รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
Dubai World 2017
Superseries Finals..เราอ่อนลงหรือเขาเก่งขึ้น
  18 ธ.ค. 2560
แบ่งปัน



ผ่านไปแล้วสำหรับศึก Dubai World Superseries Finals 2017 และเป็นอีกครั้งที่น่าเสียดายที่ไม่มีนักแบดมินตันไทยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ
 
  นี่เป็นครั้งที่ 10 สำหรับ BWF World Superseries Finals และไทยยังไม่เคยมีนักกีฬาคนไหนได้แชมป์ ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่จะต้องมานั่งทบทวนและศึกษาอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในช่วงหลังๆ นักแบดมินตันไทยมีเพียง”เมย์”รัชนก อินทนนท์ เท่านั้นที่ติดอันดับเข้าไปชิงชัยรอบสุดท้าย

ศึกษาและทบทวนอย่างจริงจังว่าเรา”เก่งจริง”หรือไม่ เพราะนักแบดมินตันจากชาติที่เรามองว่าเราเหนือกว่า อย่างอังกฤษ หรือฮ่องกง ก็ยังเคยมีนักกีฬาคว้าแชมป์รายการนี้มาแล้ว ขณะที่การแข่งขันที่จบลงเมื่อวาน(17ธ.ค.) นักกีฬา(ค่อนข้าง)โนเนมอย่าง Shiho Tanaka - Koharu Yonemoto ก็คว้าแชมป์หญิงคู่

เรามาทบทวนและดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีมแบดมินตันไทย..
 
เริ่มจากครั้งแรกเมื่อปี 2008 ที่เมือง Kota Kinabalu รัฐ Sabah ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไทยมีนักแบดมินตันที่สามารถทำผลงานติดอันดับไปร่วมแข่งขัน 2 ประเภทคือหญิงคู่ ได้แก่ กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล กับ ดวงอนงค์ อรุณเกสร และประเภทคู่ผสม สุดเขต ประภากมล กับ สราลีย์ ทุ่งทองคำ และน่าดีใจ ที่ครั้งแรก คู่ของ”นินจาเต่า-หมวดส้ม” สามารถผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศประเภทคู่ผสม  

ปีถัดมา 2009 ซึ่งยังคงจัดที่มาเลเซีย โดยเลือก Johor Bahru เป็นที่จัดการแข่งขัน คราวนี้”ซูเปอร์แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ ผ่านเข้ามาในประเภทชายเดี่ยว ขณะที่หญิงเดี่ยวมีถึง 2 คนคือ พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข และสลักจิต พลสนะ และหญิงคู่กับคู่ผสม ทั้ง กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล - ดวงอนงค์ อรุณเกสร และ สุดเขต ประภากมล - สราลีย์ ทุ่งทองคำ ก็ผ่านเข้ามา โดยขาดเพียงประเภทชายคู่ 

และเป็นหญิงคู่ไทย คือ”โอ๋-หญิง” โชว์ผลงานผ่านมาถึงรอบรองชนะเลิศ และพ่าย Chin Eei Hui - Wong Pei Tty นักแบดมินตันหญิงคู่เจ้าภาพที่คว้าแชมป์ในปีนั้น
 
  ครั้งที่ 3 ในปี 2010 ที่ย้ายไปแข่งขันที่ไต้หวัน คราวนี้”ซูเปอร์แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ ยังคงผ่านเข้ามา เช่นเดียวกับ”มิ้ง” สลักจิต พลสนะ ในประเภทหญิงเดี่ยว รวมทั้งหญิงคู่กับคู่ผสม คือ กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล - ดวงอนงค์ อรุณเกสร และ สุดเขต ประภากมล - สราลีย์ ทุ่งทองคำ แถมคู่ผสมอีกคู่ คือ ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ – กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล ก็ผ่านเข้ามา

การแข่งขันครั้งนี้”นินจาเต่า-หมวดส้ม” สร้างผลงานดี ได้เข้าชิงชนะเลิศ หลังชนะ “ดั๊ก-โอ๋” ในรอบรอง ก่อนจะพ่าย Zhang Nan - Zhao Yunlei ในรอบชิง ส่วน”ซูเปอร์แมน” เข้ามาในรอบรองชนะเลิศและแพ้ Lee Chong Wei ที่ได้แชมป์ชายเดี่ยวสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
 
ปี 2011 ศึก Superseries Finals ย้ายไปจัดที่ Liuzhou ในประเทศจีน โดยปีนี้ นักแบดมินตันไทยผ่านเข้ามาร่วมแข่งขันได้เพียงคู่ผสม คือ สุดเขต ประภากมล - สราลีย์ ทุ่งทองคำ แต่ไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่ม และเป็นปีที่”จีน”ประกาศศักดา ได้แชมป์ 4 ประเภท ยกเว้นชายคู่ ที่แชมป์เป็น Mathias Boe - Carsten Mogensen ที่ป้องกันแชมป์จากปี 2010 ได้อีกครั้ง  

ครั้งที่ 5 ในปี 2012 จีนยังคงเป็นเจ้าภาพ และย้ายไปแข่งขันที่ Shenzhen และ”เมย์”รัชนก อินทนนท์ ที่คว้าแชมป์เยาวชนโลกมา 3  สมัย ก็ปรากฏตัวในเวทีนี้เป็นครั้งแรก พร้อมกับ”ซูเปอร์แมน” ในประเภทชายเดี่ยว กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล - ดวงอนงค์ อรุณเกสร ในประเภทหญิงคู่ และคู่หูนรกแต่”เอ-อาร์ท” มณีพงศ์ จงจิตร – บดินทร์ อิสระ ก็ได้สิทธิ์เข้าร่วมในประเภทชายคู่ พร้อมคู่ผสม”นินจาเต่า-หมวดส้ม” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นักแบดมินตันไทยสามารถสร้างผลงานไปร่วมได้ครบทั้ง 5 ประเภท

ผลงานของนักกีฬาไทยปีนั้น เข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ 2 ประเภท คือหญิงเดี่ยว เมย์ รัชนก ที่แพ้ Wang Shixian ในรอบรอง และคู่ผสม”หมดส้ม-นินจาเต่า” แพ้ Joachim Fischer Nielsen - Christinna Pedersen ที่ได้แชมป์โดยชนะขวัญใจเจ้าภาพ Zhang Nan - Zhao Yunlei ในรอบชิง
 
  ถ้าใครยังจำได้ ในรอบแรกปี 2012 เมื่อเมย์ รัชนก ชนะ Juliane Schenk ในรอบแบ่งกลุ่ม หลังการแข่งขัน ตำนานนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวของเยอรมัน ให้สัมภาษณ์ว่า”รัชนกเก่งพอที่จะเป็นแชมป์โลก” และในปีถัดมา เมย์ก็คว้าแชมป์โลกได้ที่ประเทศจีนได้ตามการคาดการณ์ของ Juliane Schenk

ถัดมาปี 2013 ที่การแข่งขันย้ายกลับไปที่ Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย คราวนี้ นักแบดมินตันไทยได้สิทธิ์เข้าร่วมถึง 4 ประเภท โดยชายเดี่ยวคือ ซูเปอร์แมน หญิงเดี่ยว พีซ พรทิพย์ หญิงคู่ หญิง-โอ๋ ดวงองนค์-กุลชลา และคู่ผสม นินจาเต่า-หมวดส้ม แต่น่าเสียดายที่ไม่มีนักแบดมินตันไทยคนไหนผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ
 
จากนั้น ตั้งแต่ปี 2014 – 2017 เป็น”ดูไบ”ชนะการประมูลจากสหพันธ์แบดมินตันโลก(BWF) และเรียกการแข่งขันว่า Dubai World Superseries Finals โดยปีแรก เหลือเพียง เมย์ รัชนก อินทนนท์ ที่ผ่านเข้ามาและไม่สามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่มที่อยู่ร่วมกับ Wang Yihan , Tai Tzu-ying และ Akane Yamaguchi โดยแพ้ทั้ง 2 แมทช์ที่เจอ Tai Tzu-ying และ Akane Yamaguchi ส่วน Wang Yihan ถอนตัวหลังเล่นเกมแรกกับ Akane Yamaguchi โดยได้รับบาดเจ็บขณะแข่งขันกับ Tai Tzu-ying  

ปี 2015 ที่ดูไบ ก็ยังมีเพียง”เมย์”ที่ผ่านเข้ามาเพียงคนเดียว แต่ปีนี้โชว์ฟอร์มดี ผ่านมาถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ Wang Yihan เช่นเดียวกับปี 2016 ที่เมย์เข้ามาเพียงคนเดียวและไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่ม และปีนี้ 2016 ที่ดูไบ ก็ยังคงเป็น”เมย์”รัชนก อินทนนท์ ที่เข้ามาเพียงคนเดียวและเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ

หากจะมีคำปลอบใจให้เสียดายก็คือ การบาดเจ็บของ”ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่ทำให้โควตาคู่ผสมที่ได้ค่อนข้างแน่นอนและหญิงคู่ที่ยังมีโอกาสลุ้น ทำให้พลาดการไปร่วมแข่งขัน ปี 2016 จึงยังมีเพียงหญิงเดี่ยว “เมย์”รัชนก อินทนนท์ เพียงคนเดียวที่ได้สิทธิ์เข้าไปร่วมแข่งขัน
 
  นี่จึงเป็น”คำถาม” ที่แฟนแบดมินตันไทยคงอยากได้”คำตอบ”ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีมแบดมินตันไทย ที่เราเชื่อกันมานานว่า”เก่ง”ไม่แพ้ชาติไหน แต่กลับไม่ได้โควตาไปแข่งขัน โดยเฉพาะ 4 ปีหลังในรายการ Dubai World Superseries Finals ที่เหลือเพียง”เมย์”รัชนก อินทนนท์ เพียงคนเดียว

นี่น่าจะเป็นสัญญาณ”ยกเครื่อง”ระบบการฝึกซ้อมและการส่งนักกีฬาไปแข่งขัน ที่กฎของ BWF ดูจะเป็นใจให้ต้องสร้างผลงานด้วย

(ดอกปีกไก่)

ข่าวดูไบเวิลด์ 2017 อื่นๆ