รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก
ตอนที่ 5 ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก2016
แบ่งปัน
การกลับมาของยุโรป

1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง  นี่จะถือเป็น"ความสำเร็จ"ของทีมแบดมินตันจาก"ยุโรป"ก็คงไม่ผิด
1 เหรียญทองจาก Carolina Marin แชมป์หญิงเดี่ยวจากสเปน 1 เหรียญเงินจาก Christinna Pedersen / Kamilla Rytter Juhl หญิงคู่ชาวเดนมาร์ค และ 2 เหรียญทองแดง ของ Viktor Axelsen นักแบดชายเดี่ยวจากเดนมาร์ค และ Chris Langridge / Marcus Ellis ชายคู่จากอังกฤษ น่าจะเป็นสัญญาณเล็กๆว่า"ยุโรป" พร้อมแล้วที่จะกลับมา"จริงจัง"กับกีฬาแบดมินตัน

เพราะครั้งสุดท้ายที่"นักกีฬายุโรป" ได้เหรียญทองแบดมินตัน ก็คือปี 1996 ที่ Poul-Erik Høyer Larsen ประธานบีดับบิวเอฟคนปัจจุบัน ได้แชมป์ชายเดี่ยวที่แอตแลนต้า และมาได้อีกครั้งเป็นเหรียญเงินจาก Mathias Boe / Carsten Mogensen นักแบดชายคู่ชาวเดนมาร์คที่ลอนดอนเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งๆ ที่ก่อน"คนเอเชีย"จะเล่นแบดกันนั้น ..."ยุโรป"คือ"ราชา"แบดมินตันตัวจริง

อย่างรายการ All England ที่เมื่อก่อนถือเป็น"ชิงแชมป์โลก"ไม่เป็นทางการ นี่ก็เริ่มต้นเป็นเรื่องของนักแบดยุโรปล้วนๆ
จากที่เริ่มในปี 1899 ก็เป็นนักแบดอังกฤษ"ครองบัลลังค์สลับกับนักแบดยุโรป ก่อนที่ Wong Peng Soon จะเป็นชาวเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์ชายเดี่ยวในปี 1950 หรือเล่นมาครึ่งศตวรรษแล้ว
 
  หญิงเดี่ยวยิ่งนานกว่านั้น เพราะหลังจากผูกขาดโดยนักแบดยุโรปและอเมริกาแล้ว คนแรกของเอเชียที่คว้าแชมป์ คือ Hiroe Yuki จากญี่ปุ่นในปี 1969 "จีน"นี่กว่าจะมาเป็นแชมป์ ก็หลังยุค 80 โดย Zhang Ailing ได้แชมปหญิงเดี่ยวปี 1982-1983 ส่วนชายเดี่ยว Luan Jin คือแชมป์ชายเดี่ยวคนแรกของจีนในปี 1983 ขณะที่ประเภทคู่ แม้แชมป์ส่วนใหญ่เป็นนักแบดเอเชีย ยังมีประปรายที่"ยุโรป"ยังคงเป็นนักแบดยุโรปแชมป์ อาจจะมีเพียง Tine Baun ที่เคยกู้หน้านักแบดสาวยุโรป โดยคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวในปี 2010 ตอนยังใช้ชื่อ Tine Rasmussen และปี 2013 เป็น Tine Baun ที่เอาชนะรัชนก อินทนนท์ ในรอบชิงฯ

แม้แต่ชิงแชมป์โลก ยุโรปก็เก่งก่อนเอเชีย อย่างรายการ BWF World Championships ที่เริ่มครั้งแรกในชื่อ IBF World Championships ครั้งแรกในปี 1977 ที่สวีเดน นักแบดยุโรปก็คว้าแชมป์เกือบหมด ยกเว้น"หญิงคู่"ที่ญี่ปุ่นเป็นแชมป์ 3 ปีต่อมา ในปี 1980 จึงเป็นเรื่องของ"เอเชีย" เมื่อ Rudy Hartono คว้าแชมป์ชายเดี่ยว และ Verawaty Wiharjo สาวอินโดฯเป็นแชมป์หญิงเดี่ยว ส่วนยุโรป ก็มี Nora Perry / Jane Webster จากอังกฤษคว้าแชมป์หญิงคู่ ครั้งที่ 3 ในปี 1983 ที่เดนมาร์ค ยุโรปก็เป็นแชมป์ประเภทคู่ คือ Steen Fladberg / Jesper Helledie และมี Thomas Kihlström จากสวีนเดน จับคู่กับ Nora Perry สาวอังกฤษคว้าแชมป์คู่ผสม ก่อนที่ Carolina Marín จะกลับมากู้หน้านักแบดยุโรป คว้าแชมป์ BWF World Championships 2 ปีติดคือ 2014-2015
 
 


แม้กระทั่งการชิงแชมป์ประเภททีมอย่างไม่เป็นทางการ คือ Thomas & Uber Cup ก็แสดงให้เห็นว่าคนยุโรปเขา"บ้าแบดมินตัน"ขนาดไหน
Thomas Cup ซึ่งบางครั้งเรียกว่า  World Men's Team Championships ก็ตั้งตามชื่อ  Sir George Alan Thomas นักแบดมินตันอังกฤษ ซึ่งจัดครั้งแรกในปี 1949 ที่  Preston อังกฤษ ชาติแรกที่เป็นแชมป์ก็คือ มาเลเซีย และเป็นแชมป์ 3 สมัยติดกันในยุคนั้น ก่อนที่จะตามมาด้วยอินโดฯ และผูกขาดด้วยจีนยาวนาน จนกระทั่ง 2 ครั้งล่าสุดที่เป็น ญี่ปุ่นกับเดนมาร์คได้แชมป์

ส่วน Uber Cup หรือ  World Team Championships for Women ก็ตั้งตามชื่อ  Betty Uber นักแบดหญิงอังกฤษ ที่เริ่มในปี 1957 ก็เป็นทีมชาติสหรัฐอเมริกาได้แชมป์ 3 สมัย ก่อนจะเป็น ญี่ปุ่นในอีก 3 สมัยต่อมา และถุก"ผูกขาด"โดยจีนตั้งแต่ 1984 โดยมีเพียงปี 1994 และ 1996 ที่อินโดนีเซียเป็นแชมป์ และ 2010 เกาหลีคว้าแชมป์ ส่วนยุโรปกลับไม่เคยเป็นแชมป์ถ้วยนี้เลย...แปลกจริงๆ
 
โอลิมปิก 2016 ถือว่ายุโรปทำผลงานได้ดีขึ้นกว่า 4 ปีก่อน
ในประเภทชายเดี่ยว พวกเขาเป็นมือวาง 4 คนและทั้ง 4 คนก็พาเหรดเข้ารอบ 16 คน ก่อนจะตกรอบ 1 คนคือ Scott Evans ที่พ่าย Viktor Axelsen หนุ่มเดนมาร์ค ที่ก้าวไปคว้าเหรียญทองแดง ขณะที่  Rajiv Ouseph จากอังกฤษ โชว์ฟอร์มหรู ชนะ Tommy Sugiarto มาแบบหักปากกาเซียน แถมส่งผลให้นักแบดอินโดฯสูญพันธุ์ตั้งแต่รอบ 2 แม้ไม่มีเหรียญทอง แต่ Viktor Axelsen ที่ได้เหรียญทองแดงโดยชนะ Lin Dan อดีตแชมป์ 2 สมัยก็ถือว่าทำได้ดี

หญิงเดี่ยวยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะ Carolina Marín ครองบัลลังค์มือ 1 โลกและคว้าเหรียญทองมาได้แบบสมศักดิ์ศรี ที่น่าสนใจของหญิงเดี่ยวก็คือ นอกจาก 2 มือวาง คือ Carolina Marín กับ Linda Zechiri จากบัลแกเรียแล้ว Marija Ulitina จากยูเครน ก็สร้างเซอร์ไพรซ์เมื่อเอาชนะ Saina Nehwal มือ 5 ของรายการมาได้ ทำให้สาวอินเดีย เจ้าของเหรียญทองแดงเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นมือวางคนเดียวที่ตกรอบแรก แม้ตั้งแต่รอบ 8 คนจะเหลือสาวจากยุโรปคนเดียว แต่สุดท้าย Carolina Marín ก็คว้าเหรียญทองมาได้ และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ชาวเอเชียที่คว้าเหรียญทองประเภทนี้
 
 

ประเภทคู่เป็น"เรื่องเก่ง"ของทีมยุโรป
ในประเภทชายคู่ เริ่มตั้งแต่ Vladimir Ivanov / Ivan Sozonov จากรัสเซีย สร้างผลงานดีตั้งแต่ชนะ Lee Yong-dae / Yoo Yeon-seong ในรอบแรก ขณะที่คู่จากอังกฤษ  Marcus Ellis / Chris Langridge ก็ถีบคู่ Mathias Boe / Carsten Mogensen จากเดนมาร์คตกรอบแรก แถมสร้างผลงานในรอบ Quarter-finals ได้ดีเกินคาด เมื่อเอาชนะ Hiroyuki Endo / Kenichi Hayakawa อีกคู่ตัวเก็งจากญี่ปุ่น ก่อนจะคว้าเหรียญทองแดงโดยชนะ Chai Biao /  Hong Wei จากจีน ส่วนหญิงคู่ Eefje Muskens / Selena Piek จากเนเธอร์แลนด์ มีชัยเหนือคู่จากไทยและอินเดียเข้ารอบ Quarter-finals ก่อนไปพ่าย  Jung Kyung-eun / Shin Seung-chan สาวเกาหลีที่ไปคว้าเหรียญทองแดง ขณะที่ Christinna Pedersen / Kamilla Rytter Juhl ก็เล่นได้ตามมาตรฐาน โดยผ่านเข้ารอบ Quarter-finals และชนะ Chang Ye-na / Lee So-hee จากเกาหลี ก่อนชนะ Tang Yuanting / Yu Yang คู่มือ 2 ของรายการจากจีน แต่กลับได้แค่เหรียญเงิน เมื่อพ่าย  Misaki Matsutomo / Ayaka Takahashi คู่มือ 1 โลกจากญี่ปุ่นในรอบชิง แต่ก็ถือว่าทำได้เกินคาดหมาย

สำหรับคู่ผสม Robert Mateusiak / Nadieżda Zięba จากโปแลนด์ ก็ทำผลงานได้ดี ผ่านเข้ารอบ Quarter-finals มาได้ เมื่อเอาชนะ Chris Adcock / Gabrielle Adcock คู่เต็งจากอังกฤษ และ Joachim Fischer Nielsen / Christinna Pedersen คู่มากประสบการณ์จากเดนมาร์ค และเป็นนักแบดยุโรปทีมเดียวที่เข้ามาในรอบนี้ แต่ก็สิ้นสุดแค่นั้น เมื่อพ่าย Chan Peng Soon / Goh Liu Ying จากมาเลเซีย ที่ไปค้วาเหรียญเงินกลับบ้าน

1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง  ถือว่านักแบดยุโรปทำผลงานได้ดี
ทุกวันนี้ แม้"แบดมินตัน"ไม่ได้เป็น"กีฬายอดนิยม"ของชาวยุโรป แต่ยุโรปก็เป็นประเทศที่จัดการแข่งขันแบดมินตันให้สหพันธ์แบดมินตันโลกมากมายหลายทัวร์นาเมนต์ทุกระดับจนถึง World Superseries Premier นอกจากนั้น หลายประเทศในยุโรป ทุกวันนี้ก็มี Badminton League อย่างในอังกฤษ ก็มีทั้ง Manchester Badminton League ที่มุ่งพัฒนาวงการแบดมินตันใน Manchester หรือ AJ Bell National Badminton League ที่ประกาศว่าเป็น professional national badminton league in the UK กระทั่งในเยอรมนี ก็มี Badminton Bundesliga มาหลายปีแล้ว การมีเหรียญรางวัลโอลิมปิก 2016 กลับยุโรปของนักแบดหลายชาติ เป็นสัญญาณว่า"ยุโรป"เริ่มจริงจังกับกีฬานี้มากขึ้น 

(ดอกปีกไก่)
Credit Photo BADMINTON PHOTO