รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก
ตอนที่ 3 ถอดรหัสแบดมินตันโอลิมปิก2016
แบ่งปัน
แล้ว"อินโดนีเซีย"ก็ถือว่ากลับมาให้โลกแบดมินตันพูดถึงอีกครั้ง ในโอลิมปิก 2016
แม้จะได้มาแค่ 1 เหรียญทอง แต่ก็เป็นสัญญาณบอกทั่วโลกว่า"ยักษ์ใหญ่"ของแบดมินตันโลก ที่นอนหลับมานาน ตื่นขึ้นมาแล้ว หลังจากที่เมื่อ 4 ปีก่อน พวกเขาไม่มีเหรียญรางวัลติดมือกลับประเทศ

อินโดฯเป็นอีก 1 ประเทศที่มีนักแบดมินตันได้โควต้าครบทั้ง 5 ประเภท นั่นคือ ชายเดี่ยว  Tommy Sugiarto หญิงเดี่ยว Lindaweni Fanetri ชายคู่ Mohammad Ahsan / Hendra Setiawan  หญิงคู่ Nitya Krishinda Maheswari / Greysia Polii คู่ผสมมี 2 คู่ คือ Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir กับ Praveen Jordan / Debby Susanto 
 
  ความจริงแล้ว อินโดนีเซียไม่เคยขาด"ฮีโร่"แบดมินตัน
ก่อนหน้านี้ โอลิมปิก 6 ครั้ง
อินโดนีเซียได้แชมป์ชายเดี่ยวถึง 2 คน คือ Alan Budikusuma ในการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า และปี 2004 ที่เอเธนส์ เมื่อ Taufik Hidayat สร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอบรุ่นพี่ แถม Sony Dwi Kuncoro ยังได้เหรียญทองแดง หลังเอาชนะ"ซูเปอร์แมน" บุญศักดิ์ พลสนะ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดไทยคนแรกที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ

ทุกวันนี้ สมาคมแบดมินตันอินโดนีเซีย"รู้"ว่าพวกเขาขาดนักแบดประเภทเดี่ยว
ชายเดี่ยว Tommy SUGIARTO อยู่อันดับ 9 Ihsan Maulana MUSTOFA อยู่อันดับ 17 Jonatan CHRISTIE อันดับ 22 และ Sony Dwi KUNCORO อันดับ 25

หญิงเดี่ยว Maria Febe KUSUMASTUTI มือดีที่สุดอยู่อันดับ 15 แต่คนที่ไปโอลิมปิกครั้งนี้คือ Lindaweni FANETRI ซึ่งอยู่อันดับ 34
 
ผลงานในโอลิมปิก 2016 ชายเดี่ยวจึงไม่น่าแปลกใจ เพราะ Tommy Sugiarto เข้ารอบแบ่งกลุ่มมาในฐานะแชมป์กลุ่ม J แต่กลับตกรอบ 16 คน เมื่อแพ้ Rajiv Ouseph หนุ่มเชื้อสายอินเดียของอังกฤษแบบน่าเสียดาย 1-2 เกม 13-21 , 21-14 และ 16-21

ส่วนหญิงเดี่ยวยิ่งน่าผิดหวัง เพราะ Lindaweni Fanetri ตกรอบแรก เมื่อพ่าย  Vũ Thị Trang จากเวียดนามและ  Nozomi Okuhara แบบขาดลอยทั้ง 2 แมทช์
 

ความหวังของกองเชียร์อินโดนีเซียอยู่ที่ประเภทคู่
เริ่มจากชายคู่ Mohammad Ahsan / Hendra Setiawan ซึ่งเป็นคู่มือวางอันดับ 2 ของรายการ แต่สุดท้าย อดีตแชมป์โลก 2 สมัยในปี 2013 และ 2015 และแชมป์เเอเชี่ยนเกมส์ 2014 กลับพลิกล็อคตกรอบแบบไม่น่าเชื่อ เมื่อแพ้  Hiroyuki Endo / Kenichi Hayakawa จากญี่ปุ่น และ Chai Biao / Hong Wei จากจีน โดยชนะเพียงแมทช์เดียวในรอบแรกคือชนะ Manu Attri / B. Sumeeth Reddy จากอินเดีย
 
  ส่วนหญิงคู่ Nitya Krishinda Maheswari / Greysia Polii เจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2014 ถูกวางเป็นมือ 3 และโชว์ฟอร์มได้ดีในรอบแรก ด้วยการชนะ 3 แมทช์รวด คือชนะ Poon Lok Yan / Tse Ying Suet จากฮ่องกง  Heather Olver / Lauren Smith จากสหราชอาณาจักร และ Vivian Hoo Kah Mun / Woon Khe Wei จากมาเลเซีย

ในฐานะแชมป์กลุ่ม C ในรอบ Quarter-finals พวกเขาเจอ Tang Yuanting / Yu Yang มือวางอันดับ 2 จากจีนที่พลิกเข้ารอบมาในฐานะอันดับ 2 กลุ่ม D แต่กลับกลายเป็นสาวจีนงัดฟอร์มเก่งมาสอนเชิงแชมป์เอเชี่ยนเกมส์ 21-11 และ 21-14 เหลือเพียงคู่ผสม ซึ่ง  Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir เป็นมือวางอันดับ 3 ส่วนคู่  Praveen Jordan / Debby Susanto แชมป์ออลอิงแลนด์ปีนี้ ไม่ได้เป็นมือวาง Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir ในฐานะมือวาง โชว์ฟอร์มรอบแบ่งกลุ่มได้ดี และเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่ม C เมื่อคว้าชัยทั้ง 3 แมทช์ เหนือ Robin Middleton / Leanne Choo จากออสเตรเลีย บดินทร์ อิสระ / สาวิตรี อมิตรพ่าย จากไทย และ  Chan Peng Soon / Goh Liu Ying จากมาเลเซีย

ส่วนคู่  Praveen Jordan / Debby Susanto ผ่านรอบแบ่งกลุ่มเข้ามาในฐานะรองแชมป์กลุ่ม A โดยแพ้คู่มือ 1 Zhang Nan / Zhao Yunlei จากจีน แต่เอาชนะ  Lee Chun Hei / Chau Hoi Wah จากฮ่องกงและ Michael Fuchs / Birgit Michels จากเยอรมัน

ในรอบ Quarter-finals เพราะเป็นที่ 1 กลุ่ม C และที่ 2 กลุ่ม A พวกเขาจึงเจอกันเอง และ"รุ่นพี่"ก็ชนะ"รุ่นน้อง"ไม่ยาก 21-16 ,21-11

มาถึงรอบ Semi-finals คู่ของ Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir ต้องเจอคู่มือวางอันดับ 1 และเจ้าของเหรียญทอง 2012 ที่ลอนดอนและ Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir ก็เล่นแบบทีมเวิร์คดีกว่า เอาชนะคู่  Zhang Nan / Zhao Yunlei เข้าไปชิงเหรียญทองกับ Chan Peng Soon / Goh Liu Ying ที่พวกเขาเอาชนะมาแล้วในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งเอาชนะคู่ Xu Chen / Ma Jin เจ้าของเหรียญเงินลอนดอนเกมส์ในรอบรองชนะเลิศ
 
สุดท้าย Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir ก็คว้าเหรียญทองมาครอง เมื่อเอาชนะ Chan Peng Soon / Goh Liu Ying ที่ต้องถือเป็น"จอมพลิกล็อค"แบบไม่ยากนัก 21-14 และ 21-12 ซึ่งแทบจะไม่ต่างจากรอบแรกที่พวกเขาขนะมา 21-15 และ 21-11 เหรียญทองนี่เป็น"ประวัติศาสตร์"หน้าใหม่ที่เขียนขึ้นมา หลังจากวงการแบดอินโดนีเซียเงียบเหงาไปนาน

ขณะที่ Lilyana Natsir ก็ถือเป็นการลบ"ฝันร้าย" เพราะเมื่อปี 2008 ในปักกิ่งเกมส์ เธอจับคู่กับ Nova Widianto เข้าชิงเหรียญทองและแพ้คู่ของ Lee Yong-dae กับ Lee Hyo-jung จากเกาหลี
 

เหรียญทองของ Tontowi Ahmad / Liliyana Natsir เป็นสัญญาณ"ปลุก"วงการแบดมินตันอินโดนีเซีย แต่ภารกิจที่มากกว่านั้นก็คือ อินโดนีเซียถึงเวลาที่จะต้องสร้าง"รุ่นใหม่"ขึ้นมาทดแทนนักแบดรุ่นปัจจุบัน เพราะ Liliyana Natsir ก็อาจจะถึงเวลาลงจากเวทีในวัย 31 หรือ Hendra Setiawan ในวัย 32 เช่นเดียวกับหลายๆคน ที่อาจจะไม่พร้อมที่จะเล่นโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้าที่โตเกียว

ซีเกมส์ 2017 เอเชียนเกมส์ 2018 อาจจะเป็น"จุดเริ่มต้น"ของ"โฉมใหม่"วงการแบดอินโดนีเซีย โดยมี"เหรียญทอง" จากโอลิมปิก 2016 ที่ริโอนี่แหละคือเชื้อเพลิงที่จุดประกายการกลับเตรียมมาผงาดวงการแบดมินตันโลกของ"ยักษ์หลับ"

(ดอกปีกไก่)
Credit Photo BWF / Badmintonphoto