รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
ลีกแบดมินตันไทย ... ฝันไม่ไกลแต่ (เหตุใด) ไปไม่ถึง
  17 พ.ย. 2559
แบ่งปัน
 


"แบดมินตัน" ทุกวันนี้ เป็น "กีฬายอดนิยม" อันดับต้นๆ ของโลก มีเล่นทุกหนแห่ง เป็นกีฬาที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด แต่อาจจะเป็นเพราะแบดมินตัน มีคำกล่าวว่า "เล่นง่าย แต่เล่นให้เก่งยาก" ทำให้ "แชมป์" ยังกระจุกอยู่ในเอเชีย แม้ล่าสุด ในริโอเกมส์ การแข่งขันแบดมินตันในโอลิมปิก 2016 ที่ Carolina Marin จากสเปนคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว แต่ที่เหลือและเหรียญรางวัลแทบทั้งหมดล้วนอยู่ในฝั่งเอเชีย แต่การมี"เหรียญทอง"ทำให้ภูมิภาคอื่นเริ่มมีศักยภาพแบดมินตัน

ความจริงแล้ว แบดมินตัน เริ่มเป็นที่นิยมหลังลอนดอนเกมส์ คือโอลิมปิก 2012
 
   โดยรอบชิงเหรียญทองชายเดี่ยว คือ "สงครามโลก" ศึก "หลินกับลี" คือ LIN Dan กับ LEE Chong Wei ได้รับการบันทึกว่ามีจำนวนผู้ชมทางทีวีทั่วโลกสูงสุด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการขยายตัวกีฬาแบดมินตัน โดยเฉพาะในอังกฤษ ที่เริ่มก่อตั้ง "ลีกแบดมินตัน" ขึ้นมา


การแข่งขันในประเทศในยุโรป หรือ "ลีกแบดมินตัน" แม้อาจจะไม่มี "บิ๊กเนม" แต่ถึงวันนี้ ประเทศที่เป็น "ยักษ์หลับ" อย่างอังกฤษ ก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงประเภทชายคู่ในริโอเกมส์มาได้ หรือแม้แต่คู่ผสมอย่าง Chris ADCOCK กับ Gabrielle ADCOCK ที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 9 ของโลก ก็เกิดขึ้นมาหลังมีลีกแบดมินตันในอังกฤษ ก่อนที่ทั้งคู่จะ "พักรบ" แล้ว "พบรัก" จนแต่งงานกันในปัจจุบัน
 
แน่นอนว่า "ลีกแบดมินตัน" ใหญ่ๆ อยู่ในเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น มาเลเซียและอินเดีย

อย่างลีกแบดมินตันจีน กล่าวได้ว่าเป็นที่ "ชุมนุมเจ้ายุทธจักร" โดยหลายทีมได้ว่าจ้างนักแบดดีไปร่วมทีม เช่น เมย์ รัชนก อินทนนท์ ที่ไปเล่นให้ "ซิงเต่า" อยู่ 2 ปี 
 
 

ขณะที่ "มาเลเซีย" ก็สร้างลีกขึ้นมาจนสร้างนักแบดมินตันประเภทคู่มากมาย เช่น Peng Soon CHAN กับ Liu Ying GOH ในประเภทคู่ผสม หรือ V Shem GOH กับ Wee Kiong TAN ชายคู่ที่ขึ้นมาเป็นมือ 1 ของโลก โดยทั้ง 2 คู่ที่ว่านี้ สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิก 2016 มาแล้ว

แม้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่ลีกแบดมินตันมาเลเซีย หรือ Purple League ก็ถูกจับตามองว่าจะดึงนักแบด"บิ๊กเนม"มาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เป็นการเริ่มเพื่อให้โอกาสนักแบดมาเลเซีย จึงไม่มีบิ้กเนมถูกซื้อตัวมาเล่นมากเท่าที่ควรแต่ก็มีนักแบดไทยหลายคนที่ถูกซื้อตัวไปร่วมทีม

ขณะที่ญี่ปุ่น ก็เป็นประเทศที่มีลีกแบดมินตันมานานแล้ว และวันนี้ ญี่ปุ่นก็ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกแบดมินตัน
 

 ล่าสุด อินเดียเตรียมตัวในการเริ่มต้นลีกแบดมินตันในปี 2017 แล้ว


โดยลีกแบดมินตันอินเดีย หรือ Premier Badminton League ที่จะแข่งขันในวันที่ 1-14 มกราคม 2017 เพิ่ง "เปิดตัว" นักกีฬา ที่ใช้ระบบ "ประมูลตัวผู้เล่น"
 

โดยไม่นับผู้เล่นชาวอินเดียที่ถือว่าเป็นนักแบด "บิ๊กเนม" เช่น Saina Nehwal หรือ PV Sindhu แล้ว ซีซั่นนี้ จะเป็น "ซีซั่นใหญ่" ของ Premier Badminton League เพราะมีการเปิดเผยชื่อนักแบดที่ถูกประมูลซื้อตัวมาร่วมทีมแล้ว โดยนักแบดที่ได้รับค่าจ้างสูงสุดในการประมูลครั้งนี้ คือ Carolina Marin ที่สโมสร Hyderabad Hunters ประมูลมาร่วมทีมในราคา 93,615 เหรียญ หรือกว่า 3.2 ล้านบาท รองมาเป็น Sung Ji Hyun จากเกาหลี ที่สโมสร Mumbai Rockets ประมูลมาในราคา 90,347 เหรียญ หรือกว่า 3.1 ล้านบาท

 ขณะที่นักแบดชาย ค่าจ้างในการประมูลสูงสุดคือ Jan O Jorgensen ที่ Delhi Acers ประมูลซื้อตัวไปในราคา 88,841 ดอลลาร์ หรือ 3 ล้านบาท เหนือกว่า Viktor Axelsen เพื่อนร่วมชาติที่ได้เหรียญโอลิมปิก หรือ Son Won Ho จากเกาหลี

การมี "บิ๊กเนม" มาร่วมแข่งขันใน Premier Badminton League 2017 น่าจะ "ปลุก" กระแสแบดมินตันในอินเดียอีกครั้ง

มาถึงเมืองไทย ... หรือแบดมินตันลีกจะเป็นแค่ "ความฝัน" หรือป่าว

ความจริงแล้ว แบดมินตันในเมืองไทยเป็นที่รู้กันในวงการแบดมินตันว่ามีจำนวนสโมสรไม่น้อย ที่รู้จักกันดีก็มีทั้ง บ้านทองหยอด แกรนนูลาร์ เอสซีจี ทีไทยแลนด์ ฯ แต่ต้องตั้งคำถามว่า "ทำไม" การแข่งขันลีกแบดมินตันในเมืองไทยเกิดขึ้นแล้วก็หายเงียบไป ทั้งๆ ที่พูดกันมาหลายครั้งหลายหน  การไม่มีลีกแข่งขัน ทำให้นักแบดมินตันไทยที่มีฝีมือไม่แพ้ใครในโลก เมื่อออกไปแข่งขันจึงมักจะพ่ายแพ้ ทั้งๆที่ฝีมือไม่แพ้ แต่เป็นเพราะไม่มีประสบการณ์แข่งขัน ซึ่งต่างกับนักแบดต่างชาติที่มีโปรแกรมแข่งขันมากมายในลีกหรือการแข่งขันอื่นๆ ขณะที่เมืองไทย ดูจะมีเพียง"แบดมินตันชิงแชมป์ประเทศไทย" เท่านั้นที่นักแบดไทยได้ลงสนาม จนนักแบดไทยไม่น้อยกลายเป็น"สิงห์สนามซ้อม" และเมื่อไปแข่งกลับเป็น "หมูสนามจริง"
 
 
 ถ้าจะจัดแบดมินตันลีก ... เมืองไทยทำไม่ยาก
หน้าที่ของสมาคมแบดมินตันฯ ก็คือ หาเวลาและเงินรางวัล ส่วนการกำหนดหรือตั้งกติกาทางสมาคมก็สามารถดูแบบอย่างของต่างประเทศจับมาทำได้ หรือตั้งกติกาแบบไทยๆโดยไม่ต้องมีอะไรซับซ้อนเพื่อให้ลีกไทยได้เดินต่อไปและจะทำให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเชื่อว่ามีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่พร้อมที่จะสนับสนุน โดยเฉพาะสินค้าแบดมินตัน ซึ่งอาจจะเป็น SCG Badminton Thailland หรือ YONEX Badminton Thailland League หรือ  VICTOR Badminton Thailland League หรือกระทั่ง LI-NING  Badminton Thailand League 

รวมทั้งอาจจะหาสปอนเซอร์อื่นๆ เป็นแบดมินตันลีกชิงเงินรางวัลไม่ต้องสูงมาก แต่ที่ต้องทำเพราะการมีลีกคือกลไกของการพัฒนานักกีฬาและยกระดับวงการแบดมินตันของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพราะดูได้จากหลายๆ ประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จแก่นักกีฬาประเทศนั้นๆ

ส่วนแต่ละสโมสร ก็คงหาสปอนเซอร์ไม่ยากอย่าง "เอสซีจี" ก็มี SCG เป็นสปอนเซอร์ "บ้านทองหยอด" ปัจจุบันก็มี "สิงห์" เป็นสปอนเซอร์ หรือ "แกรนนูลาร์" ก็มีสปอนเซอร์ตัวเอง ทีไทยแลนด์ ก็มี 100 PLUS-แอร์เอเชีย เป็นสปอนเซอร์  จะเห็นว่า Badminton Thailland League ไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือลำบากเกินที่จะจัด

หากแต่สามารถ "เริ่มต้น" และเดินต่อไปเรื่อยๆ ได้ด้วย "ก้าวเล็กๆ" ประเภทที่เริ่มนับหนึ่งก่อน  นี่เป็น "ฝันเล็กๆ" ที่เป็น "ฝันไม่ไกล" แต่ไฉน "ไปไม่ถึง" ... สมาคมกีฬาแบดมินตันไทยลองตั้งคำถามและตอบตัวเอง ไม่เริ่มนับวันนี้ จะเริ่มวันไหน

(ดอกปีกไก่)
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ