รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
Olympic 2020 ... การเตรียมตัวของอเมริกา(เหนือ)
  5 ก.ค. 2562
แบ่งปัน



สำหรับ ”แบดมินตัน” ในอดีต ถือว่า ”สหรัฐอเมริกา” เป็นประเทศที่มีนักกีฬาที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมมากมาย เช่นรายการ All England นักกีฬาจากสหรัฐก็เคยเป็นแชมป์มากมายหลายคน หลายประเภท โดย David G. Freeman เป็นนักแบดมินตันชาวอเมริกันคนแรกที่คว้าแชมป์ โดยเป็นแชมป์ชายเดี่ยวในปี 1949 และ Clinton Stephens / Patricia Stephens คว้าแชมป์คู่ผสมในปีเดียวกัน
 
  จากนั้นก็เป็นเวลาของนักกีฬาหญิง เมื่อ Judy Devlin คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวในปี 1954 ต่อด้วย Margaret Varner คว้าแชมป์ 2 ปีซ้อนในปี 1955-56 ก่อนที่ Judy Devlin จะกลับมาคว้าแชมป์อีก 3 สมัยในปี 1957-58 และ 1960 และ Judy Hashman คว้าแชมป์หญิงเดี่ยว 4 ปีซ้อนในปี 1960-64 และเธอเป็นนักกีฬาจากอเมริกาคนสุดท้ายที่ได้แชมป์รายการนี้ คือ 2 ครั้งติดกันในปี 1966-67
 
เพราะหลังจากนั้น เด็กอเมริกันในยุค ”กีฬา” คือ ”ธุรกิจ” ทำให้ความฝันของหนุ่มสาวอเมริกันที่มุ่งชื่อเสียงและความร่ำรวยจากบันเทิงและกีฬาเปลี่ยนไป โดย ”กีฬา” ที่เป็น ”ธุรกิจใหญ่” ทำให้เด็กอเมริกันหันไปเล่นกีฬาที่ทำเงินมหาศาล ทั้งบาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอล เบสบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง มวย เทนนิส ขณะที่ ”แบดมินตัน” เป็นกีฬาที่แทบจะถูกเมิน   
 
  โดยในวงการแบดมินตันยุคใหม่เมื่อ Badminton World Federation หรือ BWF ขึ้นมาแทนที่ International Badminton Federation หรือ IBF ความจริงก็ยังมีนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาทำผลงานได้ดี โดยในปี 2005 ในศึก IBF World Championships นักแบดมินตันชายคู่จากสหรัฐอเมริกา คือ Tony Gunawan / Howard Bach ก็คว้าแชมป์ชายคู่ เมื่อเอาชนะ Jens Eriksen / Martin Hansen คู่ชิงจากเดนมาร์ค 15-9,15-10
 
Tony Gunawan ที่เป็นแชมป์โลกชายคู่ของอเมริกัน เป็นนักกีฬาจากอินโดนีเซียที่ ”โอนสัญชาติ” และดูจะเป็น ”สูตรสำเร็จ” ในเบื้อต้นของหลายชาติทั้งอเมริกา แคนาดา และยุโรปอีกหลายประเทศ ก่อนที่นักกีฬาที่เกิดในสหรัฐอเมริกาจะค่อยๆพัฒนาฝีมือขึ้นมา  
 
  โดยในยุคปัจจุบัน นักแบดมินตันจากสหรัฐอเมริกาที่ทั่วโลกรู้จักดีก็คือ Beiwen ZHANG นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 11 โลกที่เกิดในประเทศจีน และเคยเล่นทีมชาติสิงคโปร์ก่อนที่จะย้ายไปพำนักและกลายเป็นนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกา และเธอคือเป็นความหวังหนึ่งเดียวของสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิก 2020 ที่มีโอกาสคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่ง แม้อาจจะยากเกินไปสำหรับเธอ
 
เพราะนักกีฬาคนอื่น ในประเภทชายเดี่ยว ก็มี Timothy LAM ที่อยู่อันดับ 136 และ Howard SHU อันดับ 159 ของโลก แต่ยังไม่มีผลงาน แต่เมื่อมองว่า Timothy LAM อายุเพิ่ง 21 และเคยเข้าถึงรอบลึกๆรายการระดับเล็กๆ ก็ถือว่าโตเกียว 2020 คือการไปหาประสบการณ์ของเจ้าตัว เพื่อโตขึ้นและพร้อมสำหรับโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส หรือ 2028 ที่ลอส แองเจลีส ในฐานะนักกีฬาเจ้าภาพ  
 
  ส่วนหญิงเดี่ยว Crystal PAN นักกีฬาสาววัย 20 ที่เพิ่งแพ้ “พีซ” พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข ในศึก Canada Open ก็ถือว่านี่คือโอกาสทดสอบฝีมือ เพราะการที่ทวีปอเมริกาเหนือ คือสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จัดการแข่งขันแบดมินตันรายการใหญ่ ก็เป็นเวทีสำคัญให้นักกีฬาเยาวชนได้ลงสนามแข่งขันกับนักกีฬาระดับโลก
 
ในประเภทชายคู่ Phillip CHEW / Ryan CHEW คู่มือ 52 ของโลกก็ถือว่าอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา เพราะได้รับโอกาสเดินทางไปแข่งขันมากมาย และสร้างผลงานในระดับทวีปได้ดี ขณะที่หญิงคู่ แม้ Ariel LEE / Sydney LEE ยังทำผลงานได้ไม่ดี แต่ก็มีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับคู่ผสมอย่าง Howard SHU / Paula Lynn OBANANA  
 
  อีกประเทศในทวีปอเมริกาเหนือที่ถือว่ามีผลงานในกีฬาแบดมินตันดี นั่นคือ แคนาดา ที่มี Michelle LI นักแบดมินตันสาวมือ 14 โลกประเภทหญิงเดี่ยวเป็นตัวชูโรง โดยล่าสุด ทีมชาติแคนาดาทำผลงานเป็นแชมป์กลุ่ม B ในการแข่งขันแบดมินตันทีมผสม ศึก Sudirman Cup 2019 ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
Michelle LI สาวฮ่องกงที่อพยพไปแคนาดาตั้งแต่เด็กคือในปี 1997 เมื่อชาวฮ่องกงไม่มั่นใจ ”อนาคต” เมื่อเกาะฮ่องกงหมดสัญญาเช่าจากอังกฤษต้องกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน  และกล่าวได้ว่าเธอคือ ”เบอร์หนึ่ง” ของวงการแบดมินตันแคนาดา ที่ทำผลงานได้แชมป์ระดับทวีปมากมาย และสร้างชื่อเมื่อคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว Commonwealth Games ในปี 2014 โดยชนะ PV Sindhu ในรอบรองฯและคว้าแชมป์เมื่อชนะ Kirsty Gilmour ในรอบชิงชนะเลิศ  

โอลิมปิก 2020 คงเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอ ก่อนส่งมอบต่อให้ Brittney TAM สาวน้อยวัย 21 ที่ทำผลงานได้ดีในศึก Uber Cup 2018 และ Sudirman Cup 2019
 
  ขณะที่ชายเดี่ยว Jason Anthony HO-SHUE ก็ถือว่ากำลังพัฒนายกระดับฝีมือ โดยนักตบหนุ่มวัย 20 ที่เล่นทั้งเดี่ยวและคู่ ก็สร้างผลงานคว้าแชมป์ระดับทวีปในศึก Pan American Games ในปีนี้  ส่วนหญิงคู่ Rachel HONDERICH / Kristen TSAI ในวัย 23 ทั้งคู่ ก็ทำผลงานคว้าแชมป์หญิงคู่ BRAZIL INTERNATIONAL CHALLENGE 2019
 
ที่น่าสนใจก็คือ “นักกีฬาเยาวชน” ของแคนาดา ถือเป็นนักกีฬารุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เช่น Brian YANG เป็นนักกีฬาเยาวชนชายเดี่ยวมือ 4 ของโลกที่คว้าแชมป์ระดับเยาวชนมาแล้วหลายรายการ เช่นเดียวกับ Talia NG สาวน้อยวัย 17 มือ 15 โลกหญิงเดี่ยว ที่กำลังเป็นที่จับตาของนักกีฬาระดับเยาวชน  
 
  โอลิมปิก 2020 สำหรับ 2 ชาติอเมริกาเหนือ ถือว่าทุกคนยัง ”ห่าง” กับการที่จะคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่ง แต่ในอนาคต นักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็จะเป็นที่ถูกจับตามากขึ้น เพราะทั้งหมดจะถูกส่งไปแข่งขันรายการต่างๆ เพื่อพัฒยายกระดับฝีมือ

โตเกียว 2020 จึงเป็นแค่การเตรียมตัวของอเมริกาเหนือเพื่อโอลิมปิกครั้งต่อไป

Cr. Photo Badminton England, yonexusa, USA Badminton, Badmintonphoto
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ