รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
โอลิมปิก 2020 ..เส้นทางที่ยากลำบากของยุโรป
  28 มิ.ย. 2562
แบ่งปัน



สำหรับการแข่งขันแบดมินตันในกีฬาโอลิมปิก นอกเหนือจากเอเชีย ก็มีนักกีฬาจากยุโรป ที่ประสบความสำเร็จ และที่น่ายินดีก็คือ ผลงานการได้เหรียญรางวัล มาจากนักกีฬาหลายชาติ ไม่มีการผูกขาดเป็นชาติใดชาติหนึ่ง
 
  โดยล่าสุดในโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ ประเทศบราซิล ถือเป็นอีกครั้งที่นักกีฬาจากยุโรปทำผลงานได้ดี โดยได้เหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยวจาก Carolina Marín นักกีฬาสาวจากสเปน เหรียญเงินจาก Christinna Pedersen / Kamilla Rytter Juhl นักแบดมินตันหญิงคู่เดนมาร์ค และเหรียญทองแดงจาก Chris Langridge / Marcus Ellis นักกีฬาชายคู่จากสหราชอาณาจักร


 
สำหรับนักกีฬาจากยุโรปคนแรกที่คว้าเหรียญทอง คือ Poul-Erik Høyer Larsen ประธาน BWF คนปัจจุบัน ที่คว้าเหรียญทองชายเดี่ยวที่แอตแลนตาเมื่อปี 1996 เมื่อเอาชนะ Dong Jiong จากประเทศจีน 15-10,15-12 ในรอบชิงชนะเลิศ  

แต่ ”เหรียญแรก” ของนักแบดมินตันจากยุโรป ก็เกิดขึ้นในการแข่งขันแบดมินตันโอลิมปิกครั้งแรกที่บาร์เซโลน่าในปี 1992 จาก Thomas Stuer-Lauridsen นักแบดมินตันชายเดี่ยวชาวเดนมาร์ค ที่ได้เหรียญรางวัลร่วมกับ Hermawan Susanto จากอินโดนีเซีย เพราะในการแข่งขันครั้งแรก ไม่มีการชิงเหรียญทองแดง โดยให้ผู้แพ้ในรอบรองชนะเลิศได้รับเหรียญทองแดงทั้งคู่
 
  ที่ผ่านมา ผลงานของนักกีฬาจากยุโรปในการแข่งขันแบดมินตันในโอลิมปิก ก็ถือว่าทำผลงานได้ดี โดยนักกีฬาจากเดนมาร์ค ทำผลงานดีที่สุดคือได้มา 8 เหรียญรางวัล โดยมีเพียงปี 2008 ที่ปักกิ่ง ที่นักกีฬาชาตินี้ไม่มีเหรียญรางวัลจากแบดมินตันกลับประเทศ ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่เคยได้มาแล้ว 3 ครั้งในปี 2000 2004 และ 2013 รัสเซียได้ครั้งเดียวในปี 2012 ที่ลอนดอน และสเปนในครั้งล่าสุด รวมทั้ง Mia Audina ที่เคยได้เหรียญเงิน 2 ครั้ง โดยในปี 1996 ในฐานะนักกีฬาจากอินโดนีเซีย และอีกครั้งในปี 2004 ในฐานะนักกีฬาจากเนเธอร์แลนด์


 
จากความสำเร็จที่ผ่านมา จึงมองได้ว่า ปี 2020 ที่โตเกียว นักกีฬาจากประเทศต่างๆในยุโรปน่าจะยังคงสามารถรักษามาตาฐานและคว้าเหรียญรางวัลได้แน่นอน แต่ดูเหมือนความโชคร้ายจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะจาก 2 ตัวเก็งชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว คือ Viktor AXELSEN นักกีฬาชายเดี่ยวจากเดนมาร์ค เจ้าของเหรียญทองแดงครั้งก่อน และเจ้าของแชมป์โลก 2017 ที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อปลายปี 2018 ซึ่งแม้จะไม่หนักมาก แต่ถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่คืนฟอร์มเก่ง  

ขณะที่ Carolina MARIN เจ้าของเหรียญทองครั้งก่อน ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อปลายเดือนมกราคม ซึ่งถึงตอนนี้ แม้สภาพร่างกายเริ่มกลับมา แต่ก็ยังไม่สามารถลงสนามฝึกซ้อมได้ จึงไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าอีกปีเศษ เธอจะกลับมาในสภาพสมบูรณ์ 100% เหมือนครั้งเป็นมือหนึ่งโลก เป็นแชมป์โอลิมปิก และเป็นแชมป์โลกได้หรือไม่
 
  มองไปยังนักกีฬาคนอื่นๆ นอกจาก 2 ตัวเต็งข้างต้น ก็มี  Anders Antonse นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 13 โลกวัย 22 จากเดนมาร์ค ที่สร้างผลงานดีในปีนี้ เมื่อคว้าแชมป์ DAIHATSU INDONESIA MASTERS 2019 โดยเอาชนะ Kento MOMOTA นักกีฬาชายเดี่ยวมือหนึ่งโลกจากญี่ปุ่นในรอบชิง 21-16, 14-21, 21-16 และเป็นรองแชมป์ BARCELONA SPAIN MASTERS 2019 เมื่อแพ้รุ่นพี่ Viktor AXELSEN ในรอบชิง 14-21, 11-21 ส่วนนักกีฬาชายเดี่ยวจากประเทศอื่น ดูจะยังไม่ดีพอที่จะควานหาเหรียญรางวัลในโตเกียว 2020


 
ในประเภทหญิงเดี่ยว แน่นอนว่า Carolina MARIN ยังเป็นนักแบดมินตันจากยุโรปที่มีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลมากที่สุด ขณะที่ 2 สาวจากเดนมาร์ค คือ Line Højmark KJAERSFELDT หญิงเดี่ยวมือ 19 โลก กับ Mia BLICHFELDT หญิงเดี่ยวมือ 20 โลก ก็ยังเร็วเกินไปสำหรับการพัฒนาฝีมือสู้กับนักแบดมินตันระดับโลกในประเภทนี้ในปัจจุบัน   

ส่วน Kirsty GILMOUR นักแบดมินตันสาวเลือดสกอตจากสหราชอาณาจักรที่เป็นมือ 24 โลก และเป็นมือ 3 ในการแข่งขัน European Games 2019 ที่เบลารุส รองจาก 2 สาวเดนมาร์ค ดูเหมือนจะเลยช่วงฟอร์มดีที่สุดของเธอไปแล้ว โดยปีนี้ เธอลงแข่งขันรายการเล็กๆและชิงชนะเลิศ 2 รายการ แต่ก็ได้แค่รองแชมป์ คือ ORLÉANS MASTERS 2019 ที่แพ้ Saena KAWAKAMI สาวร่างเล็กจากญี่ปุ่น 8-21, 21-18, 16-21 และรายการ SPANISH INTERNATIONAL 2019 เมื่อเดือนก่อน ที่แพ้ ”จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ 12-21,15-21
 
  ในประเภทชายคู่ ซึ่งถือว่า ”ยุโรป” ไม่เคยขาดนักกีฬาประเภทนี้ และเป็นประเภทที่มีเหรียญรางวัลมาแล้วคือ Mathias Boe / Carsten Mogensen จากเดนมาร์คในปี 2012 และ Chris Langridge / Marcus Ellis จากสหราชอาณาจักรในปี 2016 แต่ในโอลิมปิก 2020 ดูจะเป็น ”งานยาก” ของนักกีฬายุโรปที่จะผ่านนักกีฬาจากเอเชีย 


 
โดยนักกีฬาที่มีอันดับดีที่สุดของยุโรปคือ Kim ASTRUP / Anders Skaarup RASMUSSEN ชายคู่มือ 8 ของโลกจากเดนมาร์ค แต่ผลงานก็ยังถือว่าไม่ดีพอ โดยปีนี้ยังไม่สามารถเข้าไปชิงชนะเลิศได้เลย ขณะที่คู่ Vladimir IVANOV / Ivan SOZONOV ชายคู่มือ 21 ของโลกจากรัสเซีย ก็ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง โดยแทบจะตกรอบแรกและรอบ 2 ทุกรายการที่ลงแข่งขันในปีนี้  

ส่วนคู่มือ 22 โลกจากอังกฤษ Marcus ELLIS / Chris LANGRIDGE เจ้าของเหรียญทองแดงครั้งก่อน ก็ยังไม่คืนฟอร์มเก่ง โดยปีนี้ได้เข้าชิงชนะเลิศรายการ AZERBAIJAN INTERNATIONAL 2019 แต่แพ้ Mark LAMSFUSS / Marvin SEIDEL จากเยอรมันในรอบชิง 17-21, 21-23
 
  ในประเภทหญิงคู่ การเลิกเล่นของ Christinna Pedersen / Kamilla Rytter Juhl คู่เหรียญเงินครั้งก่อนจากเดนมาร์ค ทำให้ถึงตอนนี้ ยุโรปยังไม่สามารถหานักกีฬาหญิงคู่ระดับโลกได้เลย โดยนักกีฬาที่ดีที่สุดในขณะนี้คือสองพี่น้องจากบัลแกเรีย Gabriela STOEVA / Stefani STOEVA คู่มือ 10 ของโลก ที่เพิ่งคว้าแชมป์ SPANISH INTERNATIONAL 2019 เมื่อกลางเดือน ก็ถือว่าผลงานดีในระดับทัวร์นาเมนต์เล็กๆ แต่เมื่อต้องเจอกับนักกีฬาจากญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลีใต้ ก็ดูเหมือนทั้งคู่จะหาทางสู้ไม่ได้เลย


 
ส่วนคู่มือ 19 โลกคือ Maiken FRUERGAARD / Sara THYGESEN จากเดนมาร์ค ก็ยังเห็นได้ว่าฝีมือยังไม่ดีพอที่จะแข่งขันศึกระดับโลก โดยผลงานปีนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และศึกชิงแชมป์โลกทีมผสม Sudirman 2019 ทั้งคู่ลงสนาม 2 แมทช์ก็แพ้ทั้ง 2 แมทช์กับอังกฤษและอินโดนีเซียในรอบแบ่งกลุ่ม เช่นเดียวกับคู่มือ 23 โลกจากรัสเซีย คือ Ekaterina BOLOTOVA / Alina DAVLETOVA ก็คงต้องมองข้ามสำหรับศึกใหญ่อย่างโอลิมปิก คงไม่สามารถตามรอยรุ่นพี่อย่าง  Valeria Sorokina / Nina Vislova ที่เคยได้เหรียญทองแดงเมื่อปี 2012 ที่ลอนดอน  

ในประเภทคู่ผสม ที่เริ่มจาก Simon Archer / Joanne Goode จากสหราชอาณาจักร ได้เหรียญทองแดงในปี 2000 และนักกีฬาจากยุโรปสร้างชื่อในปี 2004 เมื่อ Nathan Robertson / Gail Emms จากสหราชอาณาจักรคว้าเหรียญเงิน และ Jens Eriksen / Mette Schjoldager จากเดนมาร์คได้เหรียญทองแดง และอีกครั้งในปี 2012 เมื่อ Joachim Fischer Nielsen / Christinna Pedersen สามารถคว้าเหรียญทองแดง
 
  แต่สำหรับโอลิมปิก 2020 ถือเป็นงานยากสำหรับนักกีฬาจากยุโรปในการจะหาเหรียญรางวัลประเภทนี้ ทั้งๆที่คู่ผสมเป็นประเภทที่นักกีฬาจากยุโรปทำผลงานได้ดีมาตลอด โดยในยุคนี้ คู่ที่ดีที่สุดคือ 2 คู่จากอังกฤษ Chris ADCOCK / Gabrielle ADCOCK และ Marcus ELLIS / Lauren SMITH คู่มือ 10 และ 11 ของโลก ก็ถือว่า”ฟอร์มตก”จนไม่มีผลงานดีพอที่จะต่อกรกับนักกีฬาจากเอเชีย
 
ขณะที่ Mathias CHRISTIANSEN / Christinna PEDERSEN คู่มือ 14 ของโลก ก็คงใม่มีอีกแล้วเพราะ Christinna PEDERSEN ตัดสินใจเลิกเล่นไปแล้วในวัย 33 ขณะที่ Mathias CHRISTIANSEN ก็ยังไม่ลงตัวกับคู่ใหม่   

โอลิมปิก 2020 จึงถือเป็นงานยากของนักกีฬาจากยุโรป โดยหากสามารถรักษาความสำเร็จคือ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ก็ถือเป็นความสำเร็จเกินเป้าหมายแล้ว

Cr.Photo : thestar, badmintonplanet
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ