รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
สาระน่ารู้
กำเนิดกีฬาโอลิมปิก
แบ่งปัน
กรีซ คือ ดินแดนที่ให้กำเนิดการแข่งขันกีฬาและกรีฑา เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนจะมีการแข่งกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อ 233 ปีก่อนพุทธกาลที่วิหาร Olympia เพราะชาวกรีกมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อว่า กีฬาเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์ ดังนั้น การศาสนา หรือการศึกษา และวรรณกรรมของกรีกโบราณจึงมีการยกย่องสรรเสริญและชื่นชมผู้ชนะการแข่งขันกีฬายิ่งกว่านักปรัชญาหรือนักการเมืองในสมัยนั้นเสียอีก
       
ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของกีฬาโอลิมปิก นักประวัติศาสตร์ได้อาศัยหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดี ภาพวาด รูปปั้น และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่คนในยุคนั้นเขียนและสร้าง จนกระทั่งรู้วิวัฒนาการกีฬาของกรีกตั้งแต่สมัยกวี Homer จนกระทั่งถึงยุคอาณาจักรโรมันว่า การแข่งกีฬาเริ่มจากการมีพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เวลาเด็กหนุ่มต้องการจุดเทียนบูชาเทพเจ้าในวิหารที่อยู่ไกล เขาจะพากันวิ่งแข่งไปจุดเทียนเป็นคนแรก และเมื่อคนที่ชนะมักเป็นคนที่แข็งแรง ผู้คนจึงคิดว่า นี่คือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นพลังแห่งเทพเจ้า แม้แต่พิธีศพในสมัยโบราณก็มีการแข่งกีฬา เพราะผู้คนเชื่อว่า พลังของผู้เข้าแข่งขันสามารถให้ชีวิตแก่คนที่ตายไปแล้วได้ ประเพณีกีฬาในงานศพนี้ได้มีติดต่อกันจนถึงยุคโรมัน จึงหยุดไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มีปรากฏในวรรณกรรม Aeneid ของ Virgil
       
ในเวลาต่อมานักปรัชญา และนักรบกรีกได้พัฒนากีฬาให้เป็นทั้งกิจกรรมเสริมสุขภาพและเตรียมทหารสำหรับการทำสงครามด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคนกรีกเชื่อว่า กีฬาเป็นกิจกรรมเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนมีร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ ดังนั้น นักเรียนกรีกในสมัยโบราณทุกคนจึงต้องฝึกยิมนาสติก และกรีฑา ซึ่งเป็นวิชาบังคับในการศึกษา อีกทั้งต้องตั้งเป้าหมายว่า เวลาแข่งกีฬา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชัยชนะ
       
วรรณกรรม เรื่อง Iliad ของ Homer ได้กล่าวถึง Archilles ว่าก่อนจะยกทัพบุกกรุง Troy Archilles ได้จัดมหกรรมกีฬาเพื่อคารวะต่อ Patroclus ที่ถูกฆ่าตาย โดยให้ทหารในกองทัพ Mycenae เป็นทั้งคนเล่นและคนดู และกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งนั้น คือ กีฬาแข่งรถศึก ซึ่ง Archilles ได้กำหนดรางวัลสำหรับผู้ชนะเป็นสตรีผู้เลอโฉมและมีฝีมือสูงในงานศิลปะ ส่วนคนที่ได้ตำแหน่งที่สอง จะได้รางวัลเป็นม้าตัวเมียที่ตั้งครรภ์ สำหรับคนที่ได้ที่ 3, 4, 5 รางวัลก็ลดมูลค่าลงตามลำดับ
       
Homer ได้เริ่มบรรยายการแข่งกีฬาครั้งนั้นโดยให้ Nestor กล่าวให้โอวาทแก่บุตร Antilochus ผู้จะเข้าแข่งรถศึกว่า ปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนในทุกขั้นตอน ชัยชนะจะเป็นของคนที่มีแผนชีวิตดีกับใช้สติปัญญาได้ดีเยี่ยม และ Nestor ก็ได้เน้นย้ำให้บุตรชายรู้เทคนิคการบังคับม้าอย่างละเอียด โดยให้จับตาดูทั้งม้าของตนเอง และของคู่ต่อสู้ อีกทั้งสอนเทคนิคการเลี้ยวโค้งและวิเคราะห์เทคนิคบังคับม้าของคู่ต่อสู้ ฯลฯ ถึงจะพร่ำพรรณนาเทคนิควิชาการอย่างละเอียดสักปานใด Nestor ก็ไม่ได้เอ่ยสอนจริยธรรมในการแข่งขันว่า Antilochus ต้องแข่งอย่างยุติธรรม และไม่คดโกงใคร ทั้งนี้เพราะสิ่งที่คนกรีกทุกคนในสมัยนั้นต้องการคือชัยชนะเท่านั้น และความเป็นนักกีฬาไม่มีในระบบความคิดของใครเลย
       
การแข่งรถศึกครั้งนั้นมีผู้เข้าแข่งขัน 5 คน และทุกคนมีหมายเลขที่ได้จากการจับฉลาก เมื่อได้รับสัญญาณให้ออกรถศึก รถทุกคันจะวิ่งไปเป็นระยะทางหนึ่งแล้ววกกลับมาที่จุดตั้งต้นใหม่ ก่อนเริ่มการแข่งขันสนามวิ่งมีบรรยากาศที่เครียดมาก เพราะผู้เข้าแข่งขันทุกคนกลัวแพ้ Antilochus เองก็ยังเอ่ยกับม้าของตนว่า ถ้าเขาแพ้ Nestor จะเชือดคอม้าเจ้าโดยไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย เมื่อม้าถูกขู่เช่นนั้น Homer ก็ได้เขียนบรรยายเสมือนว่าม้ามีความรู้สึก มันจึงควบสุดฝีเท้า และ Antilochus ก็แกล้งบังคับม้าของตนให้วิ่งเสมือนจะพุ่งชนรถม้าศึกคันที่อยู่ข้างหน้า จนคู่ต่อสู้ต้องขยับรถหนี Antilochus จึงชนะ เหตุการณ์นี้ Menelaus แห่ง Lacedaemon ทรงทอดพระเนตรเห็นโดยตลอด จึงตรัสว่า Antilochus แกล้งคู่ต่อสู้ แต่ไม่มีบาป เพราะได้ชัยชนะ และ Homer ก็ได้บรรยายการแข่งรถศึกครั้งนั้นอย่างได้อารมณ์ว่า คนดูซึ่งส่วนมากเป็นทหาร พากันตื่นเต้นและมีการทะเลาะเบาะแว้งกันในระหว่างการดู เมื่อเห็นผู้แข่งขันที่ตนเชียร์กำลังชนะหรือกำลังแพ้
       
สำหรับการแข่งขันรถศึกระหว่าง Eumelus กับ Diomedes นั้น Homer ได้กล่าวถึงผลของการแข่งขันว่า มีเทพเจ้าเข้ามาเป็นผู้กำหนดคนชนะ เพราะเทพ Apollo ซึ่งโปรดปราน Eumelus ได้ทรงบันดาลให้ Diomedes ทำแส่ม้าหลุดจากมือ ทันทีที่เห็นเหตุการณ์เทพ Athena ซึ่งโปรดปราน Diomedes ก็ทรงบันดาลให้แอกเทียมม้าของ Eumelus หัก ทำให้ Eumelus ถูกเหวี่ยงตกจากรถ มีผลให้ Diomedes เป็นผู้ชนะ Homer ใช้เทพนิยายนี้แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า ความศรัทธาและยึดมั่นในเทพเจ้า จะทำให้ประสบความสำเร็จ และคนธรรมดาถึงจะเก่งสักเพียงใด ถ้าเทพไม่โปรดปราน การชนะก็เป็นไปไม่ได้เลย
       
นอกจากการแข่งรถศึกแล้ว วรรณกรรม Iliad ยังกล่าวถึงมวย มวยปล้ำ กรีฑา ยิงธนู และการต่อสู้ด้วยอาวุธด้วย ในกีฬามวยนั้น Achilles ได้ตั้งรางวัลชนะเลิศเป็นล่อ 1 ตัว และรองชนะเลิศเป็นเหยือก 1 ใบ และการแข่งขันครั้งนั้นมีการต่อสู้ระหว่าง Euryalus และ Epeius ซึ่งได้ขู่คู่ต่อสู้ก่อนชกว่า ถ้าถูกเขาต่อยเพียงหมัดเดียวจังๆ ก็ให้เพื่อนๆ ของ Euryalus หามศพไปจัดการได้เลย คำขู่นี้มีส่วนจริง เพราะการต่อยมวยในสมัยนั้น นักมวยจะต่อยเฉพาะที่ศีรษะและใบหน้าเท่านั้น และการชกไม่ใช้น้ำหนักนักมวยเป็นเกณฑ์ในการเลือกคนชกเลย ดังนั้น คนที่ตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยจึงหลีกเลี่ยงกีฬาชนิดนี้ เพราะถ้าขืนขึ้นเวทีเขาก็อาจถูกต่อยชนิดไม่มีกรรมการห้ามจนฟุบตายคาเวทีได้ และในการชกครั้งนั้น Homer ได้บรรยายว่า Epeius ต่อยที่กรามของ Euryalus จนกรามแตกเลือดกบปากและหมดสติไป
       
สำหรับการแข่งขันมวยปล้ำ ซึ่งเป็นกีฬาที่ชาวกรีกนิยมสูงสุด เพราะเป็นกีฬาที่ทดสอบความแข็งแรง ความเร็ว และความชำนาญ และการตัดสินใจ ซึ่งมีจุดประสงค์หลัก คือ ให้คู่ต่อสู้เสียสมดุลล้มลง ชัยชนะจะเป็นของคนที่ทำให้คู่ต่อสู้ล้ม 3 ครั้ง ในการแข่งมวยปล้ำครั้งนั้น Ajax กับ Ulysses ต้องสู้กันนาน เพราะไม่มีใครล้มใครได้ ในที่สุด Achilles จึงตัดสินให้คนทั้งสองเสมอกัน
       
ในการแข่งขันต่อไป คือ การแข่งวิ่งเท้าเปล่า ระหว่าง Ulysses, Ajax และ Antilochus ในการแข่งขันนี้ เทพเจ้าก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยอีก เมื่อ Ajax กำลังวิ่งนำ และ Ulysses กำลังวิ่งตาม Ulysses ได้ทูลขอให้เทพธิดา Athena ช่วย โดยขอยืมปีกของนางมาติดที่เท้าของตน และ Athena ก็ทรงประทานให้ เท่านั้นยังไม่พอเทพธิดา Athena ยังดลบันดาลให้ Ajax เมื่อใกล้จะถึงเส้นชัยล้มคว่ำคะมำไม่เป็นท่าอีกด้วย Ulysses จึงได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นถ้วยเงิน
       
กีฬาต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นกีฬาชนิดสุดท้ายที่ Archilles จัดที่ Troy ให้ Ajax กับ Diomedes ต่อสู้กันด้วยหอก และโล่ คนที่ชนะ คือ คนที่ทำร้ายคู่ต่อสู้ ตามปกติการต่อสู้นี้รุนแรง และจริงจังมากจนคนดูได้ลุกขึ้นห้าม เพราะเกรงนักกีฬาคนหนึ่งคนใดจะเป็นอันตราย ดังนั้น ในเวลาต่อมากีฬาชนิดนี้ได้ถูกยกเลิกไป
       
โอลิมปิคเกมส์ (The Olympic Games)
โอลิมปิคเกมส์ เป็นการแข่งขันกีฬาหลายชนิดจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะมีการแข่งขันกันทุกสี่ปีเวียนไปตามประเทศต่างๆ โดยคณะกรรมการโอลิมปิคสากลหรือ “อินเตอร์เนชั่นแนล โอลิมปิค คอมมิทที่” (International Olympic Committee หรือ IOC) เป็นผู้เลือกประเทศเจ้าภาพ โดยพิจารณาจากบรรดาประเทศสมาชิกที่ขอจัด ตามข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ.ปี 1964 เป็นต้นมา IOC เลือกประเทศตามเกณฑ์กระจายหลักภูมิศาสตร์หรือ “จีโอกราฟฟิค ดิสทริบิวชั่น” (Geographic Distribution) ตัวอย่าง โอลิมปิคส์เกมส์คราวที่แล้วปี 2008 เจ้าภาพคือประเทศจีน ทวีปเอเชีย ปีนี้ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป โอลิมปิคครั้งต่อไปปี 2016 จะเป็นเมือง “ริโอ เด จาเนโร” (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น ประเทศที่ได้รับเลือกถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงทำให้พลเมืองทั้งประเทศนั้นภาคภูมิใจมาก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกโอลิมปิก 197 ประเทศ โอลิมปิค เกมส์ ดั้งเดิมมีเกมส์เดียวและมีการแข่งขันทุก 4 ปี มาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1924 ได้มีการเพิ่มการแข่งขันกีฬาฤดูหนาว ได้แบ่งเป็น 2 เกมส์คือ “ซัมเมอร์ โอลิมปิค” (โอลิมปิคฤดูร้อน) และ “วินเทอร์ โอลิมปิค” (โอลิมปิคฤดูหนาว) แต่ละเกมมีทุกๆ 4 ปี ซึ่งจะมีสลับกันในระหว่าง 2 ปี เท่ากับว่าคุณได้ดูเกมส์ทุก 2 ปี คือ วินเท่อร์ โอลิมปิคเกมส์ครั้งต่อไปเป็นปี 2014 และ ซัมเม่อร์ โอลิมปิคเกมส์ ครั้งต่อไปคือปี 2016 “วินเท่อร์ โอลิมปิค” จะเป็นกีฬาฤดูหนาวเช่น ไอ๊ซ์เสก็ต และสกี และจะจัดขึ้นในประเทศที่มีภูมิประเทศที่เป็นน้ำแข็งหรือหิมะ “วินเท่อร์ โอลิมปิค” ครั้งแรกจัดขึ้นที่เมือง “ซาโมนิกส์” ฝรั่งเศษ “วินเท่อร์ โอลิมปิค” ครั้งที่แล้วปี 2010 จัดที่เมือง “แวนคูเว่อร์” แคนาดา ครั้งต่อไปปี 2014 จะจัดที่เมือง “โซชิ” ประเทศรัสเชีย ประเทศไทยเราได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ในการแข่งขันครั้งที่ 15 ณ กรุงเฮงซิงกิประเทศฟินแลนด์ ปี ค.ศ. 1952 และได้เข้าร่วมแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บ่อเกิดและปัจจุบันของกีฬาโอลิมปิค
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคเกิดขึ้นตั้งแต่ 1,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล ในประเทศกรีซ บนยอดเขาโอลิมปัส แคว้นอิลิส โดยผู้ชมต้องปีนขึ้นไปดูบนยอดเขา (ผู้ชมคงต้องเป็นนักกีฬาด้วยเหมือนกันแฮะ) โดยนักกีฬาต้องเปลือยกายแข่งขันเพื่อประกวดความสมส่วนของร่างกาย (ผู้ชมไม่ต้องเปลือย) นักกีฬาและผู้ชมเป็นผู้ชายเท่านั้น เริ่มแรกมีกีฬาเพียง 5 ประเภทคือ
  • วิ่ง (foot race)
  • กระโดด (jumping)
  • ขว้างจักรและพุ่งแหลน (discus and javelin throws)
  • มวยปล้ำ (wrestling) 
  • แข่งม้า (equestrian events)
ภายหลังสถานที่บนยอดเขาแคบไปจุคนไม่หมด จึงย้ายการแข่งขันลงมาที่เชิงเขาโอลิมปัสแทนประมาณปี 776 ก่อนคริสตกาล และได้ปรับปรุงการแข่งขันใหม่ให้นักกีฬาใส่กางเกง มีการบันทึกการแข่งขันอย่างเป็นทางการ มีจักรพรรดิเป็นองค์ประทาน และอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าดูได้แต่เข้าแข่งไม่ได้ สมัยโน้นนักกีฬาแต่ละคนต้องเล่นกีฬา 5 อย่างคือ วิ่ง กระโดด มวยปล้ำ ขว้างจักรและพุ่งแหลน ผู้ชนะจะได้รางวัลคือ มงกุฎทำด้วยกิ่งไม้มะกอกมาจากยอดเขาโอลิมปัสซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า “ซุส” (Zeus) เรียก “ช่อลอเรล” โดยจักรพรรดิเป็นผู้สวมบนศีรษะให้ และผู้ชนะได้รับเกียรติเดินทางท่องเที่ยวไปทุกรัฐในฐานะตัวแทนของพระเจ้า การแข่งขันนี้ได้จัดขึ้นทุก 4 ปีเรื่อยมาถึง 1,200 ปี โดยจัดที่เดียวมาตลอดคือที่เชิงเขา “โอลิมปัส” แคว้น อิลิส จึงได้เรียกการแข่งขันตามชื่อของสถานที่ว่า “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค” เมื่อถึงกำหนดการแข่งขันโอลิมปิคทุกรัฐจะต้องให้เกียรติหากว่ากำลังทำสงครามกันอยู่จะต้องหยุดพักรบและมาดูนักกีฬาของตนแข่ง หลังจากแข่งขันเสร็จจึงกลับไปทำสงครามกันใหม่ อุดมคตินี้ถึอเป็นหัวใจของกีฬาโอลิมปิคมาถึงปัจจุบัน อาจจะเรียกได้ว่า กีฬาโอลิมปิคเป็นกีฬาสันติภาพ ก็ว่าได้
 
ในปี ค.ศ. 393 จักรพรรดิ “ทีโอดอซิอุส” (Theodosius) แห่งโรมัน เอ็มไพร์ได้ประกาศให้ยกเลิกการแข่งขัน ไม่มีใครรู้แน่ถึงเหตุผลจริงที่ยกเลิก กีฬาโอลิมปิคได้ล้มเลิกไปนานถึง 15 ศตวรรษ ในที่สุดมีนักกีฬาชาวฝรั่งเศสชื่อ “ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง” (Pierre de Coubertin) สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองมาก ได้เกิดความคิดที่จะฟื้นฟูการแข่งขันโอลิมปิค เขาได้ติดต่อบุคคลสำคัญประเทศยักษ์ใหญ่ อังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศส อยู่ 4 ปีในที่สุดสำเร็จและได้เปิดการประชุมในฝรั่งเศสขึ้นโดยมี 15 ประเทศเข้าร่วม และคณะกรรมการได้ตกลงฟื้นฟูการแข่งขันโอลิมปิคชึ้นใหม่ และได้เปิดการแช่งขันโอลิมปิคยุคใหม่ครั้งแรกปี ค.ศ. 1896 ณ.กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ หลังจากนั้นการแข่งขันก็ได้พัฒนาไปอย่างกว้างขวางมีการเพิ่มกีฬาใหม่ๆขึ้นหลายประเภท แต่ก็ยังคงกีฬาหลัก 5 ประเภท วิ่ง กระโดด มวยปล้ำ ขว้างจักรและพุ่งแหลน มาถึงปัจจุบัน ปัจจุบันผู้ชนะไม่ได้มงกุฎทำด้วยกิ่งไม้มะกอกจากยอดเขาโอลิมปัสแล้ว แต่ได้รางวัลเป็นเหรียญทอง เงินและทองแดงตามลำดับ

อุดมคติและความหมายของกีฬาโอลิมปิค
นาย“ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง” ได้นิยามการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกโดยยึดอุดมคติดั้งเดิมของความหมายของกีฬาโอลิมปิคว่า “ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นไม่เลือกผิวพรรณ ศาสนา ลัทธิการปกครอง แต่อย่างใด ความหมายการแข่งขันอิมปิคเพื่อให้นักกีฬาชาติต่าง ๆ ได้มาร่วมชุมนุมกัน ตัวนักกีฬาเปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรีส่งมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมเล่นสนุกสนานด้วยความเห็นอกเห็นใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน อันนำมาซึ่งความสามัคคีและเพื่อสันติภาพของโลก การแพ้หรือชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเข้าร่วม"

สัญลักษณ์ธงโอลิมปิก
 

ธงโอลิมปิกมีผืนธงเป็น พื้นสีขาว เป็นเครื่องหมายห้าห่วงคล้องกันอยู่บนกลางธง มีสีฟ้า เหลือง ดำ เขียวและแดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา คล้องไขว้กันอยู่ตรงกลางสองแถว แถวบน 3 ห่วง แถวล่าง 2 ห่วง ห่วงสีที่คล้องกันอยู่ตรงกลางธง ห้าห่วงหมายถึง 5 ส่วนของโลกที่อยู่ในโอบอ้อมของ “โอลิมปิกนิยม” ไม่ใช่ 5 ทวีปในโลกอย่างที่เข้าใจกัน แต่บังเอิญไปตรงจำนวนกับห้าทวีปนี้ก็เลยอนุโลมกันไปตามนั้น ด้านล่างของห่วงมีคำอยู่ 3 คำ ซึ่งเป็นภาษาโรมัน แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
  • Citius (swifter): ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด
  • Altius (higher): ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด
  • Fortius (stronger): ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด

คบเพลิงโอลิมปิก
ตั้งแต่สมัยกีฬาโอลิมปิคโบราณ ก่อนมีกีฬาโอลิมปิกหลายเดือน จะมีผู้วิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิกจากเขาโอลิมปัสมาสู่พิธีเปิด เพื่อเป็นสัญญาณประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า การเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว พิธีการจุดไฟนั้น จะมีการจุดไฟกองใหญ่ขึ้นบนยอดเขาโอลิมปัสเพื่อให้ความสว่างไสว โดยใช้แว่นรวมแสงอาทิตย์ไปยังเชื้อเพลิง เมื่อติดไฟแล้ว จึงนำตะเกียงต่อเอาไว้ ไฟกองใหญ่จะคงลุกโชติช่วงต่อไปจนตลอดงานฉลอง ส่วนตะเกียงนั้นจะมีการวิ่งถือไปทั่วทุกนครรัฐ ด้วยการส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากนักวิ่ง คนละ 2 ไมล์ หากผ่านทะเลหรือแม่น้ำก็จะลงเรือข้ามฟากโดยไฟไม่ดับไฟนี้ชาวกรีกถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ และความสงบสุขของชาวกรีก ซึ่งพระเจ้าจะทรงพิโรธต่อบุคคลที่ไม่สนใจในกิจการนี้

โอลิมปิกในปัจจุบัน ยังคงรักษาประเพณีเรื่องการจุดไฟไว้ โดยก่อนจะมีการแข่งขันจะมีพิธีจุดไฟ ณ เขาโอลิมปัส ผู้จุดคือ สาวพรหมจารีบริสุทธิ์ เป็นผู้ต่อไฟจากแว่นรวมแสงของดวงอาทิตย์ด้วยคบเพลิง และไฟนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศเจ้าภาพ และมีการวิ่งถือคบเพลิงส่งต่อกันไปจุดที่กระถางใหญ่บริเวณงานในวันแรกของพิธีเปิดการแข่งขัน ไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มจุด ณ ภูเขาโอลิมปัส จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนั้นๆ

พิธีเปิดและพิธีปิด
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นจะจัดให้มีทั้งพิธีเปิดและพิธีปิดใหญ่โตถือเป็นการเปิดปิดอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่จัดพิธีเปิดนั้นจะไม่มีการจัดการแข่งขันกีฬา แต่จะเริ่มต้นด้วยขบวนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน เดินเข้าสู่สนามตามลำดับตัวอักษร นำโดยผู้ถือป้ายชื่อประเทศ ผู้ถือธงชาติ และตามด้วยนักกีฬาของประเทศนั้น ซึ่งขบวนของประเทศเจ้าภาพจะเดินเข้าสู่สนามเป็นลำดับสุดท้าย ตามมาด้วยขบวนแห่ธงโอลิมปิกสากล โดยนายกเทศมนตรีที่เป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดที่ผ่านมาทำพิธีมอบธงโอลิมปิกสากลให้นายกเทศมนตรีเมืองเจ้าภาพปัจจุบัน แล้วจึงนำธงโอลิมปิกสากลขึ้นสู่เสา จึงเริ่มต้นพิธีจุดคบเพลิง ด้วยการวิ่งส่งต่อคบเพลิงไปต่อเนื่อง จนถึงนักกีฬาคนสุดท้ายจึงจะวิ่งนำคบพลิงไปจุดบนกระถางคบเพลิง ประธานในพิธี (โดยปกติ มักเป็นประมุขของประเทศเจ้าภาพ) กล่าวเปิด แล้วปล่อยนกพิราบ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ต่อมานักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตน รวมทั้งผู้ตัดสินก็กล่าวคำปฏิญาณตนเช่นกันว่า “จะตัดสินกีฬาครั้งนี้ด้วยใจเป็นธรรม” และนักกีฬาจึงเดินออกนอกสนาม ปิดท้ายด้วยการแสดงในลักษณะลีลาการเต้นรำ หรือฟ้อนรำ หรือกายบริหาร ซึ่งเป็นการแสดงออกในทางพิธีกรรมถวายแก่เทพเจ้าซุสในสมัยโบราณ และยังเป็นการแสดงออกถึงกิจกรรมทางการกีฬา
 
ในพิธีปิด จะมีการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้าย ซึ่งจะแข่งขันในสนามกีฬาหลัก โดยมากมักจะเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของกีฬาฟุตบอล เมื่อการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้ายเสร็จสิ้น ขบวนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ จะเดินเข้าสนามเพื่อเข้าร่วมพิธีปิด โดยประธานในพิธีกล่าวปิด แล้วไฟในกระถางคบเพลิงก็จะเริ่มดับลง บนป้ายบอกคะแนนจะมีตัวอักษรขึ้นว่า “จนกว่าเราจะพบกันใหม่ ณ เมือง …………”  

กีฬาแบดมินตันในโอลิมปิก
กีฬาแบดมินตันในโอลิมปิก เข้าสู่กีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1972 ที่เมืองมิวนิกประเทศเยอรมนี ในครั้งนั้นยังเป็นกีฬาสาธิตอยู่ แต่ก็ขาดหายไป จนปี 1988 โอลิมปิกที่โซลประเทศเกาหลีใต้ แบดมินตันก็ได้กลับเข้ามาอีกครั้งในฐานะกีฬาสาธิต และถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิกอย่างเต็มตัวในฐานะกีฬาชิงเหรียญทองตั้งแต่ปี 1992 ในโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา

ในทวีปเอเชียนั้น จีนและอินโดนีเซียนั้นเป็นชาติที่ฝีมือมากที่สุด มีนักแบดมินตันที่มีฝีมือระดับโลกมากมาย ส่วนทวีปยุโรปนั้นก็ต้องเป็นเดนมาร์ค]อย่างไรก็ตาม ประเทศจากเอเชียก็สร้างผลงานไว้อย่างน่าชื่นชมในโอลิมปิกปี 1996 ที่แอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเอเชียคว้ามาได้ 14 เหรียญทอง จาก 15 เหรียญทอง

กติกาแบดมินตันโอลิมปิก
คัดเลือกจากชาติต่างๆ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโดยจะพิจารณาจาก Qualify Ranking  จำนวน  172 คน โดยแบ่งเป็น
  • นักกีฬาชาย 86 คนจาก Qualify Ranking 82 คน จากเจ้าภาพ 1 คน และจากการคัดเลือกของกรรมการ 3  คน
  • นักกีฬาหญิง 86 คนจาก Qualify Ranking 82 คน จากเจ้าภาพ 1 คน และจากการคัดเลือกของกรรมการ 3  คน
สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 31 ริโอเดอเจเนโร ประเทศบราซิล 2016 นี้ มีนักกีฬาไทยได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 7 คนแบ่งเป็นนักกีฬาชาย 2  คน นักกีฬาหญิง 5 คน
 
ชายเดี่ยว  : บุญศักดิ์   พลสนะ
หญิงเดี่ยว  : รัชนก   อินทนนท์   และ พรทิพย์   บูรณะประเสริฐ
หญิงคู่   : ทรัพย์สิรี   แต้รัตนชัย กับ  พุทธิตา  ศุภจิระกุล
คู่ผสม   : บดินทร์  อิสสระ กับ  สาวิตรี   อมิตรพ่าย

เจ้าหน้าที่ได้ 3 คน พิจารณาจากจำนวนนักกีฬา 2 คนต่อเจ้าหน้าที่  1 คน
การแข่งขันแบดมินตันในรอบชิงชนะเลิศ จะมีผู้ชนะเลิศเพียง  3 คู่ / คนเท่านั้น เนื่องจาก ต้องมีการแข่งขันเพื่อชิงที่  3  เพียงคนหรือคู่เดียวไม่มีสองคู่/คนเหมือนการแข่งขันรายการอื่น