้างระบบเก่าๆ วันนี้ท่านหักล้างอีกครั้งเถอะครับเพื่อวงการที่ท่านรักและสิ่งที่สำคัญที่สุด "นายกสมาคม" ก็เหมือนประธานบริษัท คนเป็นประธานสายการบิน ไม่ต้องขับเครื่องบินเป็น คนเป็นประธานบริษัทสื่อสาร ไม่ต้องเขียนโปรแกรมเป็น ฯลฯ แต่ต้องเป็นคนที่"รู้"ว่าจะต้องหากัปตันหรือโปรแกรมเมอร์จากที่ไหน ไม่ใช่แค่รอเครื่องบินลำใหม่มาแล้วไปเซลฟี่กับเครื่องบินและบอกว่า "ฉันทำได้ "

(ดอกปีกไก่)
Credit Photo : FB. Khunying Patama Leeswadtrakul