รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
แบดมินตันโอลิมปิก
แบดมินตันโอลิมปิกไทยไร้เหรียญ..ปัญหาอยู่ที่สมาคม
แบ่งปัน
แล้วกองเชียร์แบดมินตันไทยก็"อกหัก"ครั้งใหญ่ในศึกริโอเกมส์ โอลิมปิก 2016 
 

เป็นความผิดหวังที่หลายคนไม่อยากเชื่อ เมื่อ"เมย์" รัชนก อินทนนท์ อดีตมือ 1 ของโลก อดีตแชมป์เอเชีย และหนึ่งในตัวเต็งเหรียญทอง แถมเป็นความหวังหนึ่งเดียวของไทย ต้องตกรอบ 16 คนแบบไม่เหลือฟอร์มเก่ง เมื่อพ่าย อากาเนะ ยามากูจิ 19-21 และ 16-21 ซึ่งถือว่า"แพ้ง่ายเกินไป" สำหรับฝีมือระดับ"เมย์" ป่วยการที่จะรื้อฟื้นเพื่อหาคนรับผิดชอบ หากแต่ต้องมองไปข้างหน้า และใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน นำความผิดพลาดมาศึกษา
การพ่ายแพ้และความผิดหวังของทีมแบดมินตันไทยในโอลิมปิกครั้งนี้ กล่าวได้ว่า"สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์" ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีเพียงทีมแบดมินตันไทยทีมเดียวในโลก ที่มีนักแบดไปแข่งขันหลายคนหลายประเภท (ยกเว้นชายคู่) แต่กลายเป็นก่อนเดินทางไปแข่ง นักแบดมินตันไทยแต่ละคน"แยกกันซ้อม"ตามความต้องการของแต่ละคน คนหนึ่งซ้อมอยู่ที่เขาใหญ่ คนหนึ่งซ้อมอยู่กรุงเทพฯ คนหนึ่งซ้อมอยู่ที่ฝั่งธน ฯลฯ

รายการ Badminton Unlimited  ของสหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ บีดับบลิวเอฟ ที่เผยแพร่ทั้งทีวีและยูทูป นำไปชมการเก็บตัวของนักแบดหลายชาติ ต่างเห็นถึงการฝึกซ้อมที่เป็น"ทีมเวิร์ค" ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ เดนมาร์ค ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ขนาดนักแบดทีมชาติจีน ก็ยังมี"คนอกหัก" มาช่วยซ้อม ไม่ว่าจะเป็น หวังชิเสียน อดีตมือ 1 โลกหญิงเดี่ยวที่พลาดการไปเล่นโอลิมปิกอีกครั้ง ซุนหยู เป่ายี่ซิน เทียนชิง ฯลฯ ก็มา"ช่วยซ้อม"ให้นักแบดที่จะเดินทางไปแข่งโอลิมปิก และทั้งหมดถ่ายภาพพร้อมกันพร้อมขึ้นแคปชั่น "เราคือทีมชาติจีน" และนักแบดที่ไปแข่งขันหลายคนถ่ายภาพร่วมกับนักแบดที่ไม่ได้ไปร่วมแข่งขัน พร้อมเขียนว่า "พวกเธอน่ะยอดที่สุด ..ขอบคุณมาก"

ต่างจากทีมไทย สมาคมกีฬาแบดฯไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความเป็น"มืออาชีพ" มองในแง่เดียวกัน สมาคมกีฬาของไทยที่ทำงานเป็นมืออาชีพที่ต้องชื่นชมมากที่เห็นก็คือ สมาคมกีฬาวอลเล่ยบอล สมาคมกีฬายกน้ำหนัก และสมาคมกีฬาเทควันโด ที่สามารถผลิตนักกีฬาหน้าใหม่เข้ามาเสริมทีมได้

ต่างจากทีมแบดมินตันไทย ที่ยังแทบจะหานักแบดหน้าใหม่ไม่ได้เลย ในอันดับนักแบดมินตันโลกระดับเยาวชนในปัจจุบัน อันดับ 1 ประเภทชายเดี่ยว คือ"กันตภณ หวังเจริญ" แถมมี "กรกิจ เหล่าตระกูล" อยู่อันดับ 6 และ "พัชรพล นิพรรัมย์" อันดับ 9  ซึ่งน่าสนใจ เพราะทอปเทนเรามีถึง 3 คน ส่วนจีนมีคนเดียวคือ"ซุนเฝ่ยเสียง" อยู่อันดับ 5
ส่วนนักแบดเยาวชนหญิง "พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์" เพิ่งเสียอันดับ 1 ให้ "เฉิน ยู่เฟย" ของจีน แต่อย่าลืมว่า อันดับรองๆมา นักแบดเยาวชนไทยยังมี "ภัทรสุดา ไชยวรรณ" เป็นมือ 11 และ "มนัสนันท์ เลิศหัตถศิลป์" อยู่อันดับ 14
ถามว่าสมาคมกีฬาแบดมี"แผนการ"สำหรับนักแบดเยาวชนรุ่นนี้มากน้อยแค่ไหน

แบดมินตันในโลกนี้ มีหลากหลายแข่งขันทั้งปีตั้งแต่ระดับ จูเนียร์ ฟิวเจอร์ ซีรีส์ , ฟิวเจอร์ ซีรีส์ , อินเตอร์เนชั่นแนล ซีรีส์, กรังด์ปรีซ์, กรังด์ปรีซ์โกลด์ ซูเปอร์ซีรีส์ จนถึงซูเปอร์ซีรีส์พรีเมียร์ นี่เป็น"ระดับ"ที่"มืออาชีพ" จะต้องวางแผนว่าจะส่งนักแบดชุดไหน ระดับฝีมือไหนไปแข่ง ทั้งเพื่อพัฒนาตัวเองและเพื่อสร้างอันดับโลก

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นของไทยก็คือ หลายทัวร์นาเมนต์ สมาคมกีฬาแบดฯไม่ส่งนักกีฬาไปแข่ง แล้วจะเอาคะแนนที่ไหนมาให้มีอันดับโลก หรือไม่ออกไปแข่ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเก่งหรือไม่ นักแบดชายเดี่ยวของไทย ซูเปอร์แมน บุญศักดิ์ พลสนะ ไม่ต้องพูดถึงโอลิมปิกคราวหน้าหรอก แค่ซีเกมส์ปีหน้า สภาพร่างกายในวัย 35 ก็คงไม่เอื้ออำนวยที่จะลงสนามแล้ว ขณะที่มือ 2 อย่าง"ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข" ในโอลิมปิกคราวหน้าก็จะอายุ 30 และไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน สมาคมเตรียมตัวหรือยัง นี่คือ"การบ้าน"ที่สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯต้องคิดและวางแผน

"อย่ารอแต่นักกีฬาได้แชมป์กลับมาแล้วไปถ่ายภาพด้วย เพราะเรื่องแบบนี้ เราไม่เคยเห็นเกิดขึ้นกับทีมแบดมินตันจีน อินโดนีเซีย เกาหลี หรือญี่ปุ่น" (ดอกปีกไก่)